หลักการง่ายๆ Cal in Cal Out เบาหวานก็หายได้ 😎

หลักการง่ายๆ Cal in Cal Out เบาหวานก็หายได้ 😎

🤔 ในช่วงหลังเรามักจะเห็นบทความฮือฮา เกี่ยวกับการหายจากเบาหวานด้วยการทานโภชนาการแบบคาร์บต่ำ หรือคีโตเจนิก แต่จริงๆถ้าได้อ่านงานวิจัยที่ถูกอ้างอิง เขาก็มักจะอ้างอิงถึงว่าการทานแบบจำกัดพลังงาน พลังงานต่ำรักษาเบาหวานได้ (และได้มานานแล้วด้วย) แต่ บลาบลาบลา เขาจึงมาใช้วิธีแบบ LC , Keto


😎 ประเด็นคือเมื่องานต่างๆ เหล่านี้มาแปลเป็นภาษาไทย ผู้ถ่ายทอดมักจะสื่อสารออกมาจนคนเข้าใจกันไปว่า อยากหายเบาหวานต้องทานโภชนาการแบบ Low carb หรือ Ketogenic เท่านั้น ที่เราเห็นงาน LC , Keto เยอะในช่วงหลังมาก เพราะมันมีความต่างจากวิธีเดิม มันเลยจัดเป็นการวิจัยใหม่ได้แค่นั้นเอง แต่คนที่ไม่เข้าใจก็จะคิดว่า วิธีเก่ามันใช้ไม่ได้แล้ว เขาถึงวิจัยวิธีใหม่กัน ซึ่งไม่ใช่เว้ย ๕๕

📚 งานนี้เป็นเรื่องของการทานโภชนาการแบบพลังงานต่ำ (Low Energy Diet, LED) เพื่อการรักษาให้หายจากเบาหวานประเภท 2 (T2DM Remission) เท่าที่ผมดูนะที่มันมีความต่างจากงานอื่นๆ ก็คือเขาจำกัดกลุ่มประชากรไปที่ กลุ่มชาติพันธ์ที่แตกต่าง จากกลุ่มชาติพันธุ์หลักใน UK 

📌 ซึ่งจริงๆเขาก็กล่าวไว้ว่า โภชนาการแบบ LED ที่เขาใช้อยู่เนี่ย มันก็ทำให้หายเบาหวานได้มาก่อนอยู่นะครับ หายภายใน 1 ปี 46% หายภายใน 2 ปี 36% แต่ว่า 98% ของผู้ป่วยเป็นคนผิวขาว เขาก็เจาะกลุ่มตั้งคำถามว่า แล้ววิธีนี้มันจะได้ผลยังไงกับคนที่ชาติพันธุ์แตกต่างกันออกไป (อันนี้ใครทำวิจัยก็คงเข้าใจดี) 

📝 เขาก็ไปศึกษาในกลุ่มคนที่มาเข้าโปรแกรมรักษาเบาหวานแบบกลุ่ม ที่ Hackney Diabetes Centre ก็ได้กลุ่มตัวอย่ามา 35 คน ชาย 20 หญิง 15 ทั้งหมดเป็นเบาหวานประเภท 2 มานานเฉลี่ย 4.2 ปี BMI อยู่ที่เฉลี่ย 34.4 อายุเฉลี่ย 50 ปี มาเข้าโปรแกรมในช่วง 2019 - 2020 โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ที่แบ่งนี่น่าจะเป็นแค่เรื่องการทำงานของเขา ไม่ได้เกี่ยวกับการทำอะไรแตกต่างกัน

🥤 อาหารที่ให้ทานเนี่ย เป็นอาหารพลังงานต่ำ เป็น Diet replacement แล้วก็ให้ดื่มเครื่องดื่มเป็น นมไขมันต่ำชงร้อน 50ml พลังงานรวมราว 825-853 แคล ถ้าดูสัดส่วนสารอาหาร คาร์โบไฮเดรต 61% ไขมัน 13% และโปรตีน 26% มีให้ทาน Fybogel พร้อมกับพวกเครื่องดื่ม 0 แคล 2.25 ลิตร เพื่อป้องกันการท้องผูกด้วย (ไม่ใช่ว่าน้ำหนักลดเพราะขี้แตกนะ ๕๕) ช่วงนี้ 12 สัปดาห์

🍛 จากนั้นต่อไปอีก 9 สัปดาห์ เริ่มกลับมาทานอาหาร ที่ 360-400 แคลต่อมื้อ เขาก็ให้ข้อมูลเรื่องการเลือกการจัดการทำอาหาร หลังจากนั้นอีก 31 สัปดาห์ เป็นช่วงที่ให้รักษาระดับการลดน้ำหนัก (Weight loss maintenance) ก็พยายามไม่ให้น้ำหนักกลับมาเกิน 2kg ภายในช่วงจบโปรแกรม ถ้าน้ำหนักเพิ่มมากกว่า 2kg ก็จะมีให้กลับมาทำโปรแกรมใหม่

🚶🏻พวกกิจกรรมการออกกำลังกายต่างๆ ในช่วงทาน Replacement เขาไม่แนะนำให้ออกกำลังกายหนัก (ก็โอเค เพราะกินโคตรน้อย น่าจะเป็นลม๕๕) จากนั้นก็ค่อยเพิ่มระดับความหนักได้ในตอนที่ให้ทานอาหารแล้ว ซึ่งก็แนะนำให้ออกได้ตามเกณฑ์สุขภาพที่ WHO แนะนำ 150 นาทีต่อสัปดาห์นะครับ ไม่ได้หักโหมมาก

🔎 ผลที่ได้หลังจากจบโปรแกรมหายจากเบาหวานประเภทสอง 65.7% เฉลี่ยลด HbA1c ได้ 3.6% หลังจากเข้าโปรแกรมครบ 1 ปี น้ำหนักลดหลังจากครบ 3 เดือนแรกเฉลี่ย 14.2kg และเมื่ออยู่จนครบ 12 เดือน น้ำหนักขึ้นมาบ้าง มาจบที่เฉลี่ย 11.6kg ก็มีข้อมูลรายละเอียดอื่นๆอีกนะครับ ใครสนใจก็ไปอ่านต่อในงานต้นฉบับเขาได้เลย

📌 โดยสรุปในงานของเขาเนี่ย เขาเขียนบอกว่ามันก็เป็นหลักฐานว่าโปรแกรมดังกล่าวก็ได้ผลในกลุ่มคนที่เป็นคนชาติพันธุ์ต่างๆ ในลอนดอนได้ ซึ่งจริงๆมันก็ได้แหละ จริงๆพวกงานที่เป็นโภชนาการแบบอื่นๆ ถ้าไปดูถึงรายละเอียดการทานอาหารจริงๆ มันก็มีประเด็นอยู่ที่ว่าทำไงให้ลดน้ำหนักได้ และทำไงให้อยู่ในโปรแกรมได้นาน พอที่จะเห็นผลของการปรับเปลี่ยน นี่คือจุดสำคัญนะครับ

😎 ส่วนจะเลือกทำแบบไหนวิธีอะไร ก็เอาที่ชอบเอาที่ศรัทธาเลย หลักๆแล้วลดความอ้วนได้ ลดน้ำหนักได้ คุมสิ่งที่ทำให้อยู่ได้นานเพียงพอ มันก็มีโอกาสหายเบาหวานได้ครับ ไม่ได้จำเป็นว่าต้องทานแบบ LC หรือ Keto เพียงอย่างเดียว

ที่มาและแหล่งอ้างอิง
https://www.fatfighting.net/article-2022-08-08-low-energy-diet-programme-in-achieving-type-2-diabetes-remission-and-weight-loss/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่