สัมปชัญญะ คืออะไร

สัมปชัญญะ คืออะไร

                 เคยมีคนแนะนำว่า สัมปชัญญะมี 4  ผมก็ไม่เข้าใจ ต่อมาไปอ่าน พบว่า ในอรรถกถา ได้อธิบายเกี่ยวกับสัมปชัญญะมี 4 ซึ่งเป็นลักษณะ อาการต่างๆของสัมปชัญญะท่าสนใจก็ลองไปหาอ่านได้ตามนี้ครับ(https://84000.org/tipitaka/dic/d_item.php?i=189)

              แต่วันนี้ผมจะมา ชวนคิดชวนคุย ชวนเสวนาว่า สัมปชัญญะ นั้น เกิดจาก การรับรู้ของอะไร  เพราะเป็นสิ่งสำคัญมากต่อการทำวิปัสสนา  เมื่อขาดสัมปชัญญะแล้ว การภาวนา เพื่อจะให้เกิดวิปัสสนาญาณ นั้นทำไม่ได้เลย วันนี้อาจจะยาวสักหน่อย คงไม่มีคนอ่านหรอก ถ้าอ่านจบก็ขอบคุณครับ  ผมขอพื้นที่เพื่อทำเป็นcollection  ของผมนิดหนึ่ง

         ก่อนอื่นผมจะขอยกพระสูตรมา ประกอบการเสวนาครับ

“...ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย
อายตนะนั้นมีอยู่ ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาสานัญจายตนะ  วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ โลกนี้ โลกหน้า    พระจันทร์และพระอาทิตย์ทั้งสอง ย่อมไม่มีในอายตนะนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย   เราย่อมไม่กล่าวซึ่งอายตนะนั้นว่า เป็นการมา เป็นการไป เป็นการตั้งอยู่ เป็นการ
จุติ เป็นการอุปบัติ อายตนะนั้นหาที่ตั้งอาศัยมิได้ มิได้เป็นไป หาอารมณ์มิได้
นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์ ฯ  .. (https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=25&A=3977&w=%CD%D2%C2%B5%B9%D0%B9%D1%E9%B9%C1%D5%CD%C2%D9%E8)

 
                ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับอายตนะนิพพานกันก่อน  ในพระสูตรนี้ คำว่า “ อายตนะนั้นมีอยู่”   มีคนอธิบายและยอมรับกันว่า คำนั้นคือ อายตนะนิพพาน

           ถ้าให้ผมตีความ ผมเข้าใจว่า อายตนะนิพพาน ก็คือตัวรับรู้ของนิพพานธาตุ  นั้นเอง  คำว่าอายตนะ ถ้าจะเปรียบกับหุ่นยนต์ ก็หมายถึงตัวเซนเซอร์รู้สิ่ง ต่างๆ เช่น เซนเซอร์รับภาพ รับเสียง ....เมื่อรับรู้แล้วก็ส่งข้อมูลให้ตัวประมวลผลซีพียู เพื่อไปเข้าโปรแกรม

            อายตนะนิพพานก็คือ เซนเซอร์ตัวรับรู้สิ่งต่างๆ แล้วส่งให้ตัวนิพพานธาตุ  เมื่อผมอ่านพระสูตรนี้ ผมคิดตามตรรกะว่า พระองค์คงหมายถึงเมื่อพระอรหันต์ปรินิพพานไปแล้ว สิ่งที่เหลือ เรียกว่า นิพพานธาตุนี้ ยังรับรู้สิ่งต่างๆได้ เพียงแต่ ธาตุนี้ไม่มีที่ตั้ง 

              ถ้าอย่างนั้น ลองมาคิดดูว่า ก่อนพระอรหันต์ปรินิพพาน ตัวนิพพานธาตุอยู่ที่ไหนกัน ผมเคยกล่าวว่า นิพพานธาตุ ก็ผูกติดกับขันธ์ห้านี้แหละ แม้แต่ปุถุชนคนธรรมดา ก็มีนิพพานธาตุผูกติดกับขันธ์ห้า  เพียงแต่ สมบัติของธาตุนี้ที่อยู่ในปุถุชนคนที่ยังไม่บรรลุธรรม จะถูกร้อยรัดด้วยกิเลสสังโยชน์  ส่วนธาตุนี้ในพระอรหันต์ จะปราศจากสิ่งร้อยรัด  ก็เรียกว่า นิโรธ โดยที่นิโรธ ก็คือ นิพพานที่ปราศจากสิ่งร้อยรัด นั้นเองครับ
 
           ผมกล่าวมาถึงตรงนี้ ก็ต้องมีคนขัดใจไม่น้อย ก็ผมเคยกล่าวแล้วว่า มีสองกลุ่มใหญ่ที่เชื่อต่างกัน คนที่เชื่อว่า มีนิพพานธาตุผูกติดกับขันธ์ห้า กับกลุ่มที่เชื่อว่า ไม่มีอะไรผูกติดกับขันธ์ห้า มีแต่ขันธ์ห้าล้วนๆ

                ในแต่ละกลุ่มก็ยังมาเถียงกันอีก  กลุ่มที่เชื่อว่ามีแต่ขันธ์ห้าล้วน ๆ  ก็ยังมีกลุ่มจิตเที่ยง  จิตเดิมแท้ กลุ่มที่ไม่มีอะไรเลย เหมือนไฟดับแล้วดับเลย เป็นต้น 
                    ส่วนกลุ่มที่เชื่อว่า มีนิพพานธาตุผูกติดกับขันธ์ห้า ก็มาเถียงกันอีก  ว่า มีนิพพานเป็นอัตตา เป็นสัตตานัง เป็นดวงแก้ว  หรือบ้างก็ว่า เป็นเพียงธาตุธรรมชาติอันหนึ่งเท่านั้นไม่ใช่อัตตา  อิลุงตุงนังไปหมด ผมก็คลุกอยู่กับกลุ่มนี้แหละครับ

            การเถียงกันนะดีแต่ละกลุ่มก็เถียงกันในกลุ่มนั้นแหละ อย่าออกไปด่ากลุ่มอื่น  และอย่าด้อยค่าคนอื่นไม่ดีการด้อยค่าคนอื่นเป็นพวกอันธพาล (อเสวนาจะพาลานัง....) พระพุทธองค์ มิได้ทรงให้ใครมาเป็นตัวแทน นอกจากพระธรรมที่พระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว

           มาว่ากันต่อ  เมื่อ พระอรหันต์ปรินิพพานไปแล้ว ท่านยังเหลือ นิพพานธาตุ และมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งคือ สามารถรับรู้ได้โดยผ่านอายตนะนิพพาน  การรับรู้นั้น ท่านกล่าวว่า นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง เป็นสุขกว่าการเวียนว่ายตายเกิด เป็นสุขกว่า สิ่งที่ว่าบรมสุขที่สุดในสังสารวัฏ  อันนี้เป็นความรู้พื้นฐาน ไม่มีใครเถียงใคร

          ต่อมา เมื่อ พระอรหันต์ยังไม่ปรินิพพานหรือปุถุชนที่ยังไม่ตาย   นิพพานธาตุของท่านเหล่านั้น มีอายตนะหรือไม่  แน่นอนต้องมีสิครับ  เป็นไปตามตรรกะ ถึงจะไม่มีพระสูตรมารองรับก็ตาม 

        การที่นิพพานธาตุมีอายตนะ ก็ย่อมมีการรับรู้      การรับรู้มีความต่างจากจิตอย่างไร
        จิตรับรู้เพราะ จิตมีใจเป็นอายตนะ จิตรับรู้ผ่านอายสตนะทั้งห้า คือตา หู จมูก ลิ้น กาย  แล้วผ่านมาที่ใจ  อย่างตอนเรานอนหลับ จิตของเราก็ไม่สามารถรับรู้สิ่งต่างๆได้  การปรุงแต่งของจิต ก็นำมาจาก หน่วยความจำ มาเป็นความฝันบางอย่างก็ไม่ได้มาจากความจำ เป็นสิ่งที่จิตปรุงแต่งล้วนก็มีเช่นฝันเห็นมนุษย์ต่างดาว เป็นต้น

                  นิพพานธาตุ เป็นอสังขตะธรรม ปรุงแต่งไม่ได้ การรับรู้ก็ต้องรับรู้ผ่านตัวจิต  ไม่รู้ว่า รับรู้ผ่าน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ได้หรือเปล่า ไม่น่าได้  เมื่อรู้แล้ว ก็ไม่ปรุงแต่งต่อ ความรู้ดังกล่าว เรียกว่า สัมปชัญญะ  เดียวก็มีคนแย้งอีก ว่า เอามาจากไหน  ก็มันเป็นตรรกะ อีกเช่นเคย  ผมจะยกพระสูตรขึ้นมา ประกอบ ตรรกะ ที่ผมชวนคิดชวนคุย

“             [๒๗๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่อย่างไรเล่า
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์
ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า เมื่อ
หายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า เรา
หายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกสั้น เมื่อหายใจเข้า
สั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้าสั้น……..
(https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=10&A=6257&Z=6764)

“เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า”   -  ท่อนนี้ หมายถึงการสร้างสติ
                 สติ หมายถึง การระลึกได้ เมื่อหายใจออก ก็ระลึกได้ว่า ผัสสะเช่นนี้เรียกว่า หายใจออก จิตมีสติ ระลึกได้ เมื่อหายใจเข้า จิตก็ระลึกได้ว่านี้ คือหายใจเข้า

                พระองค์ไม่ได้  อธิบายมากว่านี้ในการสร้างสติ สั้นก็จริง แต่ทำให้ต่อเนื่อง โดยให้สติอยู่กับลมหายใจเข้าออกตลอด ได้ยากมากๆ
“ เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า เรา
หายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกสั้น เมื่อหายใจเข้า
สั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้าสั้น”      -  ท่อนนี้ คือ สัมปชัญญะ  สัมปชัญญะคือการรู้สึกตัว  รู้อย่างไร รู้ว่า เรากำลังนั่งหายใจอยู่ รู้ผ่านจิต จิต รู้ลม สัมปชัญญะก็รู้ลม 
 
                 สัมปชัญญะจะเกิดได้เพราะมีสติ  นำก่อน  การมีสติ อย่างเดียวโดยไม่ฝึกการมีสัมปชัญญะ จะไม่เรียกว่า การทำสติปัฏฐานสี่
                การมีสติ เกิดจากระลึกได้ของจิต การมีสัมปชัญญะ เกิดขึ้นได้เพราะมี สติกระตุ้น  อันนี้ต้องฝึก   เมื่อหายใจเข้า จิตจับที่ปลายจมูก ตามด้วยรู้สึกตัว   ฝึกยากมากๆ  ฝึกจน สติจับอยู่ที่เดียว  สัมปชัญญะ จะต้องมีอย่างต่อเนื่อง

                   สัมปชัญญะที่ต่อเนื่อง ก็จะเป็น ญาณ  บางคนก็สงสัยอีกว่า ผมเข้าใจว่า มีพระสูตร อธิบายไหม มันเป็นตรรกะ  เช่นกัน
               ใครก็ตาม แยกสติ กับสัมปชัญญะไม่ออก   จะเป็นนักภาวนา สติปัฏฐานได้อย่างไร  ผมจะยกพระสูตรมาอธิบายว่า ทำไม สัมปชัญญะ ที่ต่อเนื่อง                  กลายเป็น ญาณ  

ครับมาดูพระสูตรกัน ว่าขณะตรัสรู้เกิดอะไรขึ้น

“              [๖๙๖] ย่อมตรัสรู้ด้วยจิตที่เป็นปัจจุบันและญาณในขณะแห่งโลกุตรมรรค
อย่างไร ฯ
                ในขณะโลกุตรมรรค จิตเป็นใหญ่ในการให้เกิดขึ้น และเป็นเหตุ
เป็นปัจจัยแห่งญาณ จิตอันสัมปยุตด้วยญาณนั้น มีนิโรธเป็นโคจร ญาณเป็นใหญ่
ในการเห็น และเป็นเหตุเป็นปัจจัยแห่งจิต ญาณอันสัมปยุตด้วยจิตนั้น มีนิโรธ
เป็นโคจร ย่อมตรัสรู้ด้วยจิตที่เป็นปัจจุบันและด้วยญาณ ในขณะแห่งโลกุตรมรรค
อย่างนี้ ฯ”
(https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=31&A=10321&w=%C5%D0%A1%D4%E0%C5%CA)

                  เข้าใจ  จิต กับญาณมิใช่สิ่งเดียวกัน  จิตมีหน้าที่ทำให้ญาณเกิด  ซึ่งมาจากการ สติทำให้ สัมปชัญญะเกิด  แต่ไม่ได้หมายความว่า จิต แตกหน่อ ไปเป็นญาณ  หรือ สติ แตกหน่อไปเป็นสัมปชัญญะ

การตรัสรู้ ก็คือการรู้ในระดับญาณ  ตัวญาณ ไม่สามารถรับรู้ได้ด้วยตนเอง ต้องรับรู้ผ่านจิต อย่างที่ผมกล่าวไว้ข้างต้น

                “ ญาณเป็นใหญ่  ในการเห็น”  ตัว จิต เป็นตัวป้อนข้อมูลให้ตัวญาณ อย่างที่ผมเคยตั้งกระทู้เรื่องการน้อมจิต 
         ถ้าจิต กับญาณ มิใช่สิ่งเดียวกัน  ตาม ตรรกะนี้ ตัวญาณ ก็คือ การรับรู้ของ อายตนะนิพพานนั้นเอง  ญาณจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีสัมปชัญญะที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกลายไปเป็นญาณ

                  ความรู้ ระดับจิต ก็ได้จากการ ฟัง  การ นำสิ่งที่ฟังมาตรึกนึกคิด เรียกว่า สุตมยะปัญญา และ จินตมยะปัญญา
            ความรู้ระดับญาณ  ก็ต้องภาวนาให้เกิดญาณ แล้วน้อมจิต ให้เกิดปัญญาญาณ  เรียกว่า ภาวนามยะปัญญา
สรูป  สติ และ สัมปชัญญะ ผู้ที่เป็นนักวิปัสสนา ต้องแยกความรู้สึกนี้ออก  และเห็นความสำคัญ ของสองสิ่งนี้

              สติ ที่ต่อเนื่องกลายเป็นสมาธิ
               สัมปชัญญะที่ต่อเนื่องกลายเป็นญาณ

               เมื่อ มีทั้งจิตเป็นสมาธิ และญาณ ก็น้อมจิต ให้เกิด วิปัสสนาญาณ  ให้ญาณรู้ว่า  จิตนี้เป็น สิ่งไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตไม่ใช่เรา ไม่มีเราในจิต ไม่มีจิตในเรา น้อมไปเรื่อยๆ  สักวันก็อาจจะสำเร็จได้ ท่านอุปมาเหมือนเดินไปเหยียบเดือยข้าวที่ตั้งดีแล้ว อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุ จากเดือยข้าวได้  (https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=19&A=219&w=%E0%B4%D7%CD%C2%A2%E9%D2%C7)

 
            บางท่านแย้งผมว่า สัมปชัญญะ คือ เจตสิกของจิต  ผมก็ไปดูหมวดเจตสิก ชื่อว่า  “52. ปัญญินทรีย์ หรือ อโมหะ)  ผมว่าไม่ใช่   แม้แต่ญาณเขาก็ว่า คือปัญญินทรีย์  ผมก็ว่าไม่ใช่  สัมปชัญญะหมายถึงรู้สึกตัว  ไม่ได้งอกออกมาจากจิต  ไม่ใช่กริยาของจิต ไม่ใช่ อนุพันธ์ของจิต  เขาคือ    อายตนะนิพพาน ถ้าท่านเป็นนักภาวนา ลองพิสูจน์ด้วยตนเองก็ได้  ว่าความรู้สึกสองอันนี้ต่างกันไหม  ต้องน้อมเข้ามาในตน เพื่อพิสูจน์ ถ้าสงสัยสิ่งนี้

             ขันธ์ห้าไม่สามารถตั้งอยู่ได้ถ้าไม่มี นิพพานธาตุมาผูกติด  ขันธ์ห้ามันเป็นแค่ตัวที่ทำงานตามปัจจัย มันต้องมีเชื้อเพลิง  ถ้าไม่มีนิพพานธาตุมาผูกติด มันก็ไม่ต่างจากหุ่นยนต์
 
ขอบคุณที่อ่านมาถึงตรงนี้ครับ

ถ้าท่านมีความเห็นแย้งก็ เสวนาได้ครับ ขอบคุณ

แต่ถ้าท่านด้อยค่า ก็อย่าทำเลยครับ
ขอพื้นที่น้อยๆให้ผมลงสักนิดก็ดีเพราะผมก็นานๆมาไม่น่าจะทำให้รำคาญนะครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่