ใครเป็นบ้าง ‘หูอื้อ’ , 6 สัญญาณเตือน ป้องกันก่อนเกิดอัมพาต

ใครเป็นบ้าง ‘หูอื้อ’ อาจเป็นสัญญาณอันตรายของโรคบางอย่าง

‘หูอื้อ’ อาจเป็นสัญญาณอันตรายของโรคบางอย่างได้ เปิดเคล็ดลับวิธีรับมือกับอาการ ‘หูอื้อ’ อ่านเลย...
วันนี้ “เดลินิวส์” นำบทความจากเพจรามาแชนแนลโดย “อ.พญ.เนาวรัตน์ ตั้งบำรุงธรรม” ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า  “หู” เป็นอวัยวะสำคัญที่ไม่เพียงแค่ช่วยเรื่องการได้ยินเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่เรื่องการทรงตัวของร่างกายอีกด้วย หลายคนคงเคยมีอาการหูอื้อกันมาบ้าง หลายครั้งก็หายได้เองโดยไม่ต้องทำอะไรมาก แต่บางครั้ง อาการหูอื้อ อาจเป็นสัญญาณอันตรายของโรคบางอย่างได้

“หูอื้อ” คือ การได้ยินเสียงที่ลดน้อยลงจากปกติหรือมีเสียงในหู อาจเกิดได้กับหูชั้นนอก หูชั้นกลาง และหูชั้นใน โดยหูชั้นนอกประกอบด้วยใบหูและรูหู หากมีสิ่งแปลกปลอมอุดตันบริเวณนี้ เช่น มีขี้หูหรือมีน้ำในหูจะทำให้หูอื้อได้ ถัดมาเป็นหูชั้นกลาง ประกอบด้วยแก้วหูและกระดูกเล็ก ๆ 3 ชิ้น หากแก้วหูทะลุ มีการอักเสบหรือมีน้ำขังในหูอาจทำให้หูอื้อได้เช่นกัน และชั้นในสุดคือหูชั้นใน ประกอบด้วยอวัยวะรับฟังเสียงรูปก้นหอยและเส้นประสาทหู หากมีการเสื่อมหรือบาดเจ็บก็เป็นสาเหตุให้เกิดหูอื้อได้


สาเหตุของหูอื้อ มีอาการหูอื้อเกิดได้จากหลายสาเหตุ แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ๆ  คือ ส่วนการนำเสียง และส่วนประสาทการรับฟังเสียง 

หูอื้อจากส่วนนำเสียงบกพร่อง อาจเกิดจากการมีขี้หู น้ำในหู มีสิ่งแปลกปลอมอยู่ข้างใน แล้วเกิดการติดเชื้อในหูชั้นกลาง หรือเกิดแก้วหูทะลุ 
หูอื้อจากประสาทการรับฟังเสียง สังเกตได้ว่าเมื่ออายุมากขึ้น การได้ยินเสียงมักแย่ลง เพราะประสาทการรับฟังเสียงบกพร่องไปตามวัยนั่นเอง
แก้ อาการหูอื้อ ด้วย 4 วิธีนี้ ได้ผลจริงหรือ

อาการหูอื้อทำให้รู้สึกไม่สบายหู หลายคนอาจเคยแก้อาการหูอื้อด้วยวิธีต่าง ๆ กันมาบ้าง วิธีเหล่านี้ได้ผลแค่ไหน

วิธีที่ 1 ใช้ไม้แคะหู
วิธีนี้ไม่จริง แม้ว่าขี้หูอุดตันอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของอาการหูอื้อ แต่ไม่แนะนำให้ใช้ไม้แคะ เนื่องจากขี้หูอาจถูกดันเข้าไปลึกขึ้น อุดตันมากขึ้น หากไม่ระวังอาจเกิดการบาดเจ็บของหูชั้นนอกหรือเกิดแก้วหูทะลุได้ ทำให้เกิดการติดเชื้อหรือการได้ยินลดลง โดยปกติแล้วขี้หูสามารถออกมาเองได้โดยไม่ต้องแคะ แต่หากมีขี้หูมาก ขี้หูเหนียว จนเกิดการอุดตันภายในรูหูควรมาพบแพทย์เพื่อเอาออกอย่างถูกต้อง

วิธีที่ 2 นวดหู
วิธีนี้ไม่จริง การนวดหูอาจช่วยให้รู้สึกสบายหูด้านนอก แต่ไม่ได้ช่วยแก้อาการหูอื้อ หากเกิดอาการปวดหูแล้วรู้สึกดีขึ้นอาจเป็นเพราะอาการหูอื้อที่เป็นอยู่ใกล้จะหายพอดี

วิธีที่ 3 หยอดน้ำใส่หูแล้วเอียงออก
วิธีนี้ไม่จริง เพราะจะยิ่งทำให้มีน้ำในหูมากขึ้น และอาจเกิดหูอักเสบติดเชื้อได้ ขณะอาบน้ำจึงควรระวังไม่ให้น้ำเข้าหู หากต้องการใช้คอตตอนบัดเช็ดออก ควรเช็ดเฉพาะภายนอกใบหูเท่านั้น 

วิธีที่ 4 บีบจมูก กลืนน้ำลาย
วิธีนี้จริงเป็นบางกรณี เพราะหูอื้อเกิดได้จากหลายสาเหตุ หากหูอื้อเพราะความผิดปกติจากการทำงานของท่อปรับความดันในหูชั้นกลาง การใช้มือบีบจมูกแล้วกลืนน้ำลาย หรือบีบจมูกแล้วปิดปากเบ่งลมออกจะช่วยให้อาการหูอื้อดีขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม ควรระมัดระวังไม่ทำแรงเกินไป และไม่ควรทำในช่วงที่เป็นหวัดหรือมีการติดเชื้อของทางเดินหายใจ

การรักษา อาการหูอื้อ มีหลายวิธีขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิด อาการหูอื้อ ดังนี้

ขี้หูอุดตัน ไม่ควรแคะหู อาจหยอดยาละลายขี้หู หากอาการไม่ดีขึ้นหรือมีอาการปวดหูร่วมด้วย ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างละเอียด 
แรงดันอากาศ ใช้การกลืนน้ำลาย เคี้ยวหมากฝรั่ง หรือเอามือบีบจมูกแล้วเบ่งลมออกเบา ๆ
โรคหวัด การเป็นหวัดอาจทำให้เกิดจมูกอักเสบเรื้อรัง หรือไซนัสอักเสบได้ จึงควรพบแพทย์เพื่อตรวจดูความผิดปกติของหูชั้นกลางและโพรงจมูก
โรคบางชนิด หูอื้ออาจเกิดจากโรคหรือภาวะของโรคบางอย่าง จึงควรรักษาโรคที่เป็นสาเหตุของอาการหูอื้อ
ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด คนไข้อาจต้องเปลี่ยนยาเพื่อลดผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดหูอื้อ
แก้วหูอักเสบหรือฉีกขาด กรณีนี้ใช้การรักษาด้วยการผ่าตัด
อาการหูอื้อ แบบไหนควรรีบพบแพทย์

หากเกิดอาการหูอื้อเฉียบพลัน อยู่ ๆ ก็ไม่ได้ยินเสียง หรือมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เวียนหัว มีน้ำออกจากหู ควรมาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุ

หูอื้อกับความเสี่ยงโรคอื่น ๆ เพราะหูอื้อเป็นอาการเบื้องต้นที่บ่งบอกว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นกับช่องหู และอาจเป็นสัญญาณบอกโรคบางอย่างได้ เช่น ช่องหูชั้นนอกตีบแคบ ขี้หูอุดตัน การติดเชื้อในช่องหู แก้วหูทะลุ หูน้ำหนวก โรคของเส้นประสาทรับเสียง โรคของสมอง มีเนื้องอก 


วิธีดูแลสุขภาพหู ด้วยวิธีง่าย ๆดังนี้

หลีกเลี่ยงการฟังเสียงดัง การใส่หูฟังนาน ๆ หากต้องอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีเสียงดังควรใส่อุปกรณ์ป้องกันเสียง
หลีกเลี่ยงการแคะหู ระวังไม่ให้น้ำเข้าหู หรือทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดการกระแทกที่ศีรษะหรือหู 
หลีกเลี่ยงการใช้ยาบางชนิดที่อาจเป็นพิษต่อหูชั้นใน

หากมีการติดเชื้อที่หูควรรีบรักษา 
กิจวัตรประจำวันหลายอย่างอาจทำให้เราเสี่ยงต่อการเกิดหูอื้อได้ง่าย แต่หากลดปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว และรีบพบแพทย์เมื่อมีภาวะผิดปกติจะช่วยให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีก่อนที่จะเกิดอันตรายจนถึงขั้นสูญเสียการได้ยินไปตลอดกาล...

สามารถติดตามต่อได้ที่ : https://www.dailynews.co.th/news/4929347/




6 สัญญาณเตือน ป้องกันก่อนเกิดอัมพาต

หลอดเลือดอุดตันสมองเป็นโรคร้ายแรงที่เกิดขึ้นได้ฉับพลัน เป็นสาเหตุหลักของโรคอัมพฤกษ์และอัมพาต และอาจร้ายแรงถึงชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีแนวโน้มพบในคนอายุน้อยมากขึ้น
วันนี้ “เดลินิวส์”ได้นำบทความ แพทย์หญิง พิมลพรรณ วิเสสสาระกูล แพทย์ผู้ชำนาญการด้านอายุรแพทย์ระบบประสาทและสมอง  โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล ( WMC ) กล่าวถึง โรคหลอดเลือดสมองอุดตัน (Stroke) ว่า เป็นภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยง เนื่องจากการอุดตันของหลอดเลือด ส่งผลให้สมองบางส่วนขาดออกซิเจนและสารอาหารอย่างเฉียบพลัน ส่งผลให้เซลล์สมองเสียหายหรือทำงานผิดปกติ โรคหลอดเลือดสมองอุดตันถือเป็นหนึ่งในโรคอันตรายที่เกิดขึ้นฉับพลัน เป็นสาเหตุหลักของโรคอัมพฤกษ์และอัมพาต มักพบร่วมกับโรคอื่น เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือในผู้ที่มีประวัติครอบครัวเคยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง เนื่องจากเป็นโรคที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน ผู้ป่วยจึงควรหมั่นสังเกตอาการและความผิดปกติที่เกิดขึ้น


สัญญาณบอกเหตุมีดังนี้
1. ตาพร่า มองภาพไม่ชัด
2. ปวดศีรษะ บางรายอาจปวดรุนแรง
3. เดินเซ ทรงตัวไม่ดี
4. แขนขาอ่อนแรง
5. หน้าเบี้ยวครึ่งซีก ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด
6. คิดช้าลงหรือฟังไม่เข้าใจ ตอบสนองช้า

ส่วนสาเหตุและปัจจัยเสี่ยง • ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง • ผู้ป่วยโรคหัวใจ• ผู้ป่วยโรคเบาหวาน• ผู้มีไขมันในเลือดสูง • การดื่มแอลกอฮอล์ • สูบบุหรี่

สำหรับการรักษาโรค ผู้ป่วยควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที ภายใน 3 ชั่วโมงเมื่อเกิดอาการ ข้างต้น โดยการรักษาเบื้องต้น จะต้องทำให้เลือดและออกซิเจนกลับมาเลี้ยงสมองให้เร็วที่สุด ด้วยยาละลายลิ่มเลือด (Thrombolysis) สำหรับผู้ป่วยที่มาช้ากว่า 3 ชั่วโมงแต่ไม่เกิน 24 ชั่วโมง และแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าเซลล์สมองยังไม่ตายจากการอุดตันของลิ่มเลือด ต้องใช้การใส่สายสวนหลอดเลือดสมอง


การป้องกันและลดความเสี่ยงการเกิด Stroke

• ควบคุมปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน

• รับประทานอาหารที่มีประโยชน์

• ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

• เลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์

หลอดเลือดอุดตันสมองเป็นโรคร้ายแรงที่เกิดขึ้นได้ฉับพลันและอาจร้ายแรงถึงชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที และมีแนวโน้มพบในคนอายุน้อยมากขึ้น ผู้ป่วยควรตรวจสุขภาพและดูแลร่างกายเป็นประจำเพื่อลดความเสี่ยง...

สามารถติดตามต่อได้ที่ : https://www.dailynews.co.th/news/4921536/


แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่