เอกชนไทย ทำงานหนักขึ้น 50 ชม.+ ต่อสัปดาห์ แต่เงินเดือนแพ้แรงงานอิสระ

สภาพัฒน์ เผยรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 3 พบข้อมูลการจ้างงานยังทรงตัว แต่พบว่าคนรุ่นใหม่ช่วงอายุ 20-29 ปี ที่ไม่มีประสบการณ์ว่างงานสูง ขณะที่บริษัทเอกชนทำงานหนักขึ้น 50ชม.+ /สัปดาห์ โอทีพุ่ง แต่ขณะเดียวกันเงินเดือนกลับแพ้แรงงานอิสระ

รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 3/2567 โดยสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 25 พ.ย. 67 ถึง “สถานการณ์แรงงาน” เนื้อหาระบุว่า สถานการณ์ตลาดแรงงานในไตรมาสสาม ปี 2567 สะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวของแรงงานในหลายภาคส่วน โดยมีผู้มีงานทำจำนวน 40.0 ล้านคน ลดลงจากไตรมาสสามของปี 2566 เล็กน้อยที่ร้อยละ 0.1

แม้ว่าการจ้างงานโดยรวมจะค่อนข้างทรงตัว แต่การเปลี่ยนแปลงในภาคส่วนต่าง ๆ สะท้อนถึงผลกระทบจากปัจจัยภายนอก เช่น ปัญหาอุทกภัย การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ส่งผลต่อรูปแบบการจ้างงาน
 
 
พิษน้ำท่วมกระทบแรงงานภาคเกษตรกรรม
การจ้างงานในภาคเกษตรกรรมลดลงถึง ร้อยละ 3.4 จากไตรมาสสามของปีก่อนหน้า โดยปัจจัยสำคัญคือสถานการณ์อุทกภัยที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เพาะปลูกในหลายภูมิภาค เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ซึ่งทำให้เกษตรกรไม่สามารถเพาะปลูกหรือเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ อีกทั้งความผันผวนของราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกยังกดดันรายได้ของเกษตรกร
นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจในชนบทที่แรงงานบางส่วนย้ายออกไปทำงานในภาคนอกเกษตร เช่น ภาคอุตสาหกรรมและบริการ ส่งผลให้การจ้างงานในภาคเกษตรกรรมลดลงต่อเนื่องในระยะยาว
 

บีโอไอมั่นใจ เทรดวอร์รอบใหม่ บีบเทคคัมปะนีจีน-สหรัฐแห่ลงทุนไทยเพิ่ม
ภาคบริการ-โลจิสติกส์-โรงแรมและภัตตาคารเติบโต
ในทางกลับกัน การจ้างงานนอกภาคเกษตรขยายตัวได้ถึง ร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยกลุ่มที่เติบโตมากที่สุดคือ การขนส่งและการเก็บสินค้า ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 14.0 สะท้อนถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์และการค้าออนไลน์ที่ขยายตัวต่อเนื่อง
กลุ่มโรงแรมและภัตตาคาร ยังคงมีการขยายตัวต่อเนื่องถึง ร้อยละ 6.1 อันเป็นผลจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ได้รับการสนับสนุนจากนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศและการเปิดประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ในส่วนของ ภาคก่อสร้าง แม้จะขยายตัวเพียงเล็กน้อยที่ ร้อยละ 0.7 แต่ยังคงมีบทบาทสำคัญในเขตเมืองที่มีการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่
 
ภาคการผลิตลดลงเจอการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี
การจ้างงานในภาคการผลิตลดลงถึง ร้อยละ 1.4 โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เช่น การเปลี่ยนจากฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (HDD) ไปสู่โซลิดสเตตไดรฟ์ (SSD) และการเปลี่ยนไปผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ต้องการชิ้นส่วนและแรงงานที่มีทักษะสูงมากขึ้น
ทั้งนี้ ความต้องการแรงงานในภาคการผลิตยังสะท้อนถึงความจำเป็นในการพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อรองรับเทคโนโลยีขั้นสูงและตอบสนองความต้องการของตลาดโลก
 
ชั่วโมงการทำงานเพิ่มขึ้น
แรงงานในภาคเอกชนมีชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยต่อสัปดาห์เพิ่มขึ้นเป็น 47.4 ชั่วโมง หรือร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ขณะที่แรงงานในภาพรวมมีชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยอยู่ที่ 43.3 ชั่วโมง หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 การทำงานล่วงเวลาของแรงงานเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะกลุ่มที่ทำงานเกิน 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ซึ่งเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.8
ทำงาน 40 ชั่วโมงขึ้นไป 29 ล้านคน (ไตรมาส2 28.3ล้านคน)
ทำงาน 50 ชั่วโมงขึ้นไป 6.9 ล้านคน (เท่ากับไตรมาส2) 
 
ค่าแรงคนทำงานอิสระแซงเอกชน
ค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นทั้งภาพรวมและภาคเอกชน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเมื่อต้นปี 2567 โดยค่าจ้างเฉลี่ยในภาพรวมของกลุ่มแรงงานในระบบ (ตามการจัดเก็บแบบเดิม) อยู่ที่ 15,718 บาท ต่อคนต่อเดือน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสสาม ปี 2566 ร้อยละ 1.8
ขณะที่ค่าจ้างเฉลี่ยในภาพรวมที่รวมกลุ่มแรงงานอิสระอยู่ที่ 16,007 บาทต่อคนต่อเดือน ส่วนค่าจ้างเฉลี่ยของภาคเอกชน อยู่ที่ 14,522 บาทต่อคนต่อเดือน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 2.7
 
ผู้ว่างงานและแนวโน้มระยะยาว
จำนวนผู้ว่างงานในไตรมาสนี้อยู่ที่ 410,000 คน คิดเป็นอัตราว่างงาน ร้อยละ 1.02 ซึ่งเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (ร้อยละ 0.99)
อย่างไรก็ตาม การว่างงานระยะยาวเพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 16.2 โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่อายุ 20-29 ปีที่ไม่เคยมีประสบการณ์ทำงาน
 
ที่มาข้อมูล : รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 3 

Cr. https://www.thansettakij.com/business/economy/612825

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่