EXCLUSIVE:KBANK เตรียมปรับลดเป้าสินเชื่อปีนี้ลง จากเดิมคาดโต 8-9%

กระทู้สนทนา
16:27  21/04/2015  
EXCLUSIVE:KBANK เตรียมปรับลดเป้าสินเชื่อปีนี้ลง จากเดิมคาดโต 8-9%  

* เตรียมปรับลดเป้าสินเชื่อปีนี้ลง จากเดิมคาดโต 8-9%
* มองแนวโน้ม NPLs ยังอยู่ในช่วงขาขึ้น ตามเศรษฐกิจชะลอ
* หวังภาครัฐเร่งออกมาตรการช่วยกระตุ้น หลังส่งออก-การบริโภคชะลอ

โดย มนันพัทธ์ ธนนันท์พร

กรุงเทพฯ--21 เม.ย.--รอยเตอร์

ธ.กสิกรไทยKBANK ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่อันดับ 4
ของไทย เตรียมปรับเป้าสินเชื่อปีนี้ลง จากเดิมที่ตั้งเป้าสินเชื่อโต 8-9% สอดคล้อง
กับภาวะเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัว และผลประกอบการของธนาคารในไตรมาส 1/58
"เราจะมีการ review ในแง่ของ loan growth ปีนี้ลง และ
credit cost อาจเพิ่มขึ้นบ้าง ภายหลังจากที่งบไตรมาส 1/58 ออกมาแล้ว
ซึ่งคาดว่าในช่วงปลายเดือนนี้จะทราบตัวเลขที่ชัดเจน" นายธีรนันท์ ศรีหงส์
กรรมการผู้จัดการ KBANK กล่าวกับ"รอยเตอร์"
โดยขณะนี้ธนาคารอยู่ระหว่างการพิจารณาที่จะปรับเป้าสินเชื่อปีนี้ลง
หลังจากผลประกอบการในไตรมาส 1/58 ออกมาแล้ว
วานนี้ KBANK แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯว่า ไตรมาส 1/58 มีกำไรสุทธิ
1.24 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.87% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และสูงกว่าที่
นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ 1.22 หมื่นล้านบาท ขณะที่สินเชื่อในไตรมาสแรกอยู่ที่
1.5 แสนล้านบาท ขยายตัว 1.29% จากสิ้นปีก่อน
ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPLs) อยู่ที่ 2.26% จาก 2.24%
เมื่อสิ้นปี 57 และก่อนหน้านี้ KBANK คาดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ก่อนหัก
สำรอง(Gross NPLs) ปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 2.2-2.3%
ขณะที่ก่อนหน้านั้น ธ.กรุงเทพBBL ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์
ขนาดใหญ่อันดับหนึ่งของไทย ตั้งเป้าสินเชื่อปีนี้โต 3-5% และคาด NPLs
ใกล้เคียงปีก่อนที่ 2.37%
ส่วนธ.ไทยพาณิชย์SCB ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่
อันดับสามของไทย ตั้งเป้าสินเชื่อปีนี้โต 5-7% และคาด NPLs สิ้นปีนี้ที่ 2.1
-2.3%
นายธีรนันท์ กล่าวว่า ขณะนี้ธนาคารได้ปรับประมาณการขยายตัวทาง
เศรษฐกิจไทยปีนี้ลงเหลือโต 2.8% จากเดิมคาดโต 4% หลังปัจจัยขับเคลื่อน
เศรษฐกิจไทย ในเรื่องการบริโภคภายในประเทศยังคงอ่อนแอ เนื่องจากความ
เชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจยังไม่ดีนัก ทำให้ภาคธุรกิจระมัดระวังในการลงทุน ขณะที่
ผู้บริโภคยังชะลอใช้จ่าย และส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาหนี้ครัวเรือน
อีกทั้งภาคการส่งออกของไทยยังไม่ฟื้นตัว เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลก
ที่ยังมีปัญหาจากเดิมที่คาดว่าการส่งออกจะขยายตัว แต่ในขณะนี้การส่งออกหดตัว
ทำให้ปัจจัยที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ มีเพียงตัวเดียว คือ การ
ลงทุนภาครัฐ
"ขณะนี้คงขึ้นอยู่กับมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ จะออกมาภายในปีนี้
จะเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการใช้จ่าย และถ้าหากราคาพืชผลเกษตรโลก
ปรับตัวดีขึ้น ก็จะมาช่วยการจับจ่ายใช้สอยภาคเอกชน" กรรมการผู้จัดการ KBANK
กล่าว
เขา กล่าวว่า สำหรับแนวโน้ม NPLs ยังอยู่ในช่วงขาขึ้นแต่ไม่มาก ซึ่ง
เป็นไปตามการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และในช่วงนี้อาจปรับขึ้นลงบ้างแต่ไม่มาก
โดย NPLs ที่เพิ่มขึ้นนั้น มาจากภาคธุรกิจขนาดกลางและย่อม(SMEs) โดยเฉพาะ
ธุรกิจขนาดเล็กและลูกค้ารายย่อย
เขา กล่าวอีกว่า ธุรกิจขนาดเล็กประสบปัญหาเงินทุน ส่วนลูกค้ารายย่อย
ประสบปัญหาจากราคาพืชผลเกษตรที่ตกต่ำ ทำให้รายได้ลดลง และการใช้จ่ายก็ลดลง
ตามไปด้วย และลุกค้ารายย่อยก็ประสบปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น แต่หนี้
ครัวเรือนที่พบส่วนใหญ่ เป็นหนี้ที่อยู่อาศัย
"เมื่อช่วงปี 2004-2005 และช่วง 2010-2011 เป็นช่วงที่เศรษฐกิจ
ขาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเราจะเห็น NPLs ที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ในขณะนี้
เศรษฐกิจชะลอตัว เราก็จะเห็นการเพิ่มขึ้นของ NPLs ซึ่งไม่น่าเป็นห่วงเหมือนตอน
วิกฤตปี 1997 เพราะภาคเอกชนไม่ได้มีการก่อหนี้มากนัก" นายธีรนันท์ กล่าว
ราคาหุ้น KBANK ช่วงท้ายภาคบ่าย ลบ 0.43% มาที่ 232 บาท
ขณะที่ดัชนีหุ้นไทยบวก 0.59%--จบ--

(โดย มนันพัทธ์ ธนนันท์พร รายงานและเรียบเรียง--บร--)
((manunphattr.dhanananphorn@thomsonreuters.com;
โทร.0-2648-9722;
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่