เมนูแนะนำสำหรับคนมีโรค (ประจำตัว)

เมนูแนะนำสำหรับคนมีโรค (ประจำตัว)
 
     ‘You are what you eat’ 🍽️ พี่หมอคิดว่าหลายๆ คนน่าจะเคยได้ยินประโยคสุดคลาสสิกที่มีไว้เพื่อเตือนใจเราๆ ทั้งหลายก่อนที่จะหยิบอาหารเข้าปาก เพราะอย่าลืมว่า อาหารที่เรารับประทานเข้าไปในแต่ละวันนั้นมีส่วนสำคัญต่อสุขภาพ ไม่แพ้การนอนหลับพักผ่อนและการออกกำลังกายเลยทีเดียว 
     เพราะนอกจากจะเป็นแหล่งพลังงานชั้นดีให้กับร่างกายในการทำกิจกรรมต่างๆ แล้ว อาหารยังเปรียบเสมือนยาที่มีส่วนช่วยในการดูแลและเสริมสร้างสุขภาพของเราให้แข็งแรงสมบูรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับคนที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น 👉 โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคไต 
     ซึ่งเดี๋ยววันนี้พี่หมอจะมาไล่เรียงให้ฟังว่าแต่ละโรคต้องดูแลอะไรเป็นพิเศษบ้าง มีอาหารประเภทไหนที่ควรหรือไม่ควรรับประทานสำหรับผู้ป่วย 3 โรคนี้ รวมถึงเมนูแนะนำของแต่ละโรคด้วย 👇
อาหารที่เหมาะกับโรคเบาหวาน
     ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน ควรระมัดระวังเรื่องประเภทของอาหารและควบคุมปริมาณในการรับประทานให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้ร่างกายได้รับน้ำตาลสูงเกินไป โดยควรเน้นไปที่อาหารที่ไม่หวานและช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ได้ เช่น คาร์โบไฮเดรตที่ดีและมีค่า GI (Glycemic Index) ต่ำ อาหารที่มีกากใยสูง ผักสด โปรตีนที่มีคุณภาพ และผลไม้รสไม่หวานจัด 
     ซึ่งหากผู้ป่วยต้องการความหวานก็สามารถใช้น้ำตาลเทียมได้ แต่ต้องระวังไม่ให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินไป หลีกเลี่ยงอาหารประเภทแป้งขัดขาว อาหารที่มีน้ำตาลสูงและมีรสชาติหวานจัด ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน ควรรับประทานอาหารในปริมาณที่เหมาะสมและครบทั้ง 5 หมู่ ที่สำคัญ ไม่ควรงดหรืออดอาหาร เพราะอาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้
 
ประเภทอาหารที่แนะนำ
    ✔️ ข้าวหรือแป้งไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ขนมปังโฮลวีต เส้นหมี่ที่ทำจากข้าวกล้อง และข้าวโอ๊ต 
    ✔️ ธัญพืช เช่น ลูกเดือย งาขาว งาดำ
    ✔️ ผักและผลไม้สด เน้นพวกผักใบเขียว ผลไม้ที่มีรสชาติหวานน้อย เช่น ฝรั่งหรือกล้วยหอมครึ่งลูก กล้วยน้ำว้า 1 ลูก ส้มโอ 2 กลีบ แตงโม 10 ชิ้น  มังคุด 4 ลูก (ต่อมื้อ) โดยแบ่งการรับประทานออกเป็น 2-3 มื้อต่อวัน
    ✔️ ผักประเภทหัว เช่น มันฝรั่ง มันเทศ ฟักทอง แครอท สามารถรับประทานได้ในปริมาณที่จำกัด
    ✔️ โปรตีนและเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เช่น สันในหมู สันในไก่ อกไก่ เนื้อปลา เต้าหู้ ไข่ 
 
ประเภทอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง 
    ❌ น้ำผลไม้ น้ำหวาน น้ำอัดลม ขนมหวาน โดยเฉพาะขนมไทย ไอศกรีม น้ำแข็งไส ข้าวเหนียวมูน นมรสหวาน น้ำผึ้ง
    ❌ ผลไม้รสหวานจัด เช่น ลำไย ขนุน เงาะ ทุเรียน มะม่วงสุก เป็นต้น 
 
👍 เมนูแนะนำ: เช่น ข้าวกล้องกับยำปลาแซลมอน แซนวิชขนมปังโฮลวีตและอกไก่ ข้าวธัญพืชกับหมูสันในย่างซอสมะขาม 
อาหารที่เหมาะกับโรคหัวใจ
     สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ ปริมาณเกลือและชนิดของไขมันมีส่วนสำคัญกับอาการของโรคมาก เพราะจะส่งผลต่อระบบเลือดทั้งระบบ ดังนั้น นอกจากจะต้องหลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม โดยไม่ควรรับประทานเกลือมากกว่า 1 ช้อนชาต่อวันแล้ว ก็ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีคอเลสเตอรอลต่ำและโปรตีนที่มีคุณภาพอย่างพอเหมาะ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์ เนื่องจากจะมีผลต่อระดับคอเลสเตอรอลในเลือด ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้อาการโรคหัวใจแย่ลงได้ 
     แต่หากต้องการรับประทานไขมัน ควรรับประทานไขมันอิ่มตัวน้อยกว่า 6% ของพลังงานที่ได้รับในแต่ละวัน เพื่อลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจ รวมถึงควรปรุงอาหารโดยการต้ม นึ่ง อบ แทนการผัดและทอด
 
ประเภทอาหารที่แนะนำ
    ✔️ ข้าวหรือแป้งไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ข้าวโอ๊ต ขนมปังโฮลวีต
    ✔️ โปรตีนและเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เช่น สันในหมู สันในไก่ อกไก่ เนื้อปลาทะเล เต้าหู้ ไข่ 
    ✔️ ผักและผลไม้สด เน้นพวกผักใบเขียว และผลไม้ที่ไม่หวานจัด
    ✔️ น้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าว น้ำมันคาโนล่า 
 
ประเภทอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง 
    ❌ อาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง เช่น เนื้อแดง เครื่องในสัตว์ ไข่แดง หมูสามชั้น ไข่ปลา
    ❌ อาหารที่มีไขมันทรานส์ เช่น ช็อกโกแลต ขนมอบ คุกกี้ เค้ก ขนมปัง
    ❌ อาหารที่มีรสเค็ม เช่น น้ำซุป ซอลปรุงรสต่างๆ ซอสพริก ซอสมะเขือเทศ ผงชูรส 
    ❌ อาหารแปรรูป เช่น ไส้กรอก เบคอน กุนเชียง แหนม หมูยอ ลูกชิ้น เพราะมีเกลือและไขมันสูง
    ❌ น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว น้ำมันหมู กะทิ 
 
👍 เมนูแนะนำ: ข้าวต้มธัญพืชกุ้ง ข้าวกล้องกับคั่วกลิ้งทูน่าไข่ต้ม สเต็กปลากะพงย่างราดซอสฉู่ฉี่ ไก่ผัดพริกหยวก 
อาหารที่เหมาะกับโรคไต 
     หัวใจสำคัญของการดูแลผู้ป่วยโรคไตก็คือ การจำกัดการรับประทานโซเดียมให้อยู่ในปริมาณที่พอเหมาะ นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคไตยังต้องควบคุมปริมาณสารอาหารอื่นๆ มากกว่าโรคทั่วไปอีก เช่น โปรตีน โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส และแร่ธาตุต่างๆ ตามระยะเวลาของโรคที่เป็น และสำหรับผู้ที่มีอาการไตเสื่อมอยู่ในระยะ 3 เป็นต้นไป การควบคุมอาหารอย่างถูกต้อง จะสามารถช่วยชะลอความเสื่อมของไตได้อีกด้วย  
 
หลักการเลือกอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคไต มีดังนี้ 
    👉 โซเดียม ควรรับประทานเกลือน้อยกว่าหรือเท่ากับ 1 ช้อนชาต่อวัน หรือโซเดียมน้อยกว่า 2,000 มก.ต่อวัน ลดการเติมเครื่องปรุงต่างๆ เช่น น้ำปลา ซีอิ๊วขาว ซอสหอยนางรม เกลือ ผงชูรส ลงไปในอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารสำเร็จรูปทุกชนิด เพราะมีเกลือและไขมันสูง นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานเบเกอรี่และขนมอบ เนื่องจากในอาหารประเภทนี้จะมีการใส่ผงฟูหรือเบกกิ้งโซดาในการทำขนม ซึ่งมีโซเดียมเป็นส่วนประกอบ รวมถึงอาหารแช่แข็ง ของหมักดอง ขนมกรุบกรอบ ซอสพริกและซอสมะเขือเทศ 
    👉 โปรตีน ควรเลือกรับประทานโปรตีนคุณภาพดี เช่น ไข่ขาว เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เช่น เนื้อปลา อกไก่ สันในไก่ สันในหมู ในปริมาณที่เหมาะสมกับระยะของโรค โดยปริมาณโปรตีนที่ผู้ป่วยโรคไตควรได้รับในแต่ละระยะของโรคใน 1 วัน มีดังนี้ 
          - โรคไตระยะ 1-3 A สามารถรับประทานโปรตีนได้ปกติ ในสัดส่วน 1-1.2 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กก.ต่อวัน  
          - โรคไตระยะ 3B-5 และยังไม่ได้ล้างไต ควรเลือกชนิดและควบคุมปริมาณการรับประทานโปรตีน เพื่อไม่ให้ไตทำงานหนักเกินไป โดยปริมาณที่แนะนำคือ ไม่เกินวันละ 0.6-0.8 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กก.ต่อวัน  
          - โรคไตที่มีการล้างไตแล้ว สามารถรับประทานโปรตีนได้ตามปกติ โดยอาจรับประทานได้ถึง 1.3-1.4 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กก.ต่อวัน เพื่อชดเชยโปรตีนที่สูญเสียระหว่างการล้างไต 
 
    👉 ฟอสฟอรัส ผู้ป่วยที่มีโรคไตเสื่อมในระยะ 3 ขึ้นไป จะขับฟอสฟอรัสได้น้อยลง ทำให้มีระดับฟอสฟอรัสในเลือดสูง ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง เช่น นม โยเกิร์ต นมถั่วเหลือง ไข่แดง เครื่องในสัตว์ ปลากรอบ เต้าหู้ ข้าวโอ๊ต ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต และธัญพืชต่างๆ เช่น งาขาว งาดำ เมล็ดฟักทอง รวมถึงถั่วต่างๆ น้ำอัดลม น้ำแร่ ขนมปังและไอศกรีม โดยแนะนำให้รับประทานอาหารที่มีฟอสฟอรัสต่ำ เช่น ข้าวขาว ขนมปังขาว วุ้นเส้น เส้นหมี่ เส้นเล็ก เส้นใหญ่ ไข่ขาว เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน น้ำขิง น้ำมะนาวโซดา ในปริมาณที่เหมาะสม 
    👉 โพแทสเซียม ผู้ป่วยที่มีโรคไตเสื่อมในระยะ 3 ขึ้นไป จะขับโพแทสเซียมได้น้อยลง จึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น บรอกโคลี คะน้า หัวปลี กะหล่ำดอก แครอท ส้ม ทุเรียน แตงโม มะละกอ แก้วมังกร ฝรั่ง ขนุน โดยแนะนำให้รับประทานอาหารที่มีโพแทสเซียมต่ำ เช่น กะหล่ำปลี ยอดมะระ ผักกาดขาว ผักบุ้ง มะเขือยาว เงาะ มังคุด สับปะรด แอปเปิ้ล ในปริมาณที่เหมาะสม 
    👉 ไขมัน แนะนำให้รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยไขมันไม่อิ่มตัว เช่น  น้ำมันรำข้าว น้ำมันคาโนล่า น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันมะกอก เนื้อปลาทะเล หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันหมู น้ำมันมะพร้าว เนย กะทิ เครื่องในสัตว์ หมูสามชั้น
 
👍 เมนูแนะนำ: ข้าวต้มไก่ ไก่ผัดพริกหยวก ต้มข่าเห็ด ยำวุ้นเส้น สเต็กปลากะพงสลัดเปรี้ยวหวาน ผัดยอดมะระหมูสับ ต้มจืดผักกาดขาววุ้นเส้น 
 
คำแนะนำในการเลือกรับประทานอาหารสำหรับผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัว 
     แม้ผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัวจะสามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ แต่ก็ไม่ควรตามใจปากจนเกินไป พี่หมอแนะนำให้ใช้หลักการ Plate Method ซึ่งก็คือ การแบ่งอาหารในจานเป็นส่วนๆ โดยปริมาณครึ่งหนึ่งควรเป็นผักสดและผักสุกหลากสี อีก ¼ ควรเป็นคาร์โบไฮเดรตไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ขนมปังโฮลวีต ส่วนที่เหลือ เป็นโปรตีนคุณภาพดีและไม่ติดมัน เช่น เนื้อปลา สันในหมู สันในไก่ อกไก่ เป็นต้น ส่วนผลไม้ ควรเลือกที่รสไม่หวานจัด เช่น ส้ม ฝรั่ง แอปเปิ้ล แก้วมังกร และผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ 
     การปรุงอาหาร แนะนำให้ปรุงโดยการต้ม นึ่ง ตุ๋น อบ หรือผัด โดยใช้น้ำมันที่ประกอบไปด้วยไขมันไม่อิ่มตัว เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันมะกอก และน้ำมันคาโนล่า หลีกเลี่ยงอาหารที่ผ่านการทอด แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้จริงๆ แนะนำให้ใช้น้ำมันรำข้าวทอดแทนการใช้น้ำมันปาล์ม 
     นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงอาหารแปรรูปทุกชนิด แต่ถ้ามีอาการโหยหรือต้องการกินของจุบจิบระหว่างวัน แนะนำให้รับประทานถั่ว เช่น อัลมอนด์ พิสตาชิโอ เป็นอาหารว่างได้ โดยสามารถรับประทานได้วันละ 1 ฝ่ามือ แต่ให้แบ่งเป็น 1-2  ครั้ง และไม่ควรรับประทานมากกว่านี้ เพราะถึงแม้ว่าถั่วจะมีไขมันดี แต่ก็ให้พลังงานสูง ซึ่งถ้ารับประทานมากไป ก็อาจทำให้อ้วนได้ 
 
นอกจากเรื่องโภชนาการแล้ว ควรดูแลอะไรอีกบ้าง เพื่อร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ 
    ☑️ พลังงานที่ควรได้รับต่อวัน ค่าพลังงานที่ควรได้รับในแต่ละวันอยู่ที่ 25-30 กิโลแคลอรีต่อน้ำหนักตัว 1 กก.ต่อวัน ทั้งนี้ สามารถเปลี่ยนแปลงได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น กิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน อายุ รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ด้วย 
    ☑️ พยายามรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในระดับน้ำหนักในอุดมคติ (Ideal Body Weight) โดยผู้ชายให้นำส่วนสูงลบ 100 ส่วนผู้หญิงให้นำส่วนสูงลบ 105 จะได้น้ำหนักในอุดมคติของแต่ละคน 
    ☑️ ทำจิตใจให้สบาย และนอนหลับให้ได้อย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงต่อวัน 
    ☑️ ดื่มน้ำสะอาดให้ได้อย่างน้อย 8-10 แก้วต่อวัน (สำหรับผู้ป่วยโรคไต แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ที่ดูแลเฉพาะทางอีกครั้ง) 
    ☑️ ออกกำลังกายอย่างพอเหมาะ เช่น เดินเร็ว ว่ายน้ำ ปั่นจักรยานอยู่กับที่ โดยแนะนำให้ออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ 
    ☑️ หากต้องการดื่มกาแฟ สามารถดื่มกาแฟดำไม่ใส่น้ำตาลได้ หรือจะเป็นกาแฟดำใส่นมจืดก็ยังได้ สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงคือกาแฟสำเร็จรูปแบบ 3 in 1 และครีมเทียม รวมถึงหลีกเลี่ยงการบริโภคน้ำตาลและไขมันในปริมาณที่มากเกินไป 
 
     เห็นมั้ยครับว่า การมีโภชนาการที่ดี นอกจากจะช่วยส่งเสริมสุขภาพ ฟื้นฟูร่างกาย ชะลอความเสื่อมของอวัยวะภายในแล้ว ยังช่วยป้องกันไม่ให้อาการของโรครุนแรงขึ้นได้อีกด้วย แต่ในทางกลับกัน ถ้าเราเอาแต่ตามใจปาก รับประทานแต่ของที่ไม่มีประโยชน์และไม่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ อาการของโรคและสุขภาพของเราก็อาจแย่ลงได้เช่นกัน 😋😋😋
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่