"ละไว้ในฐานที่เข้าใจ" ภาษาอังกฤษพูดว่า...

ประโยคแรกที่เข้ามาในหัวคือ ✅ “Everyone and their dog knows that.” (โดย everyone and their dog… มันแปลว่า ชาวบ้านชาวช่อง)

แต่มันจะเอาฮาเกินไปครับ 555 กลับมาที่สาระของเราดีกว่า ความจริงวลี "ละไว้ในฐานที่เข้าใจ" ถ้าแปลตรงตัวจะได้ประโยคประมาณ ✅ “That requires no further explanation.” (ไม่จำเป็นต้องอธิบายเพิ่มเติม) ซึ่งก็เป็นประโยคที่ใช้ในบริบทแบบทางการอยู่บ่อย ๆ เลย

อีกประโยคที่ใช้ได้เหมือนกันคือ ✅ “That goes without saying.” ซึ่งก็ค่อนข้างตรงความหมายเลยคือ “ไม่ต้องพูดก็เข้าใจแล้ว” (That goes… = Everyone understands.) และอีกวลีที่ได้ยินบ่อย ๆ เลยคือ ✅ “Needless to say.” (ไม่จำเป็นต้องพูด)

ในภาษาพูดทั่วไปเรามีคำพูดหนึ่งประโยคคือ ✅ “You know the rest.” (ที่เหลือคุณก็พอเดาออกแล้ว) ที่อาจจะไม่ได้ตรงกับความหมาย ละไว้ในฐานที่เข้าใจ แบบ 100 % แต่ในบริบทที่เราคิดว่าอีกฝ่ายน่าจะพอเดาตอนจบหรือข้อสรุปของเรื่องบางอย่างได้ เราก็ไม่ต้องเล่ายาว เกริ่นนิดหน่อยแล้วพูดประโยคนี้ไปเลย

อีกหนึ่งประโยคในภาษาพูดที่อาจจะตรงความหมายกับ “ละไว้ในฐานที่เข้าใจ” มากขึ้นคือ ✅ “I’ll leave it at that.” (ฉันขอพูดทิ้งไว้แค่นั้นละกัน = ที่เหลือคิดเอง) แต่ประโยคที่ผมชอบที่สุด (อาจจะเจอในงานเขียนนิยาย หรือได้ยินในหนัง/ซีรีส์บ่อย ๆ) คือ ✅ “You can fill in the blanks.” (คุณไปเติมคำในช่องว่างเอาเองละกัน = ไปคิดต่อเอาเอง)

และอีกสองประโยคที่ใช้ได้คือ ✅ “You get the idea.” (คุณน่าจะเข้าใจแล้ว = ไม่ขอพูดต่ออีกแล้ว) และ ✅ “It’s pretty self-explanatory.” (เรื่องนี้มันอธิบายตัวเองแล้ว = ไม่ต้องพูดทุกคนก็เข้าใจได้ว่าเป็นอย่างไร)


ในบริบทแบบทางการสุด ๆ เราอาจจะเจอประโยค ✅ “I’ll refrain from stating what’s already understood.” นี่แหละคือประโยคที่ตรงความหมาย (และฟังแล้วเหมือน native) มากที่สุดเลยครับ โดย refrain แปลว่า ละเว้น (ไม่กระทำ) ประโยคนี้จึงแปลประมาณ “ผมขอละเว้นการพูดถึงเรื่องที่กระจ่างแจ้งในตัวเองอยู่แล้ว”

สำหรับสำนวน ✅ “The rest is history.” อาจจะไม่ได้ตรงกับความหมาย ละไว้ในฐานที่เข้าใจ (ในกรณีที่เราใช้ในความหมายด้านลบ แบบจริงจัง) แต่ถ้าใช้ในความหมายด้านบวกหน่อย ประมาณว่า “ก็อย่างที่ได้เห็นกันไป ว่ามาถึงจุดนี้ที่ประสบความสำเร็จได้อย่างไร” ก็ใช้ได้ครับ เช่นเราชนะวิ่งเป็นอันดับหนึ่ง มีคนมาถามว่าคุณทำได้อย่างไร เราก็ตอบไปเลยว่า “I just practiced every day... and the rest is history.“ (ผมก็แค่ฝึกทุกวัน ที่เหลือก็ตามนั้น = จนสำเร็จได้แบบนี้) มันเป็นอารมณ์ขี้เกียจเล่ายาวหรือลง detail เยอะ (อีกนัยหนึ่งคือเรารู้ว่าเขาถามพอเป็นพิธีด้วย)

และอีกสำนวนคือ ✅ “Read between the lines“ (อ่านระหว่างบรรทัด) อันนี้ก็ไม่ใช่การละไว้ในฐานที่เข้าใจครับ แต่มันใช้ได้ในกรณีที่เป็นการตีความหรือพยายามเข้าใจข้อความที่แท้จริงที่อีกฝ่ายกำลังสื่อมา เช่น “Reading between the lines, I’d say she isn’t very fond of him.” (ดูจากคำพูดและอาการต่าง ๆ ผมว่าเธอดูไม่ค่อยชอบเขาสักเท่าไร)

มีอีกหลายสำนวนมากเลยครับที่สามารถใช้ในความหมายนี้ได้ (หรือใกล้เคียง) แต่เดี๋ยวจะเยอะไป ขอจบด้วยอีกประโยคละกันคือ ✅ “I’ll let you connect the dots.” ที่แปลว่า คุณไม่เชื่อมต่อเอาเองละกัน อันนี้คือเป็นการตั้งใจไม่พูดออกมาแต่อยากให้อีกฝ่ายไปสืบหาเอง


สรุปแล้ว “ละไว้ในฐานที่เข้าใจ” แปลได้ตรง ๆ เลยว่า...
📌 “I’ll leave it at that.” (ฉันขอพูดแค่นั้น)
📌 “Needless to say.” (ไม่ต้องพูดก็เข้าใจ)

หรือในบริบททางการอาจบอกว่า...
📌 “That requires no further explanation.” (ไม่จำเป็นต้องอธิบายเพิ่มเติม)
📌 “That goes without saying.” (ละไว้ในฐานที่เข้าใจ)

และในภาษาพูด (แบบธรรมชาติ) จะพูดว่า...
📌 “You can fill in the blanks.” (คุณไปเติมคำในช่องว่างเอาเองละกัน)
📌 “You get the idea.” (แค่นี้คุณก็น่าจะเก็ทแล้ว)

สำนวนที่มีความหมายใกล้เคียง พอใช้ได้...
📌 “The rest is history." (ที่เหลือก็อย่างที่ได้เห็นกัน)
📌 “You can just connect the dots.” (คุณไปสืบเรื่องเชื่อมโยงเอา)

"ไม่จำเป็นต้องรู้หมดทุกอย่างในวันนี้ แค่รู้มากขึ้นกว่าเมื่อวานก็พอ"
Stay tuned!
JGC.
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่