ผู้นำธุรกิจอาเซียนเตือน หากญี่ปุ่นขืนชักช้าจะแพ้จีน!

เครดิตแหล่งข่าว/เจ้าของบทความโดย กาแฟดำ สุทธิชัย หยุ่น
https://www.thaipost.net/columnist-people/521726/

ถ้าญี่ปุ่นขืนทำงานแบบเดิม ใช้เวลาการตัดสินใจยาวนานเพราะต้องการความรอบคอบแต่ไม่ทันกับความเปลี่ยนแปลงในระดับโลก...จีนต้องแซงหน้าในหลาย ๆ มิติแน่นอน

นี่คือคำเตือนจาก “เจ้าสัว” บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา แห่งเครือสหพัฒน์ที่มีความสัมพันธ์กับญี่ปุ่นมายาวนาน
เป็นการเตือนกันฉันท์เพื่อนและผู้คุ้นเคย

“ผมอายุมากพอที่จะพูดอะไรตรง ๆ กับผู้บริหารญี่ปุ่นเพราะเขารู้ว่าผมเป็นเพื่อนเขา และการเป็นเพื่อนต้องพูดอะไรอย่างไม่เกรงใจได้...” คุณบุณยสิทธิ์บอกผม
ผมอ่านเจอบทสัมภาษณ์ของ “เจ้าสัว” ในสื่อ Nikkei ของเอเซียซึ่งให้ความโดดเด่นกับความเห็นของคุณบุณยสิทธิ์มาก

เป็นข้อเสนอที่นอกจากจะไปถึงผู้บริหารธุรกิจญี่ปุ่นแล้ว ก็น่าจะเป็นการส่งสัญญาณเตือนไปถึงผู้นำรัฐบาลญี่ปุ่นไปพร้อม ๆ กันด้วย
ในบทความเดียวกันนี้ Nikkei สัมภาษณ์ผู้บริหารเอกชนระดับสูงอีกคนหนึ่ง นั่นคือตรวง เกียบินห์ หรือ Truong Gia Binh ประธานของกลุ่มเทคโนโนยี FPT ของเวียดนาม  ซึ่งก็มีความผูกพันกับญี่ปุ่นอย่างลึกซึ้งเช่นกัน
ทั้งสองคนเตือนญี่ปุ่นว่าต้องทิ้งกระบวนการตัดสินใจที่เชื่องช้าและเทคโนโลยีที่ล้าสมัยไว้ข้างหลัง
มิฉะนั้น ญี่ปุ่นจะเสียโอกาสในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้กับคู่แข่งจากจีนและเกาหลีใต้

สื่อญี่ปุ่นเรียกคุณบุณยสิทธิ์ว่าเป็น “ราชาแห่งสินค้าอุปโภคบริโภค” ในประเทศไทย
ปีนี้ที่วัย 86 คุณบุณยสิทธิ์เล่าให้สื่อญี่ปุ่นฟังว่าตอนเป็นหนุ่มเขาเคยไปฝึกงานที่โอซากาเพราะคุณพ่อ (คุณเทียม โชควัฒนา) ส่งไปเรียนรู้งานกับหุ้นส่วนชาวญี่ปุ่น

เมื่อกลับมาถึงประเทศไทย เขาก็มาพร้อมกับภาษาญี่ปุ่นที่คล่องแคล่ว
และเริ่มชักชวนบริษัทญี่ปุ่นเข้ามาประเทศไทยในช่วงทศวรรษ 1960
ทุกวันนี้ เครือสหพัฒน์ร่วมทุนกับบริษัทญี่ปุ่นประมาณ 80 แห่ง
รวมถึงบริษัท Lion ผู้ผลิตเครื่องแต่งกาย Wacoal ผู้ให้บริการรักษาความปลอดภัย Secom และเครือร้านสะดวกซื้อ Lawson

คุณบุณยสิทธิ์ชื่นชมหลักทำธุรกิจของบริษัทญี่ปุ่นในการสร้างความไว้วางใจผ่านความสัมพันธ์ระยะยาว
“แนวปฏิบัติของญี่ปุ่นดำเนินไปแบบเดิมทีละขั้นตอน การตัดสินใจของผู้บริหารชาวญี่ปุ่นเป็นไปอย่างช้าๆ" และ "สิ่งนี้ไม่เหมาะกับโลกปัจจุบันที่ความเร็วของนวัตกรรมเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว"

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดคืออุตสาหกรรมยานยนต์ ในประเทศไทย
ผู้เล่นญี่ปุ่นในวงการนี้เช่น โตโยต้า มอเตอร์ และ ฮอนด้า มอเตอร์ มีส่วนแบ่งเกือบ 80% ของตลาดรถยนต์ใหม่
แต่ก็กำลังเผชิญกับการแข่งขันจากเครื่องหมายการค้าของจีน เช่น BYD ซึ่งมีความเป็นเลิศในด้านรถยนต์ไฟฟ้า

คุณบุณยสิทธิ์ชื่นชม BYD เพราะรถยนต์ไฟฟ้าของบริษัทจีนแห่งนี้ให้ประสบการณ์ "การขับขี่ที่ราบรื่นและสะดวกสบายในราคาที่แข่งขันได้"
แม้ธุรกิจของเครือสหพัฒน์จะไม่ได้เกี่ยวกับรถยนต์สำเร็จรูป แต่เจ้าสัวก็ก็แสดงความกังวลเกี่ยวกับการลดลงของผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นในประเทศไทยที่กำลังแสดงตนเด่นชัดขึ้นทุกวัน

และย้ำว่า นักธุรกิจญี่ปุ่นไม่สามารถชนะการแข่งขันด้วยกรอบความคิดแบบเดิมอีกต่อไป
เพราะหากยังติดยึดกับแนวคิด “ค่อยทำค่อยไป” ในการเปลี่ยนจากเครื่องยนต์สันดาปภายในเป็นไฮบริดเป็นรถยนต์ EV ก็จะไม่ทันการกับโลกยุคนี้
แต่ในทางกลับกัน คุณบุณยสิทธิ์เชื่อว่าธุรกิจที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมญี่ปุ่น เช่น อาหารและที่อยู่อาศัย ยังคงมีข้อได้เปรียบในการแข่งขันกับประเทศอื่น

เพราะญี่ปุ่นและไทยมีความละม้ายคล้ายคลึงกันทางวัฒนธรรม จึงมีการยอมรับผลิตภัณฑ์และบริการของญี่ปุ่นในประเทศไทย
ในปี 2562 กลุ่มสหพัฒน์เพิ่มการลงทุนในบริษัทย่อยของ Pan Pacific International Holdings (PPIH) ซึ่งเป็นบริษัทญี่ปุ่นที่ดำเนินธุรกิจร้านอาหารอาหารกินด่วน Don Quijote ซึ่งกำลังขยายธุรกิจในประเทศไทย
และยังได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับโตคิวในปี 2557
จากนั้นก็โตคิว คอร์ปอเรชั่นก็ได้ขยายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดชลบุรีตะวันออก ริมอ่าวไทย และในกรุงเทพฯ โดยใช้ความเชี่ยวชาญของโตคิวในการจัดการที่อยู่อาศัยให้เช่าและ พื้นที่อื่นๆ

คุณบุณยสิทธิ์ยังเปิดเผยแผนสร้างคลังสินค้าทั่วประเทศไทย เพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทานของผู้ค้าปลีกชาวญี่ปุ่นในประเทศเพื่อเปิดทางให้มีการขยายธุรกิจได้
คลังสินค้าเหล่านี้จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการจัดจำหน่ายร่วมกันของกลุ่มบริษัทร่วมทุนกับ Lawson, PPIH, เครือร้านขายยา Tsuruha Holdings และอื่นๆ

ในขณะเดียวกัน FPT ของเวียดนามก็กำลังเร่งขยายธุรกิจในญี่ปุ่น
ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งนี้กำลังวางตำแหน่งตัวเองในฐานะหุ้นส่วนทางธุรกิจของบริษัทญี่ปุ่นที่สามารถช่วยปรับระบบการดำเนินงานให้เป็นดิจิทัลและพัฒนาธุรกิจใหม่ได้
ซึ่งเป็นก้าวสำคัญจากจุดเริ่มต้นที่เป็นแค่บริษัทรับเหมาเล็ก ๆ ที่มีพนักงานไม่กี่คน

FPT ก่อเกิดในปี 2531 โดยประธาน Truong Gia Binh วัย 67 ปี และคนอื่นๆ
เป็นธุรกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ปี 2543 ในการบริการบริษัทญี่ปุ่นที่เข้ามาทำธุรกิจในเวียดนาม
โดยใช้ประโยชน์จากต้นทุนค่าแรงที่ต่ำของเวียดนาม
จากนั้นก็ตั้งบริษัทสาขาในญี่ปุ่นในปี 2548 และได้พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อตอบสนองความต้องการของบริษัทญี่ปุ่น

FPT ขยายธุรกิจในฐานะผู้รับเหมาช่วงให้กับผู้พัฒนาระบบรายใหญ่
ยอดขายรวมในปี 2565 อยู่ที่ 44 ล้านล้านด่ง (ประมาณ ประมาณ 63,000 ล้านบาท) หรือเพิ่มจากเมื่อ 20 ปีก่อนถึง 30 เท่า

“ญี่ปุ่นยังมีระบบมากมายที่ยังคงสร้างด้วยภาษาคอมพิวเตอร์ที่ล้าสมัย เช่น ภาษาโคบอล” บินห์ กล่าว
พร้อมเสริมว่าธนาคารและผู้ผลิตมีระบบที่ซับซ้อนแต่ขาดความสามารถในการบำรุงรักษา ทำให้เกิด “โอกาสทางธุรกิจครั้งใหญ่” สำหรับบริษัทอย่าง FPT

“การประมวลผลแบบคลาวด์กลายเป็นมาตรฐานในที่ทำงาน” บินห์ บอก
 “และปัญญาประดิษฐ์เชิงสร้างสรรค์จะเปลี่ยนทุกอย่างเกี่ยวกับวิธีการทำงานของเรา ไม่มีใครสามารถหลีกหนีการเปลี่ยนแปลงนี้ได้”
บินห์ รู้ซึ้งถึงทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนของญี่ปุ่น
และมีความเห็นคล้ายกับคุณบุณยสิทธิ์ว่าถึงเวลาที่ญี่ปุ่นต้องปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมในการทำงาน
หากจะแข่งขันจีนในทุกเวทีระหว่างประเทศให้ได้
หาไม่แล้ว โอกาสพ่ายแพ้จะมีสูงมากที่ “แดนอาทิตย์อุทัย” จะกลายเป็น “แดนอาทิตย์อัสดง”!

ติดตามข่าวสารต่างๆ เพิ่มเติมได้ที่ https://www.thaipost.net

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่