ต้นเหตุ​แห่ง​กิเลส​เพราะ​มีจิตใช่​ไหม​?

กระทู้คำถาม
"จิตเป็นใหญ่ กว่าโลกทั้งหมด
จิตน่ะคุ้มครองตัวเรา โลกจะมีขึ้นมาได้
ก็เพราะจิต  แต่ละจิต จิตนั้น...เกิดขึ้นมา
เป็นรูป เป็นร่างขึ้นมา ถ้าจิตไม่มีเสียแล้ว
โลก...ไม่มี  คนของเรา...ไม่มี สัตว์...ก็ไม่มี

แต่มันยากที่จิตมีนะซี คนเราจึงค่อยมี
สัตว์จึงค่อยมี  ที่วุ่นวายอยู่ในโลกเรานี้
ก็เพราะ...จิต ไม่ได้สงบ อบรมจิตไม่ถึง
มันจึงยุ่ง
ถ้าต่างคน ต่างฝึกฝนอบรมจิตของตน
ควบคุมจิตของตนได้แล้วมันจะมีเรื่องอะไร

พระอริยเจ้าแต่ก่อน ท่านอยู่ด้วยกัน
ตั้ง ๔๐๐-๕๐๐ องค์  ก็ไม่มีทะเลาะเบาะแว้ง
ซึ่งกันและกัน คนเราสมัยนี้อยู่ด้วยกัน ๒.คนขึ้นไปก็มีเรื่อง
มากคน ก็มากเรื่อง เพราะไม่มีใครควบคุมจิตของตนได้นะซี

วิธีการควบคุมจิต มีหลายอย่าง
ที่เรียกว่าอบรมกรรมฐาน คืออบรมจิตนั่นเอง
พุทธศาสนาทั้งหมดที่อบรมล้วนแต่กรรมฐานทั้งนั้น ต่างแต่ว่าคณาจารย์ใดชำนิชำนาญทางไหน ก็อบรมทางนั้น...ผลที่สุด ก็คือควบคุมจิตของตน ให้อยู่...ในบังคับนั้นเอง
บางคนก็ยุบหนอพองหนอ
•บางคน ก็สัมมาอรหัง
•บางคน ก็อานาปานสติ  ตามอุบายของตน
ที่ถนัด

แต่เมื่อควบคุมถึงจิต แล้ว...
คำบริกรรมนั้น...หายหมด ยังเหลือแต่จิตอันเดียว ที่เรียกว่า...สมาธิ หรือเอกจิต
สมาธิแปลว่า...จิตเป็นหนึ่ง  ถ้าหากจับตัวนี้
ได้แล้ว ไม่ต้องไปวุ่น กับเรื่องคำบริกรรมอีก
คุมจิตให้เป็นหนึ่ง ลงไปเถอะหมดเรื่องกัน

เดี๋ยวนี้จับจิตไม่อยู่...
เราจึงต้องใช้คำบริกรรม เช่นพุทโธ ๆ ให้มันอยู่กับคำบริกรรมนั้น...
คำบริกรรมเป็นเครื่องล่อให้จิตมาอยู่...ที่นั่น
ให้จิตมันแน่วแน่ อยู่...ในอารมณ์ อันเดียว
เมื่อจิตแน่วแน่อยู่ในอารมณ์อันเดียวแล้ว
คำบริกรรมนั้น...ก็จะลืมไปเอง ถึงไม่ลืมมันก็ให้ทิ้งได้

บางคนเข้าใจว่า...
ลืมคำบริกรรม ๆ หายไปแล้ว ตั้งต้นบริกรรม อีก อันนั้น...ใช้ไม่ได้
คำบริกรรม ต้องการให้จิตรวมเข้าเป็นหนึ่ง
นั้นเอง  เมื่อจิตรวมเป็นหนึ่งแล้ว...
จะไปพัวพันอะไรกับคำบริกรรมนั้นอีก
ถ้าไปบริกรรมอีก  จิต มันก็ถอนละซี

วิธีการอบรมสมาธิ มีหลายอย่าง
ไปคบค้าสมาคมกับครูบาอาจารย์หลายท่านหลายองค์  องค์นั้นว่า...อย่างนั้น  องค์นี้ว่า...
อย่างนี้  ก็เลยลังเลสงสัยไม่ทราบว่าจะเอาอะไรมาเป็นหลัก ท่านชำนาญทางไหน ท่านก็สอนไปตามเรื่องของท่าน ผลที่สุด...
ก็รวมเป็นอันเดียวกัน  คือ รวมให้จิตเป็นหนึ่งเท่านั้น

การที่จิตรวมเป็นหนึ่งนั่นแหละ
คือ...สมถะ บางสำนักท่านเรียกว่า วิปัสสนา
แต่สมถะยังไม่ทันเป็น จะเรียกว่าวิปัสสนาได้อย่างไร  คงจะเป็นวิปัสสนึกหรอก
ไม่ใช่ วิปัสสนา นึกไปคิดไปให้รูปนามเกิด-ดับเฉยๆ  นี่แหละ ท่านผู้คิดเห็นอย่างนั้น..
ยังไม่ทัน รู้จักเรื่องวิปัสสนาเสียด้วยซ้ำ

วิปัสสนาจริงแล้ว...
ไม่ต้องคิดต้องนึก ไม่ต้องปรุงแต่ง มันเป็นเอง
มันเกิดของมันต่างหาก เมื่อมันเกิดแล้ว...
จะต้องชัดแจ้งประจักษ์ ในพระไตรลักษณ์ญาณ ด้วยตัวของตนเองต่างหาก

เหตุนั้น...จึงอย่าพากันสงสัย
เมื่อหมดความสงสัย ในเวลากรรมฐานนั้น
มักถึงความเป็นหนึ่ง หมดสงสัยในขั้นนั้น
อันนั้น...ตอนหนึ่งต่างหาก เพราะไม่คิด ไม่นึก ไม่ปรุง ไม่แต่ง  
จึงหมดสงสัยในขั้นนั้น...แต่ความสงสัยลึกกว่านั้น...ยังมีอยู่ แต่ถึงอย่างไร ก็ขอให้หมดสงสัยไปในขั้นนั้นเสียก่อน
ถึงวิปัสสนา ก็ไม่หมดสงสัย  เป็นขั้นเป็นตอนเหมือนกัน

วิธีอบรมสมถะกรรมฐาน จะอบรมประการใดก็ตาม ได้ทั้งนั้น  ขอแต่ให้จิตรวม...เป็นหนึ่งแล้ว ใช้ได้ทั้งนั้น
แต่ในที่นี้ให้พิจารณาอานาปานสติ คือ...
ลมหายใจเข้า-หายใจออกเป็นอารมณ์ เพราะลมหายใจเข้า-หายใจออก เป็นเครื่องอยู่ของกาย  ถ้าไม่มีลมแล้วคนเราก็ตาย คนเรากลัวตาย ถ้าพิจารณา ลมหายใจเข้า-หายใจออกจริงๆ จังๆ แล้ว...เห็นความตายของตนเอง มันก็รีบทำสมาธิ อย่างเขาว่าภาวนา กันตาย

แต่ก็ยังดีกว่า...ที่จะไม่เห็นความตาย
เพลิดเพลิน อยู่ตลอดเวลา กลัวตายนี่แหละเป็นของสำคัญมาก  อะไรไม่สำคัญเท่ากลัวตายหรอก
เหตุนั้น...จึงให้พิจารณาอานาปานสติ
ลมหายใจเข้า ไม่หายใจออก มันก็ตาย
หายใจออกแล้ว...ไม่หายใจเข้ามันก็ตาย
ให้พิจารณาเห็นความตาย ทุกขณะทุกเวลาดังนี้ จิตมันก็จะสลดสังเวชในสังขารร่างกาย
แล้ว...ก็จะรวมลงไปเป็นอันหนึ่ง เป็นสมาธิภาวนา

แต่จิตนั้นซีมัน...ไม่ตาย
จิตนี้...มันตายไม่เป็นหรอก ไม่มีลม มันก็ไม่ตาย มันไม่อาศัยลมก็เกิดในที่ต่างๆ ได้
เกิดเป็นสิงสาราสัตว์ ไปเป็นเปรต อสุรกาย
มนุษย์ เทพบุตร เทวดา ก็ไม่มีลมทั้งนั้น
ไม่ได้ไปเกิดในที่นั้นๆ เพราะลม
ที่มันเกิดในธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ มันจึงอาศัยลม

จิต ไม่มีตัวมีตน  จิต ไม่มีลมเป็นของรู้สึกเฉยๆ
จิต กับใจมันต่างกัน  จิตเป็นผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุง แต่ง สารพัดอย่าง สัญญาอารมณ์ร้อยแปดพันประการ  ที่ท่านว่ากิเลสพันห้า ตัณหาร้อยแปด
มันก็ออกไปจากจิตนี้เอง
จิต ก็ออกไปจากใจ  จิต นั่นแหละพาไปเกิด ในภพน้อยภพใหญ่

อยากเห็นจิต เห็นใจ
ต่อเมื่อจิตรวมเป็นสมาธิแน่วแน่เต็มที่แล้ว
เข้าถึงอัปปนาเมื่อไร เข้าถึงตัวใจเมื่อนั้น
ถ้ายังไม่ถึงอัปปนาสมาธิ ก็จะเห็นแต่จิต
จิตเป็นผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุง ผู้แต่ง
และสัญญาอารมณ์ทั้งหมดเรียกว่าจิต
จึงต้องรักษาตรงนี้แหละ ควบคุมตรงนี้ไว้
ให้ดี  เมื่อสติ...ไปควบคุมจิตให้อยู่ในอำนาจของตน ในบังคับของตน
จนกระทั่งจะให้คิด ก็ได้  ไม่ให้คิด ก็ได้
ให้มันอยู่...เฉยๆ ก็ได้

จิตมันจะคิดหยาบ หรือละเอียดก็รู้ตัวอยู่...
เป็นบุญเป็นบาปอะไร ก็รู้ตัว  อันนั้นแหละ
เป็นตัวปัญญา  แต่ไม่ใช่ ปัญญาวิปัสสนา
เป็นปัญญาสามัญ นี่แหละ
เราควบคุมจิตให้ได้ มันจึงจะเกิดปัญญา
ใครๆ ก็พูดกันว่า...ปัญญาเกิดจากสมาธิ
แต่มันจะเกิดขึ้น ด้วยอาการอย่างไรย่อมไม่รู้
ไปเอาโน่นแน่ะ สมาธิ ที่ให้เกิดความรู้เห็นโน่น เห็นนี่ แปลกๆ ต่างๆ เช่นเห็นเทพ เห็นภูตผี ปีศาจต่างๆ โน่น เรียกว่า...อภิญญา

อภิญญาถ้าผู้ใดได้แล้ว...นำมาเล่าสู่กันฟัง
ตื่นเต้นดีนัก แต่ไม่เป็นไปเพื่อจะละความชั่ว
ส่วนปัญญาจริงๆ แท้ๆ นั้น...ตัวนี้แหละ ตัวที่เราควบคุมจิตได้ ให้อยู่ในบังคับของตัวเรา
รู้เห็นต่างๆ สารพัดทุกอย่าง  จะคิด ก็ได้
ไม่คิด ก็ได้  ปรุงแต่ง ก็ได้  ไม่ปรุงแต่ง ก็ได้
อันนี้ คือ...ตัวปัญญาธรรมดานี่แหละ เห็นแจ้งประจักษ์ชัดด้วยกันทุกๆ คนแล้ว...ที่จะละได้ด้วย  ถ้าหากผู้นั้น...เห็นโทษด้วยตนจริงๆ

ส่วนปัญญา ที่เราควบคุมไว้ได้
มันอยู่ในขอบเขตของไตรลักษณ์
พิจารณาไป มันก็ลงไตรลักษณ์  สิ่งทั้งปวงหมดอยู่ในขอบเขตของไตรลักษณ์ ทั้งนั้น
คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
เป็นธรรมแล้วคราวนี้...ของในโลกทั้งหมด
มันอยู่ในขอบเขตของไตรลักษณ์
ไม่หนีไปจากไตรลักษณ์ คือ...อนิจจัง

เบื้องต้น...
เราต้องพิจารณา ให้เห็นในตัวของเรานี้
เสียก่อน เราเกิดมาเป็นตนเป็นตัว ทำมาหากินทุกๆ วัน เป็นทุกข์เพราะการหาไม่หยุด
หาไปรับประทานไป หมดไปแล้วหาใหม่อีก
จึงเป็นอนิจจัง เพราะหามาไม่แล้วสักที
ของเหล่านั้น...มิใช่ ของใครทั้งหมด  เป็นแต่เก็บมาบำรุงร่างกาย แล้วก็สลายไปเป็นธาตุ๔ คือดิน น้ำ ไฟ ลม เท่านั้น  มิใช่ สัตว์บุคคล
ของใคร ทั้งสิ้น
เหมือนกับเราเอาขี้ชันมายาเรือรั่วไว้ ฉะนั้น
เรายาไว้ เพื่อ...จะได้ใช้ชั่วคราว เท่านั้น
ความรอบรู้ตรงนี้แหละ เรียกว่า...ปัญญา

เมื่อควบคุมจิตได้แล้ว...มันจะรวมมาเป็นหนึ่ง
เข้าถึงอัปปนาสมาธิ นิ่งแน่วลงสู่...อันหนึ่ง
คือใจ  จิต กับใจมันต่างกันอย่างนี้
รักษาจิตควบคุมจิตได้แล้ว มันจึงค่อยรวมลงมาเป็นใจ
ใจ คือ...ผู้ไม่คิด ไม่นึกมีความรู้สึกในตัว อยู่...
เฉยๆ บางแห่งท่านก็เรียกว่า...“ธาตุรู้”

การปฏิบัติศาสนา สรุปรวมความแล้ว...
ก็มาลงที่ธาตุรู้อันเดียว หมดเพียงแค่นั้น
แต่ความรู้นั้น...แตกต่างออกไปอีก มันพิสดารออกไปอีก ต่างคนต่างรู้ เมื่อลงถึงธาตุรู้แล้ว...
ก็หมดเรื่องภาระปฏิบัติ เพียงแค่นั้น

ครั้นออกจากใจ มาเป็นจิต
คราวนี้...จิต มันควบคุมตัวของมันเองตลอดเวลา ไม่ต้องตั้งใจควบคุม ไปไหนทำอะไร
ต่างๆ สารพัดทุกอย่าง มันควบคุมตัวของมันเอง มันไม่หลงไม่ลืม ไม่เผลอตัว
คราวนี้...ยิ่งมีความรู้กว้างขวางมาก
มองเห็นสิ่งสารพัดทั่วไปหมด ทั้งโลก
ลงเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั้งนั้น

จะปฏิบัติอย่างไรต่อไปอีกละคราวนี้...
ไม่เห็นได้ปฏิบัติอย่างไรอีก ขอให้เป็นอยู่
อย่างนั้นเรื่อยๆ ไปก่อน นานแสนนาน
เป็นปี ๆ ทีเดียว ที่ว่าปฏิบัติไป ก็ไม่เห็นมี
ความรู้อะไรก้าวหน้านั้น...แสดงว่า จิตเสื่อมหรือถอนแล้ว

นักปฏิบัติ ไม่ต้องทะเยอทะยาน
อยากให้เกิดความรู้ต่างๆ ถ้ามันเต็มขั้น
เต็มภูมิ ของมันแล้ว...มันจะเกิดความรู้
ของมันเอง
การปฏิบัติเข้าถึงหลักของพระไตรลักษณ์
ก็ดีอักโขแล้ว...จะเอาอะไรกันอีก
โดยมากปฏิบัติ ได้แต่ฟุ้งซ่าน อยู่ในความวุ่นวายเหล่านี้แหละ แล้วก็เข้าใจว่า...
ตนมีความรู้ ความสามารถ แท้ที่จริงเราเป็นทาษของโทสะ มานะ ทิฐิต่างหาก ไม่รู้กิเลสของตนเองเลย เอวํ.

ลองทำดูคราวนี้...มันจะถูกไหม
ให้พิจารณาอานาปานสติ กำหนดลมหายใจ เข้า-ออก ดู...ที่ลมหายใจเข้า-ออก อยู่...
อย่างนั้นแหละ จนมันนิ่งแน่วเป็นอารมณ์ อันเดียว แล้วพึงกำหนดเอาแต่ผู้รู้...แต่ผู้เดียว

ลมพึงวางเสีย ไม่พึงกำหนดเอา
ก็จะเห็นจิตของตนชัดขึ้นมาว่า...อ๋อ จิตมันอย่างนี้หนอ
สิ่งที่พิจารณานั้น...อย่างหนึ่ง
ผู้ไปพิจารณาอีก...อย่างหนึ่ง
ให้หาตัว ผู้ไปพิจารณาลมหายใจ

อุปมาเหมือนอย่าง เรามองดูพระอาทิตย์
หรือพระจันทร์ เราไม่ได้มองดู...ผู้ดู
ซึ่งเป็นตัวผู้รู้...แต่เราไปมองดูพระอาทิตย์ พระจันทร์ จึงไม่เห็นตัวผู้รู้...
ถ้าเราวางเสียพระอาทิตย์ พระจันทร์แล้ว
หันเข้ามามองผู้รู้...แต่อย่างเดียว ก็จะเห็น
ตัวผู้รู้...ทันที

อีกอย่างหนึ่ง...
ผู้ที่พิจารณาลมหายใจ เข้า-ออก จนรวมลง
ไปแน่วแน่เต็มที่แล้ว...แต่ไม่มีอุบาย ที่จะพิจารณาอะไร พึงอยู่อย่างนั้น...
(อันนี้ว่า เฉพาะผู้ที่เป็นแล้ว) คำว่าใจในที่นี้ หมายถึงความเป็นกลาง

กลางของสิ่งทั้งหลายทั้งปวงหมด
เรียกว่ากลาง ตัวกลางนั้น...คือใจนี้เอง
เมื่อจะชี้ถึงใจของคนแล้ว...
จะต้องชี้เข้าที่ท่ามกลางหน้าอกนี่เอง
แท้จริงแล้ว...ใจ ของคนไม่ได้อยู่ ณ ที่นั้น
มันอยู่ได้ทั่วไปหมด นึกให้มันอยู่ที่ไหน
ได้ทั้งนั้น นึกให้มันอยู่ที่หัว ที่ท่ามกลางอก
ที่แขน ที่ขา หรือที่ปลายเท้า ก็ได้
สุดแท้แต่เราจะนึกให้อยู่ที่ไหน ก็ได้ทั้งนั้น

ให้เข้าถึงใจ รู้จักใจแล้ว...
หากจะรู้จักจิต เพราะใจกับจิตมันอยู่ด้วยกัน
ส่วนพิสดารต่อไปนั้น...มันจะรู้ขึ้นมาเอง
เอาละพอสมควรแล้ว."

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่