JJNY : ยื่นร่างแก้ไขรธน."ลบล้างผลพวงรัฐประหาร"│ร้องกมธ.มั่นคงฯ จี้รัฐ│ชิปปิ้งกรอกผิด อนุกมธ.ติดใจ│สื่อนอกเผยเตรียมสอบ

ก้าวไกล ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชุด "ลบล้างผลพวงรัฐประหาร" รวม 3 ฉบับ
https://ch3plus.com/news/political/morning/409894

ที่รัฐสภา พรรคก้าวไกล นำโดย นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการลบล้างผลพวงรัฐประหารจำนวน 3 ฉบับ ถึงประธานรัฐสภา เพื่อให้บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา
   
นายพริษฐ์ กล่าวว่า ถึงแม้รัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่กระบวนการในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อาจใช้เวลาอีกอย่างน้อย 1-2 ปี ดังนั้น พรรคก้าวไกลจึงเห็นว่านอกเหนือจากการผลักดันให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด รัฐสภาควรดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราในประเด็นที่มีความสำคัญและเร่งด่วนคู่ขนานกันไป
 
ขณะเดียวกันในสัปดาห์นี้ สมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ 200 คน ได้เริ่มปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการแล้ว พรรคก้าวไกลจึงใช้จังหวะนี้ในการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราชุดแรก เพื่อให้เป็น “ภารกิจแรก” ของวุฒิสภาชุดใหม่ ในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว ในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้
 
นายพริษฐ์ กล่าวต่อไปว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ที่พรรคก้าวไกล ยื่นเข้ามาเป็นชุดแรกนั้น มุ่งเน้นไปที่การลบล้างผลพวงของรัฐประหาร ซึ่งน่าจะเป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายการเมืองในสภาฯ เห็นพ้องต้องกันมากที่สุด โดยแบ่งร่างฯ ออกเป็น 3 ฉบับ ได้แก่
 
ร่างที่ 1 ยกเลิกมาตรา 279 ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นมาตราที่ทำให้ประกาศและคำสั่งทุกฉบับของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
 และหัวหน้า คสช.ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ การยกเลิกมาตรา 279 จะเปิดโอกาสให้ประชาชน โดยเฉพาะผู้เสียหายจากประกาศและคำสั่ง คสช. มีโอกาสได้โต้แย้งถึงความชอบด้วยกฎหมายของประกาศและคำสั่งดังกล่าว ในกรณีที่ประกาศและคำสั่งนั้นส่งผลต่อการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน
 
ทั้งนี้ นายพริษฐ์ กล่าวว่า พรรคก้าวไกลจะผลักดันเรื่องการยกเลิกมาตรา 279 ของรัฐธรรมนูญ คู่ขนานกับการผลักดันกฎหมายในระดับ พ.ร.บ. เพื่อดำเนินการยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช.ที่ไม่เป็นประโยชน์กับประชาชน โดยพรรคก้าวไกลได้ยื่นร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช.เข้าสู่สภาฯ ไปแล้วตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 แต่ถูกตีความว่าเป็นร่างกฎหมายเกี่ยวด้วยการเงิน จึงต้องรอว่านายกรัฐมนตรีจะลงนามรับรองให้เข้าสภาฯ หรือไม่มาตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2566
 
ร่างที่ 2 คือการเพิ่มหมวด 16/1 ในรัฐธรรมนูญ เรื่องการป้องกันและต่อต้านรัฐประหาร โดยมีสาระสำคัญ 3 ส่วนคือ 
 
1. เติมพลังให้ประชาชนทุกคนในการต่อต้านการรัฐประหาร ไม่ว่าจะเป็นการคุ้มครองสิทธิของประชาชนทั่วไป หรือการกำหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่วางแผนยึดอำนาจจากประชาชน 

2. เพิ่มความรับผิดชอบให้ทุกสถาบันทางการเมืองร่วมกันปฏิเสธการรัฐประหาร เช่น ห้ามไม่ให้ศาลรัฐธรรมนูญและศาลทั้งปวงรับรองการรัฐประหาร 

และ 3. ทำให้การทำรัฐประหารมี “ราคา” สำหรับผู้ก่อการ ไม่ว่าจะเป็นการห้ามไม่ให้มีการนิรโทษกรรมคณะรัฐประหาร การกำหนดให้ประชาชนเป็นผู้เสียหายที่ฟ้องผู้ก่อรัฐประหารฐานกบฏได้ โดยปราศจากอายุความ และการทำให้บทบัญญัติในหมวดการป้องกันรัฐประหารทั้งหมดมีสถานะเป็นกฎหมายจารีตประเพณี ที่มีผลใช้บังคับไปโดยตลอดไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะถูกฉีกหรือไม่
 
นายพริษฐ์ กล่าวว่า พรรคก้าวไกลจะผลักดันเรื่องการเพิ่มหมวดป้องกันและต่อต้านรัฐประหารในรัฐธรรมนูญ คู่ขนานกับการผลักดันมาตรการอื่นๆ ที่มีส่วนสำคัญในการป้องกันรัฐประหาร ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันกฎหมายปฏิรูปกองทัพเพื่อให้กองทัพอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน หรือการรณรงค์ทางความคิดให้ทุกฝ่ายยึดมั่นในการแก้ไขทุกปัญหาผ่านกลไกทางการเมืองภายในระบอบประชาธิปไตย
 
ร่างที่ 3 คือการยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนการปฏิรูปประเทศ ผ่านการยกเลิกมาตรา 65 และหมวด 16 ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ การยกเลิกยุทธศาสตร์และแผนดังกล่าวไม่ได้หมายความว่าพรรคก้าวไกลไม่เห็นด้วยกับการที่ประเทศจะมีแผนการพัฒนาหรือแผนการบริหารประเทศ ที่กำหนดวิสัยทัศน์ว่าประเทศนั้นจะเดินหน้าไปในทิศทางใด แต่เราต้องการยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศฉบับ คสช. เนื่องจากเหตุผล 3 ประการ คือ
 
1. ยุทธศาสตร์และแผนดังกล่าวขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย เพราะร่างขึ้นในยุคของคณะรัฐประหาร ซึ่ง คสช.เข้ามากำกับควบคุมตลอดกระบวนการ แทนที่จะถูกร่างในยุคของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และด้วยกระบวนการที่ประชาชนมีส่วนร่วมในวงกว้าง 

2. ยุทธศาสตร์และแผนดังกล่าวขาดความยืดหยุ่น เพราะใช้วิธีบรรจุกลไกเรื่องยุทธศาสตร์และแผนเข้าไปในรัฐธรรมนูญและกฎหมาย จนนำไปสู่การขยายตัวของรัฐราชการ แทนที่จะเป็นยุทธศาสตร์และแผนที่พรรคการเมืองและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามาออกแบบ ตามนโยบายและทิศทางการพัฒนาประเทศที่ได้รับอาณัติจากประชาชนผ่านคูหาเลือกตั้ง 

และ 3. ยุทธศาสตร์และแผนดังกล่าวเสี่ยงจะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งกัน เพราะเปิดช่องให้บางฝ่ายสามารถใช้กลไกขององค์กรอิสระหรือศาลต่างๆ เพื่อลงโทษหน่วยงานรัฐที่อาจเป็นคู่ขัดแย้งกัน ด้วยเหตุผลว่าหน่วยงานดังกล่าวไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญในส่วนของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ
 
นายพริษฐ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า หลังจากนี้ พรรคก้าวไกลหวังว่าประธานรัฐสภาจะบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชุดแรก (รวมกัน 3 ฉบับ) เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม และเรียกประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวโดยเร็ว อีกทั้งยังหวังว่าสมาชิกรัฐสภาทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และ สว.ชุดใหม่จะให้ความเห็นชอบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว เพื่อลบล้างผลพวงรัฐประหาร และเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราในประเด็นที่สำคัญและเร่งด่วน คู่ขนานกับการผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว



‘เครือข่ายชานม’ ร้อง กมธ.ความมั่นคงฯ จี้รัฐหนุนมาตรการคว่ำบาตร-ยุติให้บริการทางการเงิน ‘เมียนมา’ https://www.matichon.co.th/politics/news_4699185

‘เครือข่ายชานมฯ’ ร้อง กมธ.ความมั่นคงฯ จี้รัฐสนับสนุนมาตรการคว่ำบาตร-การให้บริการทางการเงินกับเมียนมา ด้าน ‘โรม’ เตรียมบุก แบงก์ชาติ-กต. ขอความชัดเจน-คืบหน้า
 
เมื่อเวลา 09.10 น. วันที่ 25 กรกฎาคม ที่รัฐสภา น.ส.ณิชากานต์ รักวงษ์ฤทธิ์ ผู้แทนพันธมิตรชานมประเทศไทย และเครือข่ายประชาชนไทยเพื่อคนพม่า พร้อมคณะเข้ายื่นหนังสือต่อนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาฯ เพื่อขอให้พิจารณาสนับสนุนข้อเรียกร้องจากภาคประชาสังคมกรณีที่ประเทศไทยถูกกล่าวถึงในการให้บริการทางการเงิน และให้การสนับสนุนในการจัดหาอาวุธ และยุทโธปกรณ์ให้กับรัฐบาลทหารเมียนมา

โดยน.ส.ณิชากานต์ กล่าวว่า ทางตัวแทนเครือข่ายฯมีความกังวลอย่างมากต่อความนิ่งเฉยของรัฐบาลไทยในขณะนี้จึงได้ร่วมกับ 240 องค์กรภาคประชาสังคมในเมียนมา และองค์กรระหว่างประเทศออกแถลงการณ์ร่วมกันจากความขัดแย้ง และการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในประเทศเมียนมานั้น จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยสนับสนุนมาตรการคว่ำบาตร ซึ่งเป็นการตัดการเข้าถึงการบริการทางการเงินระหว่างประเทศของเผด็จการหทารเมียนมา และการเข้าถึงรายได้จากก๊าซ และขอเรียกร้องให้ปตท.ยุติการมีส่วนร่วมในการสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงและปิดกั้นรายได้ก๊าซธรรมชาติของเผด็จการทหารของเมียนมา ตามเสียงเรียกร้องของภาคประชาสังคมเมียนมา รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) และพรรคก้าวไกล

ด้านนายรังสิมันต์ กล่าวว่า กมธ.ได้ติดตามเรื่องนี้ และพยายามแก้ปัญหาโดยการประชุมกมธ.ครั้งล่าสุด มีสัญญาณค่อนข้างบวกในการแก้ปัญหา โดยได้รับคำชี้แจงว่าธนาคารไม่ได้รับรู้เรื่องนี้มาก่อน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศก็ได้ชี้แจงในตอบกระทู้ถามสดแล้ว อย่างไรก็ตามเราไม่ต้องการเห็นการเอาทรัพยากรของประเทศไทย และการใช้ระบบธนาคารของประเทศไทยเข้าไปเกี่ยวข้องกับการซื้อขายอาวุธที่นำไปสู่การฆ่าล้างประชาชนในเมียนมา เพราะนี่ไม่ใช่สิ่งที่สังคมไทยยอมรับได้ และคนไทยไม่ต้องการเข้าไปเกี่ยวข้องไปกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ทั้งนี้ในวันที่ 2 สิงหาคม ทางกมธ.จะเดินทางไปธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อติดตามเรื่องนี้ และในช่วงปลายเดือนสิงหาคม จะเดินไปที่กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อติดตามเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งหวังว่าจะได้เห็นรูปธรรมอย่างชัดเจน



ชิปปิ้ง กรอกผิด 4 ปี ส่งออกหมอคางดำ ที่จริงเป็นปลาชนิดอื่น อนุกมธ.ติดใจ ชี้ ตามตัวไม่เจอ 1 บริษัท
https://www.matichon.co.th/economy/news_4699110
 
อนุ กมธ. ติดใจ ปม กรมประมง แจ้ง ชิปปิ้งกรอกข้อมูลผิด 4 ปี ส่งออกคางดำ
 
เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม สืบเนื่องจากกรณีที่ นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการ อุดมศึกษา
วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร ในการพิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำ เพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย พร้อมด้วย นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานคณะอนุ กมธ. ได้แถลงต่อสื่อมวลชน หลังจากเข้าไปตรวจสอบที่กรมประมง เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมานั้น
 
นพ.วาโย เปิดเผยว่า มี 1 ข้อสังเกต ที่ตนและทีมคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร ยังคงไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน และ ยังเป็นจุดที่ค่อนข้างน่าสงสัย คือ ปมการส่งออก ‘ปลาหมอคางดำ’ ในช่วงปี 2556-2559 กว่า 3 แสนตัว จาก 11 บริษัท ไปยัง 17 ประเทศ
จากการตรวจสอบ โดยทางกรมประมง พบว่าบริษัทผู้ส่งออกทั้ง 11 ราย ในเอกสารส่งออกระบุว่า ปลาที่ส่งออกมีชื่อวิทยาศาสตร์
ว่า Sarotherodon melanotheron ชื่อสามัญว่า Blackchin tilapia ชื่อภาษาไทยว่า “ปลาหมอเทศข้างลาย” แต่ทั้งหมด 11 ราย กรมประมงสรุปว่า เป็น เป็นความผิดพลาดจากการกรอกข้อมูลของเจ้าหน้าที่ชิปปิ้งที่ส่งออก ที่ใส่ชื่อ วิทยาศาสตร์ และชื่อ สามัญ ของปลาหมอเทศข้างลายผิด
 
ฉะนั้น อิงจากข้อมูลของทางกรมประมง สรุปว่า ปลาที่ส่งออกไป เมื่อปี 2556-2559 นั้น ไม่ใช่ปลาหมอคางดำ แต่เป็นปลาชนิดอื่นๆที่กรอกชื่อ ภาษาอังกฤษและชื่อวิทยาศาสตร์ของพันธุ์ปลาหมอคางดำ ใช้ชื่อไทยชื่อปลาหมอเทศ สรุปที่ส่งออกไปไม่ใช่ปลาหมอคางดำ แต่เป็นปลาชนิดอื่นๆ
 
นพ.วาโย กล่าวว่า ปมชิปปิ้งกรอกชื่อพันธุ์ปลาผิด จึงเกิดเป็นข้อสงสัยที่ตามมาว่า จะเป็นไปได้หรือไม่ ที่เจ้าหน้าที่ชิปปิ้งจะใส่ข้อมูลผิดติดต่อกันทั้ง 11 บริษัท ทุกรอบการส่งออกตลอด 4  ปี โดยที่กรมประมงไม่สงสัย หรือ อยากตรวจสอบเลยหรือว่า ปลาที่ส่งออกไป นั้น ชื่อผิด
 
อย่างไรก็ตามทาง นพ.วาโย เผยว่า ทางกรมประมง ก็ได้มีการโชว์เอกสาร ทั้ง เอกสารที่สำคัญในการทำธุรกรรมระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อ และ เอกสารคู่สัญญาที่ส่งไปยังต่างประเทศ ซึ่ง หลังจากที่ได้ดูเอกสารก็มีความเป็นไปได้ว่ามีการส่งออกปลาชนิดอื่น แต่ชิปปิ้งลงระบบผิด
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่