Celera 500L ตัวเปลี่ยนเกมส์อุตสาหกรรมการบินในอนาคตหลังวิกฤตโควิด-19??

ไม่อยากเสี่ยงนั่งแออัดกับคนเป็นร้อยบนเครื่อง ไม่อยากเสียเวลารอเช็คอินเนิ่นนานที่สนามบิน เจ้าเครื่องบินเล็ก 6 ที่นั่งรูปร่างเหมือนบอลลูนตรวจการนี้อาจเป็นคำตอบ  smile

 
เจ้าเครื่องบินหน้าตามู่ทู่เหมือนบอลลูนนี้พัฒนาโดย OTTO Aviation บริษัทสัญชาติอเมริกัน เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมา
แล้วมันจะมาเปลี่ยนเกมส์ได้ยังไง??
สำหรับรูปร่างของเครื่องบินเขาตั้งใจออกแบบให้ออกมาหน้าตาเป็นแบบนี้ครับ เพราะต้องการบังคับให้กระแสอากาศที่ไหลผ่านตัวเครื่องนั้นเป็นการไหลแบบราบเรียบหรือการไหลแบบลามินา (Laminar Flow) ซึ่งจะช่วยลดแรงต้านอากาศได้กว่า 59% เมื่อเทียบกับรูปทรงเครื่องบินโดยสารปกติที่เราเห็นกัน

เมื่อกระแสอากาศไหลผ่านได้อย่างราบเรียบรอบตัวเครื่องก็จะมีแรงต้านอากาศน้อยลง

และด้วยการออกแบบให้ใบพัดอยู่ด้านหลังเครื่อง พร้อมช่องระบายไอเสียที่มีอุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อนและท่อรีดไอเสียเพื่อเพิ่มแรงขับทำให้ Celera 500L สามารถทำความเร็วบินร่อนได้ที่ 740 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แทบไม่แตกต่างจากเครื่องบินเจทส่วนตัวในปัจจุบัน

แต่ที่ทำได้ดีกว่าแบบไม่เห็นฝุ่นคืออัตราการใช้เชื้อเพลิงที่น้อยกว่า 8 เท่า ซึ่งทำให้สามาถเพิ่มระยะการบินได้ไกลถึง 7,250 กิโลเมตร มากกว่าเครื่องบินเจทส่วนในปัจจุบันกว่าเท่าตัว

ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายในการบินต่อชั่วโมงต่ำกว่าเครื่องบินโดยสารส่วนตัวเกือบ 7 เท่า
สำหรับ Celera 500L นั้นขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ลูกสูบประสิทธิภาพสูง A03 V12 ของ Raikhlin Aircraft Engine Developments (RED) ให้กำลังสูงสุด 550 แรงม้า ใช้ได้ทั้งน้ำมันเครื่องบินปกติและ BioDiesel

โดยทาง OTTO Aviation เครมว่าสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 80% เมื่อเทียบกับเครื่องบินเล็กในปัจจุบันหรือกว่า 40% เมื่อเทียบกับเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่

และการที่เครื่อง Celera 500L ลำตัวใหญ่เหมือนบอลลูนก็มีข้อดีอีกอย่างคือทำพื้นที่ในห้องโดยสารกว้างจนสามารถยืนได้ในเครื่อง

ภาพเปรียบเทียบขนาดในห้องโดยสารเทียบกับเครื่องบินเล็กขนาด 6 ที่นั่งอื่น ๆ

ตรงนี้หลายคนอาจสงสัย คือเครื่องบินเล็กขนาด 6-8 ที่นั่งนี่โดยปกติยืนบนเครื่องไม่ได้ครับเพราะหลังคาเตี้ยต้องเดินก้มตลอด
แต่ทั้งนี้ในรุ่นเปิดตัวนี้ถ้าสังเกตมันยังไม่มีหน้าต่างในห้องโดยสารนะครับ แต่ทางบริษัทก็มีแผนจะพัฒนารุ่นวางจำหน่ายจริงให้มีหน้าต่างห้องโดยสารเหมือนเครื่องบินปกติ โดยต้องมีการออกแบบเป็นพิเศษเพื่อไม่ให้กระทบการไหลของอากาศแบบลามินารอบตัวเครื่อง

จุดเด่นของเจ้า Celera 500L อีกอย่างนั้นคือมันใช้ทางวิ่งออกตัวเพื่อทำการบินสั้นเพียง 1 กิโลเมตร ทำให้สามารถขึ้นลงสนามบินเล็กได้เกือบทุกที่
นั่นทำให้ Celera 500L สามารถทำหน้าที่เป็นแทกซี่อากาศได้เลยทีเดียว เพราะบินได้ไกลโดยไม่ต้องพักเติมน้ำมันและขึ้นลงได้เกือบทุกสนามบิน

และด้วยค่าใช้จ่ายที่ต่ำลงอย่างมากจนค่าโดยสารอาจจะไม่แตกต่างจากตั๋วโดยสารเที่ยวบินพานิชย์ปัจจุบัน แต่ได้ความ Privilege ในการโดยสารแบบส่วนตัวกลุ่มเล็กไม่เกิน 6 คน ลดความเสี่ยงติดโควิด-19 แถมขึ้นลงสนามบินเล็กได้ทำให้ไม่ต้องไปแออัดรอเช็คอินแบบที่ต้องเจอตามสนามบินใหญ่ ๆ

ทางบริษัทยังมีแผนพัฒนา CELERA 1000L ซึ่งเป็นรุ่นถัดไปที่มีขนาดใหญ่ขึ้นจุผู้โดยสารและสัมภาระได้มากขึ้น
ทั้งนี้ด้วยการที่เครื่องมีลำตัวใหญ่ดังนั้นจึงทำให้มันสามารถใช้เป็นเครื่องบินขนส่งสินค้า ที่ทำการบินส่งสินค้าไปทั่วประเทศแบบวันเดียวถึงมือผู้ซื้อได้ด้วย

OTTO Aviation มีแผนเริ่มให้บริการเที่ยวบินเชิงพานิชย์ภายในปี 2021 ก่อนจะหาโรงงานผลิตและอนุมัติแบบโดย FAA ภายในปี 2023 และส่งมอบให้กับสายการบินหรือลูกค้าภายในปี 2025

ทั้งนี้ไม่ต้องแปลกใจหากเครื่องบินของ OTTO Aviation นี้จะหน้าตาคล้ายลูกระเบิดทิ้งจากเครื่องบินเพราะ William Otto หนึ่งในกรรมการบริษัทและหัวหน้าทีมวิทยาศาสตร์นั้นเคยทำงานในห้องปฏิบัติการ Los Alamos ที่พัฒนาระเบิดนิวเคลียร์และตอปิโดให้กับกองทัพมาก่อน

นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญนาจานี่หน้าตาเหมือนลูกระเบิด

ก็ไม่น่าเชื่อนะครับว่าเทคโนโลยีที่ใช้ทำลูกระเบิดยักษ์นี้ จะเอามาใช้ทำเครื่องบินก็ได้ แถมมีข้อดีที่อาจจะมาเป็นตัวเปลี่ยนเกมส์ในอุตสาหกรรมการบินเลยทีเดียว 
 
ว่าแต่ถ้าอีกหน่อยเครื่องบินเล็กเริ่มฮิต ใคร ๆ ก็บินได้ บ้านไหนอยากบินก็บิน การจราจรทางอากาศคงคับคั่งวุ่นวายกันน่าดู 
-------------------------------------------------------------------------------------------
Source:
https://interestingengineering.com/the-celera-500l-can-potentially-shake-up-the-private-aviation-industry
https://www.thedrive.com/the-war-zone/36016/the-potentially-revolutionary-celera-500l-officially-breaks-cover
https://www.ottoaviation.com/opportunities
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่