จากสยามสู่ไทย ... ปฏิวัติหัวใจสู่ไทยยุคใหม่ "ผัดกะเพราเนื้อ สูตรจอมพล ป. พิบูลสงคราม"

เสือตะหลิวเชื่อว่าคนไทยทั้ง 70 ล้านคน ล้วนต้องรู้จักและเคยลิ้มลองเมนู "ผัดกะเพรา" กันอย่างแน่นอน และคนไทยส่วนใหญ่ส่วนใหญ่มักคิดเสมอว่า เมนู "ผัดกะเพรา" นั้น เป็นเมนูที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณกาล ย้อนหลังไปได้หลายร้อยหลายพันปี 

แต่ในความเป็นจริงแล้ว รู้หรือไม่ว่า เมนู "ผัดกะเพรา" นั้น เป็นเมนูที่พึ่งจะถูกคิดค้นมาในช่วงประมาณ พ.ศ. 2490 สมัยของจอมพลรัฐบุรุษชื่อดังผู้หนึ่งที่คนไทยส่วนใหญ่ล้วนรู้จักกันดี ซึ่งผู้นั้นก็คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม 

ช่วงสมัยนั้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ออกนโยบายในเรื่องของการปฏิวัติวัฒนธรรม ท่านได้ทำการปฏิวัติวัฒนธรรมในประเทศครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการแต่งกายการใช้ชีวิต หรือแม้กระทั่งอาหารการกิน

และในสมัยนั้นเอง ได้มีการจัดงานประกวดอาหารและขนมประจำชาติขึ้น แน่นอนว่าอันดับหนึ่งก็คือ "ผัดไทย" แต่เมนู "ผัดกะเพรา" เองก็ตามมาติดๆ ต่อมาหลังจากจบงานประกวด เหล่าบรรดาอาหารและขนมที่ได้รางวัล ก็มีการปรับปรุงสูตรโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เพื่อให้เข้ากับความเป็นไทยมากขึ้น

แต่ถึงแม้จะขึ้นชื่อว่า "ผัดกะเพรา" แต่เมนู "ผัดกะเพรา" สูตรของ จอมพล ป. พิบูลสงครามในยุคเริ่มแรกนั้น กลับมีความแตกต่างไปจาก "ผัดกะเพรา" ในยุคปัจจุบัน แตกต่างอย่างไร ใครสงสัย เสือตะหลิวมีคำตอบ เรามาดูกันเลยดีกว่าครับ


ก่อนอื่นเรามาทอดใบกะเพรากันก่อนนะครับ 
เอาใบกะเพรามาทอดในน้ำมันท่วมๆไฟปานกลาง 
พอใบกะเพราหายฟู่น้ำมัน ก็ตักออกมาพักสะเด็ดน้ำมันเอาไว้ก่อน

อันนี้ไม่จำเป็นต้องทำก็ได้นะครับ แต่เสือตะหลิวแค่อยากทำใบกะเพรากรอบกับน้ำมันกะเพราก่อนเท่านั้น 

 
น้ำมันอันเดิมเลยครับ ไหนๆจะทำผัดกะเพรา เอาไข่ดาวมาเสริมบารมีสักฟอง ตอกไข่ใส่กระทะน้ำมันท่วมๆลงทอด ใครชอบสุกระดับไหนก็ตามใจเลยครับ 
 

น้ำมันอันเดิมเลยครับ กะให้เหลือประมาณ 3-4 ช้อนโต๊ะ
ตั้งกระทะไฟปานกลาง ใส่กระเทียมสับ 3-4 ช้อนโต๊ะ
พริกขี้หนูแดงสับ 3-4 ช้อนโต๊ะ
พริกขี้หนูเขียวสับ 3-4 ช้อนโต๊ะ
น้ำพริกเผา 3-4 ช้อนชา
ผัดให้ส่วนผสมทั้งหมดเข้ากันเลยนะครับ

ผัดกะเพราสูตรแรกเริ่มของจอมพล ป. พิบูลสงครามจะมีการแอบใส่น้ำพริกเผาลงไปเล็กน้อยเพื่อสร้างรสชาติแฝง แต่ถ้าหากไม่มีน้ำพริกเผาก็ใส่น้ำพริกแกงเผ็ดแทนก็ได้ครับ

 
 
ใส่เนื้อวัวบดลงไปต่อได้เลยครับ 
เสือตะหลิวใช้เนื้อวัวบดประมาณครึ่งกิโล หรือ 5 ขีด
ผัดให้เข้ากันจนเนื้อเกือบสุกนะครับ 

 
ทีนี้ถึงคราวปรุงรสแล้ว 
ผัดกะเพราสูตรของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม จะปรุงรสเค็มด้วย เต้าเจี้ยว และ ปรุงรสหวานด้วย น้ำตาลปี๊บ
เต้าเจี้ยวประมาณ 3-4 ช้อนโต๊ะ 
น้ำตาลปี๊บประมาณ 3-4 ช้อนชา 
อาจจะใส่มากใส่น้อยกว่านี้ก็ได้นะครับ 
ลองค่อยๆใส่ค่อยๆชิมไปจนได้รสที่ต้องการ

มันอาจจะดูแปลกๆสำหรับยุคปัจจุบันที่นิยมใส่น้ำปลาและไม่นิยมเติมน้ำตาล แต่สำหรับ "ผัดกะเพรา" ในยุคแรกของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นั้น ผัดกะเพราจะใส่เต้าเจี้ยวกับน้ำตาลปี๊บ แต่สาเหตุก็เพราะ ท่านจอมพล ป. พิบูลสงคราม อิงสูตร "ผัดกะเพรา" ของท่านจากเมนู "เนื้อผัดเต้าซี่" หรือ "เนื้อผัดเต้าเจี้ยว" แต่เนื่องด้วยในสมัยนั้น เต้าเจี้ยวหรือเต้าซี่ เป็นเครื่องปรุงที่หายากในครัวเรือนไทย ชาวไทยส่วนใหญ่จึงมักใช้น้ำปลาในการปรุงรสแทน
นอกจากนี้ตัวของจอมพล ป. พิบูลสงครามเองก็เป็นคนชอบรสหวาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งรสหวานจากน้ำตาลมะพร้าว ท่านจึงใส่น้ำตาลปี๊บลงไปใน "ผัดกะเพรา" สูตรของท่านด้วย ผัดกะเพราสูตรของท่านจึงมีรสหวาน


หลังจากปรุงรสเสร็จก็ผัดไปเรื่อยๆจนเนื้อเข้ากันดี
ต้องผัดจนกว่าเนื้อจะเริ่มแห้งนะครับ 
เอาให้น้ำของเนื้อไม่ไหลออกมา 
คล้ายๆกับการคั่ว
โดยหลังจากที่คั่วเสร็จก็โรยใบกะเพราลงไปประมาณ 3 กำ (มือใครเล็กมือใครใหญ่ก็กะๆกันเอาเองนะครับ 55555) 
จากนั้นจึงปิดไฟแล้วคลุกให้เข้ากันเร็วๆไปเลยครับ 


เรียบร้อยแล้วครับกับ "ผัดกะเพราเนื้อ สูตรจอมพล ป. พิบูลสงคราม"
ตักกะเพราใส่จาน กะเพรากรอบโรยหน้าอีกสักหน่อย อร่อยเหาะ
รสชาติ ผัดกะเพรา สูตร จอมพล ป. พิบูลสงคราม จะมีรสเค็มๆมันๆมากกว่าผัดกะเพราแบบปกติ เพราะใช้เต้าเจี้ยวในการปรุงรส 
อีกทั้งยังมีกลิ่นหอมและรสชาติจากน้ำพริกเผาแอบแฝงอยู่ช่วยเพิ่มอรรถรสในการรับประทาน 
รวมถึงยังมีความหวานอันเป็นเอกลักษณ์ของน้ำตาลปี๊บที่ช่วยสร้างสรรค์รสชาติอันหลากหลายให้กับเมนูอาหารบ้านๆจานนี้ให้พิเศษยิ่งๆขึ้นไปอีก
 

ผัดกะเพรา ไม่ว่าจะยังไงก็จะขาดข้าวสวยร้อนๆไปไม่ได้โดยเด็ดขาด 
หุงเสร็จใหม่ๆตักใส่รอจานได้เลย
ข้าวสวยหุงสุกใหม่ๆร้อนๆเนื้อนุ่มๆหนึบๆ 


ตักข้าวใส่จาน อย่าพึ่งลืมไข่ดาวที่ทอดเตรียมไว้
เอาไข่ดาวไปวางโป๊ะบนข้าว
ไข่แดงลาวาเยิ้มๆกับไข่ขาววุ้นๆลื่นๆ 
การผสมผสานที่เรียบง่ายอย่างลงตัว 


กะเพราพร้อม ไข่พร้อม ข้าวพร้อม แล้วจะมัวรอะไรอยู่อีก เชิญรับประทานได้เลย
เมนู "ผัดกะเพรา สูตรจอมพล ป. พิบูลสงคราม" คือเมนูผัดกะเพราในยุคแรกเริ่มปฏิวัติวัฒนธรรม เป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นสู่การเปลี่ยนแปลงจากสยามไปเป็นไทย นำมาซึ่งการพัฒนาประเทศจนนำมาสู่ความเจริญของประเทศไทยยุคใหม่ 
"เพราะอาหารคือเรื่องของปากท้อง และปากท้องคือเรื่องของประเทศชาติ ... เหล่าผู้นำทั้งหลายจึงควรคิดถึงเรื่องปากท้องของคนในชาติเป็นสำคัญ เพราะถ้าหากปากท้องของคนในชาติมีปัญหา ความเจริญของประเทศชาติย่อมไม่ปรากฎ" 


โดย facebook page : เสือตะหลิว " อาหาร กับ ชายชาตรี "
ความคิดเห็นจาก Expert Account
ความคิดเห็นที่ 28
ผีเสื้อ  มารับความรู้รอบครัวต้วยคนครับ อมยิ้ม36
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่