กระท้อนผลไม้สุดโปรดของใครหลายคนเพราะนอกจากจะกินสดอร่อยแล้ว รสชาติยังเฉพาะตัวนำไปทำของหวานก็สดชื่น ของคาวก็แซ่บหลาย พร้อมประโยชน์มากมายที่คุณต้องรู้!
กระท้อน ผลไม้เขตร้อน ในฤดูฝน มีถิ่นกำเนิดบริเวณ ภาคใต้ของไทยและภาคตะวันตกของประเทศมาเลเซีย หลากหลายสัมผัสในหนึ่งเดียว มีสีส้มๆเหลือง กลิ่มเฉพาะตัว เนื้อนุ่มสีขาวฟู เป็นปุย เนื้อกระท้อนหนานิ่ม เกาะกันเป็นพู แต่ละผลมีประมาณ 3-5 พู แต่ละพูมี 1 เมล็ด รสหวานหรือเปรี้ยวอมหวาน ขึ้นอยู่กับพันธุ์ส่วนเนื้อที่ติดกับเปลือกสามารถนำมากินได้ รสเปรี้ยวอมฝาด กระท้อนจะออกมากในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกันยายน นิยมกินเนื้อติดเมล็ดและเนื้อที่ติดเปลือกสดๆ หรือจิ้มพริกกับเกลือหรือน้ำปลาหวาน นำมาปั่นหรือคั้นทำน้ำกระท้อน
นำมาทำอาหารว่าง เช่น กระท้อนลอยแก้ว กระท้อนแช่อิ่ม กระท้อนทรงเครื่อง กระท้อนดอง แยมกระท้อน เป็นต้น หรือนำไปใช้ประกอบอาหารได้อยากหลากหลาย เนื้อกระท้อนนอกจากอร่อยแล้วยัง อุดมด้วยวิตามินเอ ซี และบี 1 ฟอสฟอรัส แคลเซียม คาร์โบไฮเดรต เหล็ก ไนอะซิน เส้นใย โปรตีน และมีสารแอนติออกซิแดนท์สูงที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ
สรรพคุณของกระท้อน
สร้างเสริมระบบภูมิคุ้มกัน
ใครที่กำลังมองหาผลไม้เสริมภูมิ แนะนำกระท้อน เพราะกระท้อนมีไฟเบอร์อยู่พอสมควร ช่วยให้ร่างกายสามารถสร้างโปรไบโอติกส์ได้มากขึ้น ที่มีส่วนสำคัญในการสร้างเสริมระบบภูมิคุ้มกัน อีกทั้งสารต้านอนุมูลอิสระที่อยู่ในกระท้อนยังช่วยป้องกันและกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้ทำงานอย่างเต็มที่เป็นเกราะคุ้มกันให้ห่างไกลจากโรคภัยต่างๆ
ป้องกันฟันผุ
รู้หรือไม่ ? การกินกระท้อนจะช่วยเพิ่มการหลั่งของน้ำลาย ซึ่งเจ้าน้ำลายนี่ล่ะค่ะมีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในช่องปาก และขจัดเชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดฟันผุได้เป็นอย่างดี
ลดระดับคอเลสเตอรอล
ไฟเบอร์ในกระท้อนเป็นชนิดละลายน้ำได้ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่มีระดับคอเลสเตอรอลสูง เนื่องจากไฟเบอร์ชนิดนี้จะเข้าไปลดระดับไขมันในเส้นเลือด อีกทั้งเพคตินที่อยู่ในกระท้อนก็ยังคอยช่วยดักจับคอเลสเตอรอล ทำให้ระดับคอเลสเตอรอลลดลง และสามารถป้องกันโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังช่วยชะลอการทำงานของระบบย่อยอาหาร ทำให้น้ำตาลที่มาจากอาหารถูกย่อยเป็นกลูโคสช้าลง และยับยั้งไม่ให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น
แก้ท้องเสีย
ได้โดยเฉพาะรากของกระท้อน หากนำมาต้มน้ำดื่มจะช่วยแก้อาการท้องเสีย และบิด ไม่เพียงเท่านั้นเพราะไฟเบอร์ที่อยู่ในเนื้อกระท้อน เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วก็ยังสามารถช่วยปรับระบบการทำงานของลำไส้ให้กลับมาเป็นปกติได้อีกด้วย
อุดมด้วยวิตามิน
กระท้อนเป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยวิตามินบีและซี ซึ่งจะช่วยรักษาป้องกันอาการเลือดออกตามไรฟันได้ รวมทั้งสารต้านอนุมูลอิสระที่อยู่ในกระท้อนยังช่วยป้องกันโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคอัลไซเมอร์ นอกจากนี้วิตามินบีในกระท้อนก็ยังมีส่วนในการกระตุ้นการเผาผลาญของร่างกาย ช่วยทำให้อารมณ์ดีขึ้น และป้องกันความเสี่ยงโรคพิการแต่กำเนิดของทารกในครรภ์ได้
ป้องกันโรคมะเร็งลำไส้
ด้วยปริมาณไฟเบอร์ที่สูงของกระท้อน จึงทำให้กระท้อนกลายเป็นอาหารอีกหนึ่งชนิดที่สามารถช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้ได้ เพราะไฟเบอร์ในกระท้อนนั้นจะเข้าไปกระตุ้นการทำงานของระบบขับถ่าย ทำให้ลำไส้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รักษาโรคผิวหนัง
นอกจากเป็นอาหารที่ถูกปากแล้ว กระท้อนก็ยังถือเป็นสมุนไพรอีกด้วย โดยใบของกระท้อนสามารถนำมาบดเพื่อรักษาโรคผิวหนังได้หลายชนิดไม่ว่าจะเป็นโรคสะเก็ดเงิน ผื่น กลาก และโรคผิวหนังอื่น ๆ ได้
ข้อแนะนำและข้อควรระวังแม้ยังไม่พบข้อมูลเป็นพิษของกระท้อน
ผู้ป่วยโรคไต
ควรระวังเนื่องจากเป็นผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูง ซึ่งไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยเป็นโรคไต ควรเว้นการรับประทานกระท้อน และอาหารอื่นๆ ที่มีโพแทสเซียมสูง
ผู้ป่วยเบาหวาน
กระท้อนบางสายพันธุ์มีรสชาติหวานมาก ทำให้ระดับน้ำตาลในกระท้อนสูงตามไปด้วยผู้ป่วยโรคเบาหวานจึงควรระมัดระวังการรับประทานในปริมาณมาก เพราะอาจทำให้น้ำตาลในเลือดสูงได้
กินเมล็ดกระท้อนอย่างระวัง
เมล็ดกระท้อนมีความลื่น ค่อนข้างแข็ง และมีปลายแหลม หากเผลอกลืนลงไป หรือ เมล็ดขนาดใหญ่ลื่นไหลเข้าไปในคอ อาจติดหลอดลม หรือ เป็นอันตรายต่อลำไส้ได้ ดังนั้นจึงควรรับประทานกระท้อนด้วยความระมัดระวังโดยเฉพาะในเด็กและผู้สูงอายุ
อย่างไรก็ตามการนำผลไม้ทุกชนิด รวมถึงกระท้อนไปดัดแปลงเป็นของคาวและของหวานควรปรุงแต่พอดีไม่ควรใส่เครื่องปรุงหรือเครืองเคียงต่างๆกลบคุณประโยชน์ของเขาหมด เพื่อให้ยังคงวิตามินและแร่ธาตุต่างๆสมบูรณ์ที่สุด ที่สำคัญระวังการกินด้วยนะคะ ระวังติดคอนะคะ ที่สำคัญควรทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และดื่มน้ำเยอะๆ
ข้อมูลจาก กรมประชาสัมพันธ์ และ disthai
“กระท้อน” ผลไม้หน้าฝน อุดมไฟเบอร์-วิตามิน ป้องกันน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น
ควรระวังเนื่องจากเป็นผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูง ซึ่งไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยเป็นโรคไต ควรเว้นการรับประทานกระท้อน และอาหารอื่นๆ ที่มีโพแทสเซียมสูง