"เปียเชเร่, จีโรลาโม ตร็อมเบ็ตต้า"
วลีนี้มีความหมายว่าอะไรกันนะ?
.
.
ไม่แน่ใจว่าตั้งกระทู้นี้ช้าไปหรือไม่ เพราะผมเพิ่งมีโอกาสได้รับชมการ์ตูนเรื่องนี้เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา แต่ด้วยความที่เรียนภาษาอิตาเลียนมานานกว่า 4 ปี ประกอบมีคนรู้จักมาถามความหมายของวลีสุดท้ายที่อัลแบร์โตกล่าวกับลูก้า เลยอยากนำความหมายของวลีนี้มาเล่าสู่กันฟังครับ
อย่างที่หลายท่านน่าจะทราบกันดีว่าภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่องนี้มีผู้กำกับเป็นชาวอิตาเลียน คือคุณเอนริโก คาซาโรซา (Enrico Casarosa) ผู้กำกับวัย 49 ปีชาวเมืองเจนัว เป็นเหตุให้ภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถนำเสนอความเป็นอิตาเลียนโดยเฉพาะเมืองท่าริมทะเลลิกูเรียได้อย่างดีเยี่ยมสมจริง
ตลอดทั้งเรื่อง คุณคาซาโรซาจงใจใส่ประโยคหรือวลีอิตาเลียนไว้หลายจุดโดยไม่แปลเป็นภาษาอื่น จะว่าเป็นเพราะต้องการคงความเป็นอิตาเลียนไว้ก็ส่วนหนึ่ง แต่ที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือบางข้อความไม่สามารถแปลเป็นภาษาอื่นได้ อาทิ "Piacere, Girolamo Trombetta." ที่ดูเหมือนจะเป็น hidden message ประจำเรื่อง ถ้าหากใครแปลออกก็คงเข้าใจในความสัมพันธ์ระหว่างคู่ตัวละครเอกได้อย่างไรอย่างนั้น...
อันที่จริง อัลแบร์โต สกอร์ฟาโน เคยพูดสิ่งนี้มาแล้วครั้งหนึ่ง ถ้ายังจำกันได้คือตอนที่ตัวเขาเพิ่งขึ้นฝั่งพร้อมกับลูก้า ปากูโร เป็นครั้งแรก ทั้งคู่ได้สัมผัสมือกัน ซึ่งในจุดนี้ขอให้สังเกตวิธีการจับมือของสองหนุ่มไว้ให้ดี แม้อัลแบร์โตจะบอกลูก้าว่าเขาไม่เข้าใจความหมายของคำนี้ แต่ชาวอิตาเลียนมีคำตอบให้เราครับ
ว่าแล้วก็ขอแสดงความเสียใจกับบางท่านที่คิดว่ามันเป็นคำบอกรักหรืออะไรก็ตามที่ส่อแววไปในเชิงความรักใคร่หวานซึ้ง เพราะอันที่จริงแล้ว มันเป็นเพียงวลีที่เด็กๆในอิตาลีพูดอำกันเล่น เพื่อล้อเลียนกิริยาการจับมือของพวกเขา
วลีนี้สามารถแยกออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ เปียเชเร่ (piacere), จีโรลาโม่ (girolamo) และ ตร็อมเบ็ตต้า (trombetta)
ในส่วนของ เปียเชเร่ ท่านใดที่เคยเรียนภาษาอิตาเลียนแม้เพียงเบื้องต้นก็คงเคยได้ยินความหมายของคำนี้มาแล้ว
ความหมายที่แท้จริงของ piacere คือ ความยินดี (หากเป็นคำนาม) หรือ รู้สึกยินดี (หากเป็นกริยา) แต่ถ้าหากอยู่เดี่ยวๆ คำนี้จะถูกใช้ในความหมายว่า "ยินดีที่ได้รู้จัก" ชาวอิตาเลียนมักจะพูดกับคนที่เพิ่งรู้จักกันเป็นครั้งแรก เมื่อได้แนะนำตัวกันและกัน เช่น Mi chiamo Patrizio, piacere! (ฉันชื่อปาทริตซิโอ ยินดีที่ได้รู้จักนะ!)
ส่วน จีโรลาโม่ (girolamo) นี้จำเป็นต้องแปลละเอียดกันสักหน่อย เพราะมันเป็นคำที่ไม่มีความหมาย แต่เกิดจากการรวบคำระหว่างคำว่า จีโร (giro) + ลา (la) + มาโน่ (mano) อันหมายความว่า "ฉันหมุนมือ"
จีโร (giro) ผันมาจากคำกริยาดั้งเดิมว่า จีราเร (girare) แปลว่า "หมุน, บิด" คำกริยาในภาษาอิตาเลียนจะเปลี่ยนรูปตามประธาน ประธานในประโยคที่มีพจน์และบุรุษต่างกัน ได้แก่ ฉัน, เธอ, เขา, พวกเรา, พวกเธอ และ พวกเขา จะส่งผลให้รูปกริยาของแต่ละประธานแตกต่างกันออกไปด้วย อย่างในคำกริยาว่า girare ถ้าประธานในประโยคเป็น "เธอ" ในประโยคบอกเล่า รูปปัจจุบัน ก็จะใช้ว่า จีรี (giri) ถ้าเป็น "เขา" ก็จะใช้ว่า จีรา (gira) เป็นต้น
ลา (la) เป็นคำนำหน้า (article) ของคำนามเอกพจน์ เพศหญิง (ภาษาอิตาเลียนจะแบ่งคำศัพท์เป็นเพศชาย-เพศหญิง)
มาโน่ (mano) แปลว่า มือ ... คำนี้เป็นคำที่นักเรียนภาษาอิตาเลียนต้องจำให้ขึ้นใจ เพราะส่วนใหญ่คำนามเอกพจน์เพศหญิงมักจะลงท้ายด้วย a ส่วนคำนี้เป็นคำที่แหกกฎ ลงท้ายด้วย o เหมือนคำเพศชาย แต่ก็ดันเป็นเพศหญิงเสียอย่างนั้น
เมื่อพูด Giro la mano เร็วๆ จึงควบรวมกันเป็น girolamo ซึ่งฟังดูคล้ายกับชื่อคนผู้ชาย
ทีนี้ก็ถึงคิวของ ตร็อมเบ็ตต้า (trombetta) ซึ่งแปลว่า "ทรัมเป็ต" ที่ผมบอกให้จำวิธีการจับมือของทั้งคู่ไว้ ... มันจะได้ใช้ก็คราวนี้ละครับ
แทนที่จะจับและเขย่ามือแบบที่เราเห็นกันทั่วไป เด็กอิตาเลียนอย่างอัลแบร์โตกลับเลือกจะจับมือลูก้า หมุนซ้ายหมุนขวา ก่อนจะดึงมือเข้าออกหากัน แน่นอนว่าเป็นวิธีการจับมือเล่นๆ ไม่เป็นทางการ
แม้ว่าจริงๆแล้ว ตร็อมเบ็ตต้า จะหมายถึง "ทรัมเป็ต" แต่ในวลีนี้กลับสื่อถึง "ทรอมโบน" ซึ่งเป็นเครื่องเป่าลมทองเหลืองอีกชนิดหนึ่ง สังเกตได้จากท่าดึงมือเข้าออกที่เหมือนกับการดึงสไลด์ทรอมโบนขณะเป่านั่นเอง
เรื่องนี้ได้รับการยืนยันจากตัวคุณเอนริโก คาซาโรซาเอง ว่ามันเป็นเพียงการเล่นคำของเด็กอิตาเลียน ที่ตัวเขาเคยเล่นสมัยยังเป็นเด็กอยู่เท่านั้น
คำว่า "จีโรลาโม่ ตร็อมเบ็ตต้า" นั้นฟังดูคล้ายชื่อ-นามสกุลคนอิตาเลียนมาก เมื่อนำคำทั้งหมดมารวมกับท่าจับมือดังกล่าวแล้ว "เปียเชเร่, จีโรลาโม่ ตร็อมเบ็ตต้า" จะให้ความหมายว่า "ยินดีที่ได้รู้จัก ฉันคือจีโรลาโม่ ตร็อมเบ็ตต้า (เล่นคำกับ ฉันหมุนมือ-ทรอมโบน)"
นอกจาก "เปียเชเร, จีโรลาโม่ ตร็อมเบ็ตต้า" แล้ว วลีนี้ยังมีสำนวนอื่นๆที่คล้ายกันอีก เช่น เปียเชเร, จีโรลาโม่ เซเก็ตตี (piacere, girolamo seghetti) บางคำก็หยาบคาย ทะลึ่ง หรือสองแง่สองง่าม ซึ่งถูกใช้แตกต่างกันไปตามท้องถิ่นหรือวัยของผู้พูดอีกด้วยครับ
อ้างอิง :
ภาพประกอบ :
"Piacere, Girolamo Trombetta." ชำแหละภาษาอิตาเลียนจากวลีเด็ดในภาพยนตร์เรื่อง Luca
อย่างที่หลายท่านน่าจะทราบกันดีว่าภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่องนี้มีผู้กำกับเป็นชาวอิตาเลียน คือคุณเอนริโก คาซาโรซา (Enrico Casarosa) ผู้กำกับวัย 49 ปีชาวเมืองเจนัว เป็นเหตุให้ภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถนำเสนอความเป็นอิตาเลียนโดยเฉพาะเมืองท่าริมทะเลลิกูเรียได้อย่างดีเยี่ยมสมจริง
ตลอดทั้งเรื่อง คุณคาซาโรซาจงใจใส่ประโยคหรือวลีอิตาเลียนไว้หลายจุดโดยไม่แปลเป็นภาษาอื่น จะว่าเป็นเพราะต้องการคงความเป็นอิตาเลียนไว้ก็ส่วนหนึ่ง แต่ที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือบางข้อความไม่สามารถแปลเป็นภาษาอื่นได้ อาทิ "Piacere, Girolamo Trombetta." ที่ดูเหมือนจะเป็น hidden message ประจำเรื่อง ถ้าหากใครแปลออกก็คงเข้าใจในความสัมพันธ์ระหว่างคู่ตัวละครเอกได้อย่างไรอย่างนั้น...