ความรู้ภาษาอังกฤษ "สำหรับคนไทย" (Pt. 2)

What's going on, guys?! 

และวันที่ 5 มิถุนาก็เดินทางมาถึง และตามสัญญาครับ มาต่อกับความรู้ภาษาอังกฤษ "สำหรับคนไทย" ในพาร์ทสองเลย มันอาจจะไม่ได้เกี่ยวกับคำศัพท์ แกรมมาร์ หรือการออกเสียงโดยตรงนะ เพราะเรายังมีเรื่องวัฒนธรรม แนวความคิดแบบคนอังกฤษ/อเมริกันที่น่าสนใจด้วย ผมจะพยายามแทรกความรู้เหล่านี้ไว้ไม่ให้บทความเรามันดูวิชาการและน่าเบื่อเกินไป

1) can ใช้บอกความสามารถ เช่น I can swim. / He can dance. แต่สำหรับวลี "can hardly" นั่นก็ใช้บอกความสามารถเหมือนกัน แต่เป็นความสามารถที่แทบจะทำไม่ได้แล้ว เวลาแปลวลีนี้ต้องระวังหน่อย เช่น He can hardly swim. (เขาว่ายน้ำไม่ค่อยไหวแล้ว) หรือ She can hardly sing. (เธอร้องเพลงไม่ค่อยเก่งเท่าไหร่)

2) "Pormanteau" คือคำศัพท์ที่เกิดจากการเอาคำศัพท์สองคำมารวมกัน ตัวอย่างคำที่เราคุ้นเคย เช่น brunch (breakfast + lunch) หรือ Eurasia (Europe + Asia) บางคำพอเอามารวมกันแล้วก็เกิดเป็นคำน่ารัก ๆ เช่น hanger (hungry + anger) ที่ใช้อธิบายอาการโมโหหิวของคุณแฟน หรือ hangxiety (hungry + anxiety) ที่ใช้พูดถึงอาการวิตกกังวลที่เกิดจากความหิว นอกจากนี้ยังมี portmanteau แปลก ๆ ที่ใช้กันแค่ในวงการอีกด้วย เช่น liger (lion + tiger) สัตว์ที่เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ในห้องแล็บ

3) ความแตกต่างทางโครงสร้างประโยค ที่อาจทำให้คนไทยสับสนได้ เช่นวลี Show me something นี้ ถ้าแปลตรงตัวก็คือ "โชว์ฉันบางอย่าง" เราจะยินวลีแบบนี้ในหนังฝรั่งพากย์ไทย เช่น "ฉันต้องการโชว์นายบางอย่าง" (I wanna show you something) แต่หากลองวิเคราะห์ดี ๆ ประโยคนี้ถูกแปลโดยมีกลิ่น 'เนยนม' มากเกินไป (คือแปลตรงกับภาษาอังกฤษเกิน) เราควรปรับให้มันเป็นวิธีการพูดแบบคนไทยหน่อย เช่น "มีอะไรจะโชว์ให้ดู" สังเกตว่าประโยคนี้ละสรรพนาม (ฉัน / นาย) ออกหมดเลย เพราะนี่คือวิธีการพูดแบบไทย เราไม่ค่อย address (ระบุ) ตัวคนพูดหรือผู้ฟังในประโยคสักเท่าไหร่ เก็บไว้เป็นหนึ่งเทคนิคในการแปลละกันนะ

4) ปัญหาหลักที่สุดที่ทำให้ชาวต่างชาติแบบเรา ๆ ฟังภาษาอังกฤษไม่ออกคือ 'วิธีการพูดที่ต่างกัน' มันไม่ใช่เพราะเราหูไม่ดีนะ หลายคนเชื่อเป็นตุเป็นตะว่าฝรั่งหูดีกว่าคนไทย เฮ้ยย ไม่ใช่แบบนั้น ฝรั่งเองก็แยกเสียงวรรณยุกต์ (คา ข่า ข้า ค้า ขา) ของเราไม่ได้เหมือนกัน ต่างคนก็ต่างมีเรื่องที่ตัวเองไม่ถนัด ส่วนเรื่องที่เป็นจุดอ่อนของคนไทยก็คือ "linking sounds" (การเชื่อมเสียงในประโยค) ทั้งประเด็น linking consonant to vowel  (เช่น Get out of here จะอ่าาน ge-tou-to-fhere) และ linking vowel to vowel  (เช่น I see it now จะอ่าน I see(y)it now) เลย ดังนั้นหากอยากฟังภาษาอังกฤษให้คล่องต้องฝึกเรื่องนี้ตั้งแต่เนิ่น ๆ

5) คำศัพท์สำคัญกว่าแกรมมาร์ แต่... ถ้าเราแต่งประโยคไม่คล่อง แต่รู้ศัพท์เยอะแล้ว ก็คงจะใช้ตรรกะนี้ไม่ได้ ประเด็นที่ผมจะบอกคือ อย่าเชื่อผม หลาย ๆ อย่างที่ผมเขียนเกี่ยวกับ 'การฝึกภาษาอังกฤษ' (ที่ไม่ใช่เรื่องสำนวน หรือความรู้แกรมมาร์) มันมาจากประสบการณ์ส่วนตัวล้วน ๆ เลย และผมไม่อยากให้ใครคิดเหมือนผม 100 เปอร์เซนต์ เพราะเราไม่เหมือนกัน ทั้งความรู้พื้นฐานและสภาพแวดล้อม เราต้องเอาวิธีการฝึกและไอเดียของผมไปปรับแต่งให้เข้ากับตัวเองเสมอ

6) "Win the day" เป็นสำนวนแปลว่า ชนะ(การแข่งขัน, การโต้เถียง หรือการต่อสู้) หลัก ๆ ก็คือใช้กับสิ่งที่เราทำแล้วมันประสบความสำเร็จ ตัวอย่างเช่น It was difficult at first, but as we kept on pushing, we finally won the day! (ตอนแรกมันค่อนข้างยากมากเลย แต่พวกเราก็อดทนทำไปเรื่อย ๆ สุดท้ายมันก็สำเร็จ) สำนวนนี้เดาได้ไม่ยากว่ามีเวอร์ชันตรงข้าม (antonym) คือ "Lose the day" ที่แปลว่า ล้มเหลวไม่เป็นท่า (We lost the day, guys. Let's start fresh tomorrow.)

7) "Our boys didn't die in vain" syndrome คืออาการที่คน ๆ หนึ่งชอบมองว่าความล้มเหลวของตัวเองเป็นสิ่งที่ควรยินดี เหมือนเหล่าทหารที่ถูกส่งไปตายในสงคราม แต่กลับถูกนักการเมือง (ที่ส่วนมากเป็นนายทหารชั้นสูง) ยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษ เพื่อใช้ประโยชน์จากความรู้สึกเสียใจ/หดหู่/ภูมิใจของคนในชาติ เราคนไทยโดนล้างสมองด้วยวิธีนี้มานาน ในแวดวงภาษาศาสตร์ เราใช้สำนวนนี้พูดถึงคนที่ลงคอร์สเรียนแพง ๆ แต่ไม่ได้อะไรเลย แต่มักโฆษณากับคนอื่นว่าฉันเคยลงคอร์สนี้คอร์สนั้นแล้วนะ เพื่อให้คนอื่นมองว่าตัวเองเป็นคนขยัน นิสัยแบบนี้ต้องเลิก! (อ่านข้อ 10)

8) หลาย ๆ ครั้งคนอังกฤษจะอ่านคำศัพท์แบบ 'รวบคำ' เช่น Library ที่อ่านว่า "ลาย-บริ" ในขณะที่คนอเมริกันจะอ่านครบทุกพยางค์เป็น "ลาย-เบร-หริ" จุดที่สังเกตเห็นความแตกต่างเรื่องการรวบคำได้ชัดเจนคือการอ่านเดือน January และ February คนอังกฤษจะอ่านว่า "แจน-ยัว-รี" และ "เฟบ-บรู-หรี" ตามลำดับ ในขณะที่คนอเมริกันจะอ่าน "แจน-ยู-เอ-รี" และ "เฟบ-บรู-เอ-รี" ส่วนคำที่คนอังกฤษจะโดนคนอเมริกันล้อบ่อย ๆ ก็คือ Aluminium ที่เราอ่าน "แอล-ลู-มี-เนียม" และสะกดโดยมี i ในคำ แต่คนอเมริกันจะสะกด Aluminum และอ่าน "เออะ-ลู-มี-นัม" ไปเลยง่าย ๆ

9) ตัวสะกด A สรุปแล้วมันคือ สระเอ หรือ สระแอ กันแน่?? คิดง่าย ๆ ถ้ามี A ตัวเดียวมักจะเป็นสระแอ เช่น at (แอท), Sam (แซม), cap (แคพ) แต่ถ้ามีตัว e มาต่อหลังด้วยก็มักจะกลายเป็นสระเอไป เช่น ate (เอท), same (เซม), cape (เคพ) ไรงี้ รวมไปถึง สระออ กับ สระโอ ด้วย ถ้ามีแค่ o เป็นออ เช่น cop (คอพ), not (นอท), cod (คอด) แต่ถ้ามี e มาต่อท้ายก็จะกลายเป็นสระโอไป เช่น cope (โคพ), note (โนท), code (โคด) เราเรียกตัว e ที่มาต่อท้ายแล้วเปลี่ยนเสียงสระแบบนี้ว่า 'The magic E' เป็นอีกหนึ่งประเด็นการออกเสียงที่น่าสนใจ

10) ข้อสุดท้าย ฝากไว้สำหรับการเรียนภาษาอังกฤษ อย่าเสียเวลาหาคอร์สเรียนที่เพอร์เฟคสำหรับเรามากเกินไป เอาเวลาที่ใช้เสาะหากลับมาฝึกฝนตัวเองดีกว่า หากกำลังมองหา course เรียนภาษาอังกฤษ ผมว่ามอง coach ฝึกภาษาอังกฤษดีกว่า หาคนที่เขาใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันเป็นปกติอยู่แล้ว แล้วพยายามพบปะ สร้างสังคมกับคนกลุ่มนี้บ่อย ๆ ผมรู้ว่าพูดแบบนี้มันก็ไม่ได้ง่ายสำหรับทุกคน สำหรับคนบางคนอาจถึงขั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะรอบตัวไม่มีใครใช้ภาษาอังกฤษเลย ข้อนี้ทั้งจริงและไม่จริง เพราะเราก็ยังเหลือโลกออนไลน์อยู่ การหาเพื่อนฝึกภาษาอังกฤษไม่จำเป็นต้องอยู่ในชีวิตจริงเสมอไปนะ!

จบไปสำหรับ part 2 แค่นี้แหละ ไม่ทิ้งท้ายอะไรเยอะละ ช่วงนี้งานเขียนเยอะมาก ขอพักสายตาไปมองอะไรเขียว ๆ ก่อนละกัน สำหรับพาร์ที่ 3 จะมาวันที่ 8 มิถุนายนนะคร้าบ ฝากติดตามด้วยนะ!

"รู้ให้มากกว่าเมื่อวาน"
Stay tuned
JGC.
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่