อวิชชามันฉลาดหลอกให้จิตหลงยึดขันธ์ 5

อวิชชามันฉลาดหลอกให้จิตหลงยึดขันธ์ 5 คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นตัวเราของเรา คนทั่วไป 90% ที่ไม่ได้ศึกษาหลงยึดว่า รูป (กาย) เป็นตัวเรา เป็นจิต นักท่องตำราที่ขาดการปฏิบัติหลงยึดวิญญาณเป็นตัวเรา เป็นจิต ซึ่งถูกอวิชชาก็หลอกซ้อนอีกที เพราะ รูปและวิญญาณ ล้วนเป็นขันธ์ 5 ทั้งสิ้น จะหลงว่าจิตเป็นรูป (กาย) หรือวิญญาณก็ไม่ต่างกันเลย

ขันธ์ 5 เป็นสังขตธรรม คือ ธรรมชาติที่ปรุงแต่งด้วยเบญจขันธ์ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เช่น มนุษย์ สัตว์ หรือสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ล้วนประกอบด้วยเบญจขันธ์ เกิดจากธาตุ 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ มาประชุมกัน แล้วธาตุรู้ (จิต) มาครองเกิดเป็นสัตว์เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะมีการเปลี่ยนแปลง เสื่อม และสิ้นไป เป็นทุกขัง อนิจจัง อนัตตา เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป

จิตปุถุชนที่หลงยึดขันธ์ 5 เป็นตัวเรา ของเราจะเกิดดับ ตามสิ่งที่หลงไปยึด จนจิตหลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกับวิญญาณ (วิญญาณ คือ ตัวเชื่อมระหว่างจิตกับกาย หรืออาการรู้ของจิตผ่านทวาร 6) เพราะอวิชชาครอบงำจิตจนมืดบอดดำสนิท ดังนั้น ผู้ที่ไม่ปฏิบัติสมาธิจนถึงฌานและเจริญวิปัสสนาเป็นไปไม่ได้เลยที่จะแยกจิตออกจากขันธ์ 5 หลงยึดว่าจิต คือ กาย คือ วิญญาณในขันธ์ 5 ตลอดอนันตกาล ดั่งพระพุทธเจ้าตรัสว่า

”ตถาคตเรียกร่างกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้ง ๔ นี้ว่า จิตบ้าง มโนบ้าง วิญญาณบ้าง จิตเป็นต้นนั้นดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไป ในกลางคืนและกลางวัน ฯ“
เหตุเพราะจิตปุถุชนไปหลงยึดเอาขันธ์ 5 เป็นตัว เป็นตนจึงเกิดดับตามสิ่งที่หลงไปยึด

เมื่อเจริญสมาธิจนถึงฌานแล้วใช้กำลังสมาธิเจริญวิปัสสนา พิจารณาขันธ์ 5 รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จนเห็นการเกิดดับของขันธ์ 5 เกิดจากธาตุ 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ มาประชุมกันเป็นขันธ์ 5 แล้วแตกสลายเป็นธาตุ 4 อีกครั้ง แล้วจิต ที่เป็นธาตุรู้มาครอง วนเวียนไปไม่จบไม่สิ้น จนจิตเกิดความเบื่อหน่ายในขันธ์ 5 จิตวิมุติหลุดพ้น เกิดปัญญาว่า จิต ไม่ใช่ขันธ์ 5 แท้จริงแล้วจิตเป็นธาตุรู้ที่หลงยึดเอาขันธ์ 5 เป็นตัว เป็นตน เรียกว่า ละสักกายทิฏฐิ ยึดเอาขันธ์ เป็นตัวเป็นตน เป็นจิต ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ผู้ไม่ปฏิบัติสมาธิและวิปัสสนาจะหลงยึดเอาขันธ์ 5 นี้เป็นเราเป็นจิต

แท้จริงแล้ว ธาตุ 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ธาตุรู้และพระนิพพาน เป็นอสังขตธรรม ตรงข้ามกับสังขตธรรม หมายถึง ไม่มีสิ่งปรุงแต่งให้เกิดขึ้น เมื่อไม่เกิดก็จะไม่เสื่อมสลาย และไม่มีการดับสูญ อยู่เหนือกฏไตรลักษณ์ เมื่อจิตเบื่อหน่ายในขันธ์ 5 จิตวิมุติหลุดพ้นจากกิเลส อวิชชา จิตจะน้อมไปเพื่ออมตธาตุ สงบ นั่นประณีต คือ ธรรมเป็นที่สงบแห่งสังขารทั้งปวง คือ พระนิพพาน เป็นโลกุตตรจิต คือ จิตที่ประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพาน โดยเป็นจิตที่ดับกิเลส เป็นโลกุตตรกุศลจิต ไม่หลงไปยึดขันธ์ 5 เป็นตัวเป็นตน จึงไม่เกิดดับอีกต่อไป

ดังพุทธพจน์กล่าวว่า

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
๒. ฉวิโสธนสูตร (๑๑๒)

”จิตของเราหลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืนซึ่งอุปาทานขันธ์ที่ยึดมั่นในวิญญาณ ขันธ์ 5“

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๑ สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค
อมตวรรคที่ ๕
อมตสูตร
ว่าด้วยจิตตั้งมั่นในสติปัฏฐาน

             “[๘๑๘] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงมีจิตตั้งมั่นด้วยดีในสติปัฏฐาน ๔ อยู่เถิด อย่ามีจิตไม่ตั้งมั่นอยู่เลย และอมตะจะพึงมีแก่เธอทั้งหลาย”

อมตะ คำว่า อมตะ (ไม่ตาย) หมายถึงนิพพาน นิพพานนั้นแล ที่ชื่อว่า ไม่แก่ ไม่ตาย เพราะไม่เกิด (ขุ.ธ.อ. ๒/๖๓)

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕ อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุ ในธรรมวินัยนี้ บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ เธอย่อมพิจารณา เห็นธรรมทั้งหลาย คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันมีอยู่ในขณะ แห่งจตุตถฌานนั้น โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ... ว่างเปล่า เป็น อนัตตา เธอย่อมยังจิตให้ตั้งอยู่ด้วยธรรมเหล่านั้น ครั้นแล้ว ย่อมน้อมจิตไปเพื่ออมตธาตุว่า นั่นสงบ นั่นประณีต คือ ธรรมเป็นที่สงบแห่งสังขารทั้งปวง ...นิพพาน เธอตั้งอยู่ในจตุตถฌานนั้น ย่อมถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่