การรักษาทางกายภาพบำบัดในผู้ที่มีอาการปวดเข่า

กระทู้สนทนา
การวิ่งเป็นกีฬาที่สามารถเริ่มต้นได้ในทุกเพศทุกวัย โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์มากมาย และยังสามารถออกกำลังกายได้ทุกที่  
ในขณะที่เราวิ่งจะมีการลงน้ำหนักไปที่ส้นเท้า ดังนั้นข้อเข่าและข้อเท้าจึงได้รับแรงกระแทก ในนักวิ่งที่วิ่งมาเป็นระยะเวลาหลายปี
หรือระยะทางไกล  โดยไม่ได้มีการออกกำลังอย่างถูกวิธี จะพบว่ามีอาการปวดที่ข้อเข่าเกิดขึ้น และโรคที่พบส่วนใหญ่ในนักกีฬาประเภทนี้
คือ โรค Chondromalacia  จะพบมากในวัยกลางคนช่วงอายุ 25-40 ปี เพศหญิงมากกว่าเพศชาย
               สาเหตุของการเกิดโรค
                       1. เกิดจากการใช้งานมากๆ เดินมาก หรือใช้งานเข่าในลักษณะที่ต้องรับแรงกระแทกมากๆ เช่น นั่งงอเข่า กระโดด วิ่ง
                       2. เกิดจากกล้ามเนื้อรอบๆเข่าไม่แข็งแรง ไม่กระชับ
                       3. เกิดจากอุบัติทำให้เกิดการบาดเจ็บที่ผิวสะบ้า
        
               อาการของโรค
                         ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเข่าโดยเฉพาะด้านหน้าเข่า  มีเสียงดังในเข่า อาการจะเจ็บมากเวลาขึ้นลงบันได ลุกเปลี่ยนท่า
หรือนั่งคุกเข่า พับเพียบ ขัดสมาธิ ลักษณะเข่าที่ต้องงอมากๆ  เนื่องจากจะมีแรงกระทบไปที่กระดูกสะบ้ามากขึ้น
การเดินทางราบอาการเจ็บไม่มากนัก และโดยภาพรวมแล้วอาการปวดมักไม่รุนแรง จะปวดลักษณะรำคาญ เรื้อรัง เป็นๆ หายๆ
แต่หากมีอาการกำเริบก็จะปวดมากขึ้นเป็นบางครั้งได้ อาจจะมีอาการบวม ร้อนที่เข่าเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย
               
               การรักษาทางกายภาพบำบัด
                         ในกรณีที่ผู้ป่วยอยู่ในระยะที่ยังมีอาการปวดมากๆ นักกายภาพบำบัดจะทำการลดอาการปวดด้วยการ
ใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัด เช่น Ultrasound ใช้เทปเพื่อลดอาการปวด เป็นต้น  และแนะนำให้ใส่อุปกรณ์พยุงข้อเข่า
เพื่อลดอาการปวด
                         ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงท่าทางที่จะทำให้เกิดแรงกดในสะบ้าสูงขึ้น เช่น การนั่งคุกเข่า การนั่งพับเพียบ นั่งยองๆ
หรือว่านั่งขัดสมาธิ หลังจากที่อาการปวดลดลงควรออกกำลังกายกล้ามเนื้อรอบๆข้อเข่าเพื่อให้เข่ากระชับ ลดการเสียดสี และแรงกดที่เข่า
เช่นการปั่นจักรยาน  หากอาการไม่ดีขึ้น นักกายภาพบำบัดอาจส่งปรึกษาแพทย์เพื่อทำการผ่าตัด
             
               การป้องกันการเกิดโรค
                        การป้องกันสามารถทำได้ตั้งแต่ที่ยังไม่มีอาการ โดยการฝึกกล้ามเนื้อรอบเข่าให้แข็งแรง และเพิ่มความความยืดหยุ่น
และปรับการเคลื่อนไหวรวมถึงปรับท่าทางในการวิ่ง ให้สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างถูกต้อง ในผู้ที่มีน้ำหนักมากควรลดน้ำหนัก
ให้อยู่ในช่วงที่เหมาะสมกับร่างกาย ก่อนเริ่มวิ่งควรมีการอบอุ่นร่างกายเพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับการออกกำลังกาย
และทำการ cool downและยืดกล้ามเนื้อ หลังการออกกำลังกาย เพื่อป้องกันการบาดเจ็บจากการออกกำลังกาย

บทความโดย ฟิสิคอลคลินิกกายภาพบำบัด
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่