JJNY : 5in1 หนี้เสียบ้านพุ่ง│KKP คาดอสังหาฯหดตัวหนัก│ปชน.ขุดสถิติเทียบ‘พท.’│"พท."ยังไม่พ้นบ่วง│สหรัฐฯจ่อปรับยุทธศาสตร์

หนี้เสียบ้านพุ่ง วงเงินต่ำกว่า 3 ล้านมากที่สุด
https://ch3plus.com/news/economy/ch3onlinenews/425939
 
 
สภาพัฒน์ฯ  เตือนสัญญาณอันตราย ตัวเลขการผิดนัดชำระหนี้บ้านพุ่ง หนี้เสียขยายตัว ถึง 23.2% สะท้อนสถานะทางการเงินของครัวเรือนที่ตึงตัว เสี่ยงกระทบเสถียรภาพทางการเงินและเศรษฐกิจประเทศในระยะยาว
 
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 3 พบว่า หนี้สินครัวเรือนในไตรมาส 2 ตัวชะลอลง และสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ปรับลดลงจากไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ 89.6%
 
ซึ่งเป็นการปรับลดลงต่ำกว่าสัดส่วน 90% ต่อ GDP เป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปีครึ่ง นับตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ปี 2563 ซึ่งขณะนั้นสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 91.2% แต่ยังห่วงแนวโน้มรายจ่ายครัวเรือนตึงตัว และขณะนี้เห็นสัญญาณแนวโน้มการผิดนัดชำระหนี้บ้านที่เร่งตัวขึ้น สะท้อนจากข้อมูลเครดิตบูโร ที่สูงถึง 23.2% จาก 18.2% และสัดส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นเป็น 4.34% จาก 3.98% ของไตรมาสก่อนหน้า
 
ซึ่งการเลือกที่จะผิดนัดชำระหนี้บ้าน ที่ถือเป็นสินทรัพย์จำเป็นต่อการอยู่อาศัย ก่อนสินเชื่อบัตรเครดิตหรือ สินเชื่อส่วนบุคคล สะท้อนให้เห็นถึงสถานะทางการเงินของครัวเรือนที่ตึงตัว และเมื่อจำแนกตามวงเงินสินเชื่อ จะพบว่า วงเงินต่ำกว่า 3 ล้านบาท มีสัดส่วนหนี้เสียสูงสุด สะท้อนให้เห็นว่าครัวเรือนกลุ่มดังกล่าว เป็นกลุ่มที่ยังไม่ฟื้นตัวอีกด้วย ซึ่งจึงจำเป็นต้องเร่งแก้ไขปัญหาหนี้เสียของสินเชื่อที่อยู่อาศัย เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อเสถียรภาพทางการเงินและเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว



KKP คาดอสังหาฯ ไทยปี 67 หดตัวหนัก บ้านใหม่เหลือค้างสูงสุดในรอบ 8 ปี
https://www.bangkokbiznews.com/finance/investment/1155095
 
เกียรตินาคินภัทร ชี้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทย โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล เผชิญกับความท้าทายหนัก เศรษฐกิจชะลอตัว หนี้ครัวเรือนสูง ยอดปฏิเสธสินเชื่อที่อยู่อาศัยพุ่ง กระทบยอดสะสมของสินค้าคงค้างบ้านใหม่พุ่ง
 
สายงานสินเชื่อธุรกิจ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร เผยว่าในปี 2567 ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล เผชิญกับความท้าทายอย่างต่อเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว
 
ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการชะลอตัวนี้ได้แก่ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 90% ของ GDP การปฏิเสธสินเชื่อที่อยู่อาศัยยังคงอยู่ในระดับสูง และการสะสมของสินค้าคงค้าง (inventory) ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
 
ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการเลือกที่จะชะลอการเปิดตัวโครงการใหม่ รวมถึงมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาโครงการระดับราคาสูง ซึ่งอาจนำไปสู่การอิ่มตัวในตลาดสินค้าระดับนี้ในอนาคต
 
อย่างไรก็ตาม คาดว่าในไตรมาสที่ 2 ปี 2568 ตลาดอสังหาริมทรัพย์มีโอกาสที่จะปรับตัวดีขึ้น จากปัจจัยสนับสนุนที่คาดว่าจะมีมากขึ้น
เช่น การปรับลดอัตราดอกเบี้ย การผ่อนคลายเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อจากสถาบันการเงิน มาตรการกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่อาจจะมีความเข้มข้นมากขึ้นจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมให้ตลาดมีการฟื้นตัว รวมถึงการลงทุนของภาครัฐและการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรมจากรัฐบาลใหม่ ที่จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์
 
กำลังซื้อหด ยอดโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยปี 2567 สะดุด
 
จากการคาดการณ์ ยอดโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศจะลดลง 15% หรือประมาณ 320,000 หน่วย ซึ่งเป็นยอดที่ต่ำที่สุดในรอบ 8 ปี
โดยกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะลดลง 8% และในภาคตะวันออกลดลงถึง 11% สาเหตุหลักมาจากการปฏิเสธสินเชื่อของธนาคารที่ยังคงเข้มงวด ประกอบกับภาระหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่
 
แนวโน้มการเปิดตัวโครงการใหม่ในปี 2567
 
การเปิดตัวโครงการใหม่ในปี 2567 มีแนวโน้มลดลงอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในกลุ่มคอนโดมิเนียมที่มียอดเปิดตัวลดลงถึง 50% เมื่อเทียบกับปี 2566 โครงการแนวราบก็มีการชะลอการเปิดตัวเช่นกัน
 
แต่ลดลงในอัตราที่น้อยกว่า (3%) ตลาดบ้านเดี่ยวมีการเติบโตถึง 60% ในเขตปริมณฑล ขณะที่โครงการทาวน์เฮ้าส์กลับพบว่ามียอดเปิดตัวลดลงถึง 24% เนื่องจากกำลังซื้อของกลุ่มระดับกลาง-ล่างลดลงอย่างชัดเจน
 
ทิศทางการพัฒนาโครงการและความต้องการในปี 2567
 
บ้านเดี่ยวและทาวน์เฮ้าส์เป็นประเภทที่อยู่อาศัยที่ยังคงมีความต้องการสูง โดยเฉพาะในระดับราคา 5-10 ล้านบาท ซึ่งยังคงเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงและต้องการพื้นที่ขนาดใหญ่
 
ในขณะที่บ้านเดี่ยวระดับราคามากกว่า 15 ล้านบาทเริ่มมีสัญญาณการอิ่มตัว และสินค้าคงค้างของบ้านในระดับนี้มีโอกาสเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในทางกลับกัน ทาวน์เฮ้าส์กลุ่มระดับราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาทได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและการแข่งขันที่สูง
 
  การปรับตัวของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์
 
ผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ในปี 2567 ได้มีการปรับตัวอย่างต่อเนื่องเพื่อลดความเสี่ยงจากตลาดที่ชะลอตัว เช่น การลดต้นทุนการดำเนินงาน หันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงการที่มีความยั่งยืน รวมถึงการขยายธุรกิจไปยังกลุ่มอื่นๆ เช่น โรงแรม อพาร์ทเม้นท์ และสถานออกกำลังกาย เพื่อลดการพึ่งพาตลาดอสังหาริมทรัพย์เพียงอย่างเดียว
 
สำหรับภาพรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2567 ยังคงเผชิญกับความท้าทายอย่างหนักจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ รวมถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนและการปฏิเสธสินเชื่อที่ยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ยอดโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยและการเปิดตัวโครงการใหม่ลดลงอย่างมาก
โดยเฉพาะในกลุ่มคอนโดมิเนียมที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด อย่างไรก็ตาม การโอนกรรมสิทธิ์ของชาวต่างชาติยังคงเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยขับเคลื่อนตลาดได้ในบางพื้นที่ ขณะที่การปรับตัวของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์มุ่งเน้นไปที่ความยั่งยืนและการขยายธุรกิจเพื่อลดความเสี่ยงจากตลาดที่ผันผวน
 
ตลาดอสังหาฯ ปี 2568 มีปัจจัยบวกจากการลดดอกเบี้ย บ้านแฝด บ้านเดี่ยว 7-15 ล้านมีแนวโน้มโตดี
 
สายงานสินเชื่อธุรกิจ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร วิเคราะห์ว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยระหว่าง 0.5% - 0.75% ในปี 2568 จะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภคได้
 
โดยเฉพาะกลุ่มระดับกลางและล่างที่ได้รับผลกระทบจากหนี้ครัวเรือนสูงในช่วงก่อนหน้า การปรับตัวของภาคบริการ ที่คาดว่าจะขยายตัวมากขึ้นในปี 2568 จะช่วยสร้างรายได้และกระตุ้นการบริโภคในวงกว้าง ส่งผลบวกต่อตลาดอสังหาฯ ที่เชื่อมโยงกับภาคบริการในเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ และแหล่งท่องเที่ยว
 
โดยผู้ประกอบการควรปรับเปลี่ยนพัฒนาโครงการแนวราบ เพื่อตอบสนองความต้องการที่อยู่อาศัยจริง (Real Demand) อย่างไรก็ตามการพัฒนาบ้านเดี่ยวในราคาสูงกว่า 20 ล้านบาทอาจเผชิญภาวะอิ่มตัว แต่โครงการบ้านเดี่ยวในราคากลาง (7-15 ล้านบาท) จะยังคงเป็นตลาดที่น่าลงทุน ส่วนทาวน์เฮ้าส์ กลุ่มระดับราคากลาง-ล่าง ยังคงต้องเฝ้าระวัง จากปัญหารายได้ยังปรับไม่ทันกับราคาทาวน์เฮ้าส์ที่ปรับตัวสูงขึ้น และภาระหนี้ของกลุ่มผู้ซื้อบ้านราคานี้ยังอยู่ในระดับสูง ส่วนบ้านแฝดยังสามารถพัฒนาได้ และมีแนวโน้มเติบโตขึ้น
 
โอกาสของการพัฒนาโครงการคอนโดคอนโดระดับราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาทมีการแข่งขันสูงและกำลังซื้อที่จำกัด น่าจะยังคงชะลอตัวต่อเนื่องในปี 2568 หากไม่มีมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐ
 
อย่างไรก็ตามกลุ่มนี้จะมีโอกาสในการฟื้นตัวกลับมาเติบโตได้เมื่อโครงการรถไฟฟ้าสร้างใกล้แล้วเสร็จ หรือมีความชัดเจนมากขึ้น อย่าง สายสีม่วงใต้ (เตาปูน-ราษฏร์บูรณะ) สายสีส้มตะวันตก (ศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์) และสายสีน้ำตาล (แคราย-ลำสาลี)

แนวโน้มการลงทุนจากต่างชาติ
 
ตลาดการซื้อคอนโดของชาวต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนจีนและรัสเซีย จะยังคงเป็นปัจจัยที่สำคัญในการขับเคลื่อนตลาดคอนโดในพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต พัทยา การพัฒนาของระบบโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงการรถไฟฟ้าและสนามบินจะช่วยกระตุ้นการลงทุนในกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น
 
อสังหาฯ เพื่อความยั่งยืนมาแรง ตอบโจทย์ผู้บริโภค
 
แนวโน้มการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ ที่เน้นความยั่งยืน เช่น บ้านประหยัดพลังงาน ระบบกรองอากาศเพื่อลดมลพิษในการอยู่อาศัย การใช้วัสดุรักษ์โลก ที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ฯลฯ จะเริ่มเป็นที่ต้องการมากขึ้นในปี 2568 เนื่องจากผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตและสุขภาพมากขึ้น การพัฒนาบ้านที่เน้นเทคโนโลยีสีเขียว (Green Tech) จะเป็นปัจจัยที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันในตลาดได้
 
   สรุปแนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2568 คาดว่าจะมีการฟื้นตัวแบบช้าๆ โดยมีปัจจัยบวกจากการลดดอกเบี้ยและการขยายตัวของภาคบริการ อย่างไรก็ตาม ตลาดคอนโดราคาต่ำยังคงเผชิญความท้าทายสูง ในขณะที่ตลาดแนวราบ โดยเฉพาะบ้านเดี่ยวระดับกลาง จะยังคงเป็นกลุ่มที่น่าสนใจในการลงทุน



ปชน. ขุดสถิติเทียบ ‘เพื่อไทย’ โวคะแนนนิยมเพิ่มขึ้น แม้ไม่สมหวังได้นั่ง นายกอบจ.อุดร
https://www.matichon.co.th/politics/news_4919975

พรรคประชาชน ขุดสถิติคะแนนนิยมคนอุดร เทียบ “เพื่อไทย” โว โตแล้ว-โตอยู่-โตต่อ แม้ไม่สมหวังได้นั่ง นายกอบจ.อุดร แต่แต้มสะสมเพิ่มขึ้นน่าพอใจ

นายกอบจ.อุดร – เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พรรคประชาชน โพสต์กราฟสถิติผลการเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี เทียบให้เห็นถึงคะแนนนิยมของพรรคประชาชนและพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคคู่แข่งทางการเมือง พร้อมระบุว่า

โตแล้ว-โตอยู่-โตต่อ จากอนาคตใหม่ถึงพรรคประชาชน เราเติบโตไม่หยุดในอุดรธานี!

ผลการเลือกตั้งนายก อบจ. ในจังหวัดอุดรธานีเมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา แม้เราจะยังไม่ได้รับความไว้วางใจจากพี่น้องประชาชนเพียงพอที่จะได้เข้าไปบริหาร อบจ. แต่ชาวอุดรธานีที่หันมาเลือกพรรคประชาชน ก็เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างน่าพอใจ

จากการเลือกตั้งครั้งแรกของพรรคอนาคตใหม่ เมื่อปี 2562 พรรคอนาคตใหม่ได้รับคะแนนความนิยม 148,850 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 17.92 ของผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง และไม่ได้ สส. เขตแม้แต่คนเดียว

ในการเลือกตั้ง อบจ.อุดรธานี ปี 2563 คณะก้าวหน้าส่งนายฐานวัฒน์ ธนาธัญญพิชญ์ ลงสมัครรับเลือกตั้ง ได้รับคะแนน 185,804 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 26.74 ของผู้มาใช้สิทธิ์

ในการเลือกตั้งทั่วไป ปี 2566 ที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลได้รับคะแนน 295,097 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 35.03 ของผู้มาใช้สิทธิ์ และได้ สส. เขต 1 จำนวน 1 คน คือ สส. เคน ณัฐพงษ์ พิพัฒน์ไชยศิริ

ในการเลือกตั้ง อบจ.ปี 2567 พรรคประชาชนส่ง นายคณิศร ขุริรัง ลงสมัครรับเลือกตั้ง ได้รับคะแนน 268,675 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 41.53 ของผู้มาใช้สิทธิ์

แม้เรายังไม่สามารถชนะพรรคเพื่อไทยได้ในจังหวัดอุดรธานี แต่ทุกการเลือกตั้งคือโอกาสของการเปลี่ยนแปลง เราจะทำงานหนักขึ้น ออกนโยบายที่ตรงใจ ตอบโจทย์ประชาชนให้มากขึ้น เพื่อเอาชนะใจพี่น้องประชาชนอุดรธานี และประชาชนคนไทยทั่วประเทศ

แล้วพบกันในการเลือกตั้งครั้งต่อไป!

https://www.facebook.com/PPLEThai/posts/pfbid02SzM3jFFmzkciDvpoHY1GkRwjmHF88CzLhmt2FdeuwYs3MnB33x3rRCb8eqyYM9pdl
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่