“ชุกฮวยฮึ้ง” (出花园) ประเพณีออกจากสวนดอกไม้ของจีนแต้จิ๋ว เอ๊ะ! แม่นันกำลังพูดถึงอะไร


“ชุกฮวยฮึ้ง” (出花园) การออกจากสวนดอกไม้ พิธีลาวัยเด็กเข้าสู่วัยหนุ่มสาวของจีนแต้จิ๋ว
 
“ชุกฮวยฮึ้ง” 1ในกิจกรรม เทศกาล 7 ค่ำเดือนเจ็ด (初七 七月) ปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 29 สค. 2568 เนื่องจากมี “หยุ่งลัก” (คือมีเดือน 6 สองหน) แฟนเพจท่านใดเคยผ่านพิธี “ชุกฮวยฮึ้ง”  บ้าง มาเล่าสู่กันฟังค่ะ
 
จีนแต้จิ๋ว เดิมทีเทศกาล 7 ค่ำเดือนเจ็ด มีกิจกรรมสำคัญ 5 อย่างคือ ขอทักษะ ตากหนังสือและเสื้อผ้า ชุมนุมลูกสาว ไหว้แม่ซื้อ และออกจากสวนดอกไม้ ปัจจุบันคงเหลือแต่การไหว้แม่ซื้อและพิธีออกจากสวนดอกไม้หรือที่จีนแต้จิ๋วเรียก “ชุกฮวยฮึ้ง” (出花园) เท่านั้น
พิธีไหว้แม่ซื้อ (公婆神)

การไหว้แม่ซื้อ (公婆神)
แม่ซื้อในภาษาจีนแต้จิ๋วเรียก “กงผั่วซิ้ง” หรือ “กงผั่วบ้อ” แปลว่า “เทพแม่ย่า” แถบเตี่ยเอี๊ยเรียก “ฉึ่งคาพั้ว” แปลว่า “แม่ย่าเตียง”  ซึ่งก็คือดาวสาวทอผ้าในภาคเทวีผู้คุ้มครองเด็กนั่นเอง แต่ในจีนแต้จิ๋วมีตำนานอธิบายที่มาของแม่ซื้อต่างกันหลายสำนวน
 
สำนวนหนึ่งว่า เมื่อพระเจ้าซ่งเหญินจง (ครองราชย์ พ.ศ.1566-1606) ยังเด็กอยู่ ขี้โรคและอ้อนโยเยมาก จนต้องประกาศหาคนเก่งเรื่องเด็กมาเป็นผู้เลี้ยงดู มีหญิงชราผู้หนึ่งอาสาและสามารถเลี้ยงดูจนแข็งแรงไม่อ้อน พระเจ้าซ่งเจินทรงทราบเรื่อง ดีพระทัยมาก รีบเสด็จไปเยี่ยมพระราชโอรสและตั้งใจปูนบำเหน็จแก่หญิงชรานั้นในวัน 7 ค่ำเดือนเจ็ด  หญิงชราเมื่อทราบว่าฮ่องเต้เสด็จมาอย่างกะทันหัน นางรีบหลบเข้าใต้เตียงด้วยความตื่นเต้นตกใจจนเป็นลมตายอยู่ใต้เตียงนั่นเอง พระเจ้าซ่งเจินจึงสถาปนานางเป็นเทวีผู้คุ้มครองเด็ก ซึ่งเทียบได้กับแม่ซื้อของไทย วัน 7 ค่ำเดือนเจ็ดจึงเป็นวันไหว้แม่ซื้อสืบมา
 
ตามความเชื่อของจีนแต้จิ๋ว เด็กตั้งแต่แรกเกิดจนย่างเข้า 15 ปี มีแม่ซื้อคุ้มครองรักษา จึงต้องตั้ง “ป้ายเทพสถิต” ของแม่ซื้อไว้ที่หัวเตียงหรือขาเตียงนอนของเด็ก ถึงวัน 7 ค่ำเดือนเจ็ดซึ่งเป็นวันละสังขารของแม่ซื้อ ผู้เป็นแม่ต้องนำลูกน้อยของตนมาไหว้แม่ซื้อทุกปี ของไหว้มี ข้าว ขนมบัวลอย ก้วย เช่น ขนมกุยช่าย ปลา เสื้อกระดาษของแม่ซื้อและเครื่องกระดาษ ของไหว้ต้องเพิ่มจำนวนมากขึ้นตามอายุของเด็ก จนเด็กอายุย่างเข้า 15 ปี และลาแม่ซื้ออกจากสวนดอกไม้ของเด็กเข้าสู่โลกของผู้ใหญ่
กงผั่วซิ้ง หรือกงผั่วบ้อ
 
“แปลกที่อาอึ้ม (คุณแม่) ไม่เคยทำพิธีนี้ให้พวกเราเลย มีแต่แจ้นี่ล่ะที่ทำให้ลูกๆทั้ง 6 คน เพราะแจ้เห็นครอบครัวอื่นเค้าทำให้ลูก แจ้ก็เลยจำมาทำให้กับลูกๆตัวเอง” อาหยี่แจ้ (พี่สาวคนที่สอง) เล่าให้แม่นันฟัง
 

มาฟังความหมายของคำว่า “ชุกฮวยฮึ้ง” กันค่ะ  “ฉุก (ชุก)”  แปลว่า ออก ส่วนคำว่า “ฮวยฮึ้ง” แปลว่า สวน พอนำสองคำมารวมกันก็จะออกเสียงเป็น “ชุกฮวยฮึ้ง” แปลว่า ออกจากสวน (ออกจากสนามที่เคยวิ่งเล่นในวัยเยาว์) พ่อแม่จะทำพิธีนี้ให้เมื่อลูกชายหรือลูกสาวอายุครบ 15 ปี  จากที่เคยวิ่งซนเป็นเด็กตัวน้อยของพ่อแม่ ต้องเริ่มรับรู้ที่จะมีความรับผิดชอบในหน้าที่ต่อตนเอง เตรียมตัวเตรียมใจเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในวันข้างหน้า ซึ่งในวันนี้ พ่อแม่ก็จะเตรียมเสื้อผ้าชุดใหม่สีแดงให้ลูก บางท้องถิ่นใส่ชุดสีฟ้า
 
ขนมสีชมพูคู่ที่มีความหมายถึงชายหญิง คือขนม “เสียะหลิ่วก้วย”

ในสมัยโบราณจะใช้ขนมสีชมพูคู่ที่มีความหมายถึงชายหญิง คือขนม “เสียะหลิ่วก้วย” ที่มีรูปร่างคล้ายลูกทับทิมแทนเด็กผู้ชาย และขนมซากั้กเหล่าก้วย ที่มีรูปร่างเป็นสามเหลี่ยม แทนเด็กผู้หญิง นำไปกราบไหว้ขอบคุณ “แม่ซื้อ” หรือที่คนจีนเรียก “กงผั่วซิ้ง หรือกงผั่วบ้อ” เทพแม่ย่าที่คอยปกปักรักษาเราตั้งแต่ยังตัวน้อยๆ  บางคนพาเด็กมาไหว้ที่วัดเหล่งเหน่ยยี่ (เล่งเน่ยยี่) หรือชื่อไทยว่า วัดมังกรกมลาวาส ซึ่งการพามาครั้งนี้จะเป็นการไหว้ขอบคุณ “กงผั่วซิ้ง” เป็นครั้งสุดท้ายก็ว่าได้ ว่าลูกชายลูกสาวคนนี้โตเป็นหนุ่มเป็นสาว พร้อมที่จะดูแลตัวเองได้แล้วนะ จะไม่รบกวน “เทพแม่ย่า” อีกต่อไป (ปัจจุบันนี้มีการทำพิธีนี้ให้กับเด็กๆตามสมาคมต่างๆ)
 
อาหยี่แจ้เล่าว่าคนโบราณเค้าจะมีพิธีกรรมมากกว่านี้เยอะ บางครอบครัวที่มีฐานะดีเค้าถึงกับสร้างสวนดอกไม้สวยงามในบริเวณบ้านไว้ให้ลูกวิ่งเล่นตั้งแต่ตัวน้อยๆ พอถึงวัย 15 ปี ก็จะมีพิธีพาลูกออกจากสวน ประหนึ่งว่าถึงเวลาที่จะเลิกเล่นเป็นเด็กๆได้แล้วนะ เตรียมตัวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ มีอิสระในตัวเอง ดูแลรับผิดชอบตัวเองได้แล้ว ในวันนี้เด็กๆที่อยู่ในพิธีกรรมจะถือเป็นคนที่มีความสำคัญที่สุดก็ว่าได้ ในพิธีจะได้ใส่ชุดใหม่สีแดง ใส่เกี๊ยะสีแดงด้วย (จำเกี๊ยะไม้ได้มั้ยคะ รองเท้าไม้ที่ใส่แล้วเดินทีเสียงดังไปสามบ้านแปดบ้าน เด็กๆสมัยก่อนใส่จนหัวรองเท้าสึกมนปลายแบน)  ทำไมต้องใส่เกี๊ยะในวันนี้ด้วย เพราะรูปทรงของเกี๊ยะไม้จะมีความสูงกว่ารองเท้าทั่วไป เป็นการยกระดับตัวเองว่าไม่ใช่เด็กๆแล้ว แถมยังได้อั่งเปาไว้เป็นเงินเริ่มต้นชีวิตด้วย
 

ในบทความของ อ.ถาวร สิกขโกศล ได้กล่าวถึงพิธีการและความหมายของอาหารแต่ละเมนูได้อย่างน่าสนใจว่า เด็กที่เข้าพิธีจะร่วมรับประทานอาหารกับพ่อแม่และญาติพี่น้องอย่างมีสถานะเป็นผู้ใหญ่ โดยนั่งในตำแหน่งประธาน อาหารบนโต๊ะต้องมีไก่สับหนึ่งตัว ตามเพศของผู้เข้าพิธี (ชายใช้ไก่ตัวผู้ หญิงใช้ไก่ตัวเมีย) ใส่จานตั้งกลางโต๊ะ หันหัวไก่ไปทางประธานซึ่งต้องกินหัวไก่นั้นเพื่อเอาเคล็ดว่าต่อไปจะเจริญรุ่งเรืองล้ำหน้าคนอื่น อาหารอื่นมี ตือกัว เต่ากัว ทานแล้วจะได้เป็น “กัว” (รับราชการตำแหน่งใหญ่โต) “ปลา” เสียงแต้จิ๋วเก่า “ฮู้ (鱼)” พ้องเสียงกับคำว่า “ฮู้ (扶)” ที่แปลว่าประคอง เอาเคล็ดว่าจะมีคนประคับประคองช่วยเหลือ ต้องมี “ชุงฉ่าย” (春菜 ผักวสันต์) เอาเคล็ดว่าอุดมสมบูรณ์เหมือนวสันต์ฤดู เก่าฮะ (厚合) เอาเคล็ดว่าเป็นที่รักของคนทั้งหลาย เข้ากับคนได้ดี ตั่วฉ่าย (大菜) ผักกาดเขียวใหญ่ เอาเคล็ดว่ากินแล้วจะเติบโตสูงใหญ่และได้เป็นใหญ่ “กุยช่าย” เอาเคล็ดว่าอายุยืน มั่นคง “หอม” เอาเคล็ดว่าฉลาดปราดเปรื่อง “กระเทียม” เอาเคล็ดว่าคิดเป็น ผักเหล่านี้ล้วนพ้องเสียงกับคำที่เป็นเคล็ดมงคลเหล่านั้น
 
ของที่ขาดไม่ได้คือ “ต้มเครื่องในหมู” กระเพาะ ไส้ หัวใจ ตับ ปอด เซ่งจี๊ เป็นต้น เมนูต้มนี้ผู้เข้าพิธีต้องกินให้มาก หากกินไม่หมดพ่อแม่เท่านั้นที่จะช่วยกินได้ ความหมายของต้มนี้คือ เปลี่ยนเครื่องในของเด็กเป็นผู้ใหญ ทิ้งความดื้อเอาแต่เล่นสนุกและนิสัยที่ไม่ดีในวัยเด็กออกไปให้หมด เปลี่ยนเป็นคนใหม่ที่รู้เหตุผล เป็นคนดี ในภาษาแต้จิ๋วเรียกคนที่รู้ผิดชอบชั่วดีว่า “อู่ตึ่งโต้ว” แปลตามตัวว่า “มีกระเพาะและลำไส้” หมายถึงเครื่องในดี มีปัญญารู้จักคิด จึงต้องกินต้มเครื่องในเอาเคล็ดในพิธีนี้และปลุกจิตสำนึกพัฒนาตน และแม้กระทั่งการดื่มน้ำก็ต้องมีพิธี
 
บางถิ่นเก็บดอกไม้ 12 อย่างมาแช่น้ำให้เด็กอาบเพื่อชะล้างนิสัยและความเป็นเด็กออกไปให้หมดอีกด้วย
 
ในอดีตผู้เข้าพิธียังต้อง “โดดข้ามกระด้ง” อีกด้วย ในกระด้งมี “ก้วย” ต่างๆ ขนมจันอับและถั่วลิสง เด็กต้องกระโดดข้ามไปข้ามมาหลายครั้ง เป็นสัญลักษณ์ว่า กระโดดข้ามกำแพงออกจากสวนดอกไม้ หากได้กินหัวไก่และกระโดดข้ามกระด้งแล้วก็ถือว่าพ้นวัยเด็กอย่างสมบูรณ์
ที่เมืองจีนจะมีโปสการ์ดเกี่ยวกับประเพณีชุกฮวยฮึ้งจำหน่ายเก็บเป็นที่ระลึกด้วย
 
ในเมืองไทยไม่เคยมีเทศกาล 7 ค่ำเดือนเจ็ด มีแต่ประเพณีออกจากสวน (ชุกฮวยฮึ้ง) ในหมู่ลูกหลานแต้จิ๋ว ซึ่งปัจจุบันมีผู้ทำน้อยมาก
 
เทศกาล 7 ค่ำเดือนเจ็ด หรือคืน 7 ค่ำ มีวิวัฒนาการมายาวนาน จากเทศกาลเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วงสู่เทศกาลของคนหนุ่มสาวให้มุ่งพัฒนาตนเป็นคนมีคุณภาพพร้อมรับภาระครอบครัว ในบางถิ่น เช่น ฮกเกี้ยน แต้จิ๋ว พัฒนาไปเป็นเทศกาล “ลาวัยเด็กเข้าสุ่วัยหนุ่มสาว” เป็นการปรับเทศกาลให้รับใช้สังคมตามยุคสมัยได้อย่างน่าชื่นชมยิ่ง
 
...ใครเคยผ่านพิธีนี้มาบ้างคะ?
 
ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก อ.ถาวร สิกขโกศล
เครดิตภาพบางส่วน: เวปไซต์จีน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่