เรื่องเล่าสอนใจ เถรใบลานเปล่า วาจาสุภาษิของผู้ทำไม่ได้ตามที่พูด ย่อมไม่มีประโยชน์อะไร ดุจดอกไม้สีสวย แต่ไร้กลิ่น

เรื่องเล่าสอนใจ เถรใบลานเปล่า

ในสมัยพุทธกาล...มีพระองค์หนึ่งชื่อ
ตุจโฉโปฏฐิละ เป็นผู้คงแก่เรียน แตกฉานในคำสอนของพระพุทธองค์ และมีลูกศิษย์มากมายที่บรรลุธรรมเป็นพระอริยะบุคคล

ยามใดเมื่อท่านอธิบายธรรม ก็ไม่มีใครกล้าพูดหรือเถียงท่าน เป็นที่นับหน้าถือตาของคนโดยทั่วไป วันหนึ่ง ท่านไปกราบพระพุทธเจ้า ขณะก้มลงกราบ พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า
"มาแล้วหรือ ใบลานเปล่า"
เมื่อท่านเสร็จกิจทูลลากลับ พระพุทธองค์ก็ตรัสอีกว่า "กลับแล้วหรือ ใบลานเปล่า"

ท่านโปฎฐิละสงสัยว่า ทำไมพระพุทธองค์จึงตรัสเช่นนั้น เมื่อพิจารณาดูแล้วก็เห็นว่าจริง ท่านเป็นพระเรียนอย่างเดียว ไม่ได้ปฏิบัติอะไรเลย เมื่อมองดูจิตใจของตน ก็ไม่ต่างจากฆราวาสเลย ยังมีกิเลส โลภ-โกรธ-หลง อยู่ครบ

ท่านจึงเกิดความละอายใจ อยากจะปฏิบัติธรรมบ้าง เมื่อไปหาอาจารย์ตามที่ต่างๆ ก็ไม่มีใครกล้ารับ เพราะเห็นว่าท่านร่ำเรียนมามาก ไม่มีใครกล้าสอน มาขอฝึกกับพระลูกศิษย์ที่เป็นพระอรหันต์ ก็ไม่มีท่านใดยอมสอนเช่นกัน

เมื่อหมดทางเลือกท่านจึงไปขอฝึกกับสามเณรซึ่งเป็นลูกศิษย์ของตนเองแต่เป็นอริยบุคคล

เณรจึงทดสอบว่าท่านมีความจริงใจและลดอัตตาในการเป็นอาจารย์หรือยัง

จึงสั่งให้ท่านห่มผ้าให้เรียบร้อย แล้วให้ท่านโปฎฐิละ เดินลงไปในสระน้ำ ท่าน โปฎฐิละ ก็ทำตามคือเดินลงไปเรื่อยๆ ถามเณรว่าลงพอหรือยัง เณรซึ่งอยู่ริมตลิ่งก็ตะโกนบอกว่า “ยัง..ลงไปอีก” ท่านก็ลงไปเรื่อยๆจนเกือบถึงคอ เณรถึงสั่งให้พอ

ครั้นเมื่อเณรเห็นว่าท่านละทิฐิได้แล้ว จึงสอนวิธีกำหนดอารมณ์จับอารมณ์ให้รู้จักจิตของตน โดยยกอุบายขึ้นว่า

" ยิ้มตัวหนึ่งเข้าไปอยู่ในโพลงจอมปลวกซึ่งมีรูอยู่หกรู ถ้า ยิ้มเข้าไปในนั้น ทำอย่างไรจึงจะจับ ยิ้มได้?

" ท่านโปฎฐิละ ด้วยความเป็นผู้คงแก่เรียนมีปัญญามากอยู่แล้ว ก็เข้าใจคำสอนของเณรทันที และตอบเณรว่า

"จะจับ ยิ้ม ก็ต้องหาอะไรมาปิดรูไว้ก่อนห้ารู เหลือเพียงรูเดียวให้ ยิ้มออก แล้วคอยจ้องมองดูที่รูนั้น เมื่อ ยิ้มวิ่งออกมาเมื่อไรก็คอยดักจับเท่านั้นเองก็จะได้ ยิ้มโดยง่าย"

การกำหนดจิตก็เหมือนกับการจับ ยิ้ม ต้องปิดทวารทั้งห้า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เสียก่อน

คงเหลือกำหนดแต่จิตหรือใจเพียงอย่างเดียว แล้วใช้สติเป็นตัวคอยควบคุม ท้ายที่สุดพระตุจโฉโปฎฐิละ ก็บรรลุธรรม เลิกเป็นพระใบลานเปล่า...

ข้อคิดจากพุทธพจน์
วาจาสุภาษิต
ของผู้ทำไม่ได้ตามที่พูด
ย่อมไม่มีประโยชน์อะไร
ดุจดอกไม้สีสวย แต่ไร้กลิ่น

Cr. สีลเตโช ภิกขุ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่