ถูกไล่ออกกระทันหัน บริษัทให้เลือกระหว่างจะเสียประวัติหรือเซ็นใบลาออกเอง

สวัสดีค่ะ มีเรื่องอยากปรึกษาค่ะ
ดิฉันได้รับการนัดประชุมกับ hr เพื่อคุยเกี่ยวกับการประเมินการทำงานเมื่อวันศุกร์ที่ 9 ธันวาคมตอนเย็น

ในการประชุมมีการแจ้งเรื่องการประเมินและแจ้งว่าจะมีการเลิกจ้าง โดยให้วันดังกล่าวเป็นวันสุดท้ายของการทำงานทันที และให้ดิฉันคืนของทั้งหมดของบริษัท ณ ตอนนั้นเลย

บริษัทมีข้อเสนอให้กับดิฉันว่า ดิฉันอยากได้รับเอกสารการถูกเลิกจ้าง+ได้รับเงินชดเชย แต่เสียประวัติการทำงาน หรือจะเซ็นใบลาออก+ได้รับเงินชดเชย+เงินเดือนของเดือนธันวาคม+เงินค่าตกใจ+ไม่เสียประวัติการทำงาน

ดิฉันเลยเลือกข้อเสนอที่ 2 เพราะดิฉันไม่อยากให้มีการเสียประวัติการทำงาน และเซ็นใบลาออกพร้อมเก็บของทั้งหมดคืนบริษัททันที และทางบริษัทแจ้งว่าจะจ่ายเงินให้ตอนสิ้นเดือน

ไม่ทราบว่ามีใครเคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ไหมคะ แล้วสิ่งที่บริษัทกระทำนั้นยุติธรรมไหม ขอบคุณทุกความเห็นนะคะ
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 42
ขอบคุณทุกความเห็นมากนะคะ
ดิฉันขอตอบเรื่องรายละเอียดที่ขาดตกไปนะคะ

ดิฉันไม่ได้ถูกเลิกจ้างเพราะกระทำความผิด อาทิ ฉ้อโกง สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน ฯลฯ ใดๆค่ะ เป็นการเลิกจ้างเนื่องจากดิฉันไม่สามารถทำงานได้ตรงตาม performance ที่ทางบริษัทต้องการ มีการประเมินและเข้าร่วม PIP

ในส่วนเรื่องเงินค่าชดเชย บริษัทได้มีการออกเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษร เขียนระบุว่าจะจ่ายจำนวนเท่าไหร่ เมื่อใดให้กับดิฉัน ขออภัยที่ไม่ได้แจ้งให้ทราบตั้งแต่แรกถึงเอกสารตรงนี้นะคะ เนื่องจากก่อนหน้านี้ดิฉันอยู่ในสภาวะมึนงงและตกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เลยทำให้ดิฉันลืมไปว่าทางบริษัทได้มีการออกเอกสารนี้อยู่

การตัดสินใจเลือกเซ็นลาออกของดิฉัน ส่วนหนึ่งมาจากการวางใจว่าทางบริษัทจะจ่ายค่าชดเชยให้ตามเอกสารดังกล่าว อีกทั้งดิฉันคิดว่าประวัติการทำงานเป็นสิ่งสำคัญ สามารถตรวจสอบได้ และเงินค่าชดเชยที่บริษัทได้ยื่นข้อเสนอเป็นสิ่งที่ดิฉันควรจะได้หากบริษัทจะเลิกจ้าง

ดิฉันหวังว่าข้อมูลข้างต้นจะสามารถตอบคำถามของบางความเห็นได้นะคะ หากมีข้อสงสัยใดๆสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ค่ะ

**update นะคะ**
ทางบริษัทจ่ายมาตามจริง (+หักภาษี ณ ที่จ่าย) ที่ได้ตกลงไว้แล้วค่ะ ขอบคุณทุกความเห็นนะคะ 😊
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 1
ระวังเจอเหลี่ยมครับ โอกาสสูงมาก เพราะหากเซ็นใบลาออกเอง บริษัทมีสิทธิ์ ที่จะไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยหรือค่าตกใจใดๆ

ในทางกลับกันการ เลิกจ้างคือเลิกจ้าง ไม่ใช่ไล่ออก
- ไม่เสียประวัติการทำงาน
- ต้องได้รับเงินชดเชยตามอายุงาน
- ได้เงินค่าตกใจ
- หากเลิกจ้างโดยไม่มีความผิด เรายังฟ้องนายจ้างได้ด้วยข้อหาเลิกจ้างไม่เป็นธรรม เรียกเงินเพิ่มได้อีก

ตัวอย่างการเลิกจ้าง เช่น ข่าวที่โรงงานเลิกจ้างเพราะปิดตัวหรือย้ายฐานการผลิต แต่จากในข่าวที่ผมดูเขาไม่โดนฟ้อง เพราะเขาจ่ายเงิน Extra เพิ่มเติมให้ในจำนวนที่มากกว่ากฎหมายกำหนด ซึ่งลูกจ้างยอมรับ
ความคิดเห็นที่ 19
เลิกจ้างไม่เป็นธรรม ประเมินผลเกรด D หรือ F
คำพิพากษาฎีกาที่ 17255/2555
    เอกสารแสดงผลการประเมินการปฏิบัติงานข้อ 6 ได้ให้ผลการประเมินว่า เกรด D  หมายถึงผลการปฏิบัติงานอยู่ในเกณฑ์ต้องปรับปรุง และเอกสารหมาย ล. 3 ข้อ 6 ให้ผลการประเมินเกรด F หมายถึงผลการปฏิบัติงานไม่สามารถปฏิบัติงานได้ประสบผลสำเร็จ ตามเงื่อนไขในการพิจารณาให้ได้รับเงินรางวัลพิเศษ ไม่ใช่เงื่อนไขในการกำหนดเพื่อใช้ในการเลิกจ้าง และผู้ที่ได้ผลการประเมิน แม้จะได้ลำดับเกรด D หรือ เกรด F  ก็ไม่ได้กำหนดให้เลิกจ้างได้ ทั้งไม่ได้ระบุว่า บุคคลที่ได้เกรดดังกล่าว ถือว่าขาดประสิทธิภาพหรือบกพร่องต่อหน้าทีการงาน แต่ระบุเกรด D ต้องปรับปรุง หรือเกรด F  ไม่สามารถปฏิบัติงานให้ประสลผลสำเร็จได้ ตามคำเบิกความของผู้จัดการฝ่ายบุคคลของจำเลย ได้เบิกความว่า เกรด F แปลว่า เป็นการทำงานที่ใช้ไม่ได้แล้ว ต้องมีการพัฒนาอย่างหนึ่งงอย่างใดต่อพนักงานผู้นั้น ซึ่งไม่ปรากฏว่า จำเลยได้มีการพัฒนาโจทก์อย่างหนึ่งอย่างใด แต่กลับนำมาอ้างเป็นเหตุเลิกจ้างโจทก์ เหตุเลิกจ้างของจำเลย จึงยังไม่พอให้รับฟังว่า การเลิกจ้างนี้ ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ได้

คำพิพากษาฎีกาที่    7691 - 7692/57
ผลการทำงานดีมาโดยตลอดและไม่เคยกระทำผิดมาก่อน  แต่ปีสุดท้ายผลงานต่ำกว่ามาตรฐาน  ไม่ถือเป็นเหตุที่จะอ้างในการเลิกจ้าง
......แม้ในปี  2552  ซึ่งเป็นปีสุดท้ายก่อนถูกเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองจะได้รับการประเมินผลการปฏิบัติงานอยู่ในเกรด   E   และ  D  อันหมายถึงผลการประเมินอยู่ในขั้นต่ำกว่ามาตรฐาน  แต่ระหว่างปี  2549  ถึงปี  2551  โจทก์ทั้งสองได้รับการประเมินอยู่ในเกรด B ซึ่งหมายถึงอยู่ในเกณฑ์ดี แสดงว่าโจทก์ทั้งสองปฏิบัติงานดีมีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานตลอดมาทั้งสามปีติดต่อกัน  ประกอบกับตลอดระยะเวลาตั้งแต่โจทก์ทั้งสองเข้าทำงานกับจำเลยจนถึงวันเลิกจ้างปรากฏข้อเท็จจริงตามแนบประวัติการทำงานของโจทก์ทั้งสองว่าโจทก์ทั้งสองไม่เคยกระทำความผิดและถูกลงโทษทางวินัยแต่อย่างใด  การที่จำเลยอ้างเหตุแต่เพียงว่าโจทก์ทั้งสองปฏิบัติงานต่ำกว่าเกณฑ์ที่จำเลยกำหนดโดยอาศัยแบบประเมินในปีสุดท้ายก่อนเลิกจ้างเพียงปีเดียวมาเป็นเหตุในการเลิกจ้างจึงไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ทั้งสอง การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองด้วยเหตุดังกล่าวจึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน  พ.ศ.  2522  มาตรา  49  ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมานั้น  ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย  อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่