การพิจารณากาย ทำยังไง จินตนาการเอาเหรอครับ

สงสัยที่คนนั่งสมาธิบอกว่า นั่งพิจารณากาย ดิน น้ำ ลม ไฟ อะไรเนี่ย ทำยังไงครับ จินตนาการในความคิดเหรอครับ

ขอคำอธิบายภาษาง่ายๆครับ ไม่ต้องบาลี ผมไม่เข้าใจ หากูเกิลก็เจอแต่บาลียากๆ อ่านยาก ไม่เข้าใจ แต่ไม่เห็นวิธีปฏิบัติจริงจังเป็นข้อๆเลย
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 10
ขออธิบายตามที่ฝึกมานะคะ โดยฝึกตามที่พระอาจารย์สอนทางยูทูป ซึ่งการสอนท่านจะไม่ได้เน้นการพิจารณากายโดนเฉพาะ แต่เป็นการพูดรวมๆกันไปในการเจริญสติและสมาธิภาวนา เป็นการฝึกโดยการนั่ง ซึ่งเมื่อฝึกไปก็จะเห็นในชีวิตประจำวันด้วย เพราะมันเป็นการเห็นร่างกายจิตใจตัวเองที่อยู่กับเราตลอดเวลา เราฝึกเองที่บ้าน เข้าใจผิดเข้าใจถูกก็ฝึกไป ผลที่ได้ไม่มีโอกาสได้ถามพระอาจารย์ แต่เคยถามท่านนึงที่เรานับถือเป็นครู ท่านก็ว่าดีแล้ว...

นั่งขัดสมาธหลังตรง คอตั้งบ่า ผ่อนคลายร่างกาย แบ่งการรับรู้ร่างกายออกเป็น 4 ส่วน คือหัวและใบหน้า ไหล่แขนฝ่ามือ อกท้องหลัง ก้นน่องขาเท้า

เริ่มจากส่วนหัวและใบหน้า ก็ให้รับรู้ถึงความรู้สึกที่หนังศรีษะว่าเป็นอย่างไร ในหัวมีอะไรไหม อุณหภูมิเป็นอย่างไร หน้าผาก ตา ในตา จมูก ในจมูก ริมฝีปาก ลิ้น ฟัน น้ำลาย แก้ม.. โดยไม่จินตนาการ ไม่คิด ไม่เพ่ง ไม่ควานหา รู้ซื่อๆ รู้แล้วปล่อย รู้แล้วปล่อย แล้วก็ให้รับรู้ความรู้สึกกับส่วนอื่นๆของร่างกายแบบเดียวกัน จากนั้นก็เป็นการฝึกรู้ลม รู้ความสั้นยาว รู้อุณหภูมิ จนรู้สิ่งเดียวจุดเดียวคือที่ปลายจมูกที่ลมหายใจเข้าออกสัมผัสชัดเจน ก็วนฝึกไปอย่างนี้ต่อเนื่องเป็นหลายๆเดือน

เบื้องแรกหากเรามีสติอยู่กับความรู้สึกทางกายได้ต่อเนื่อง จิตจะไม่มีความคิดปรุงแต่งเจือปน จะว่างจากอัตตาตัวตนเราเขา จะเห็นกายตามความเป็นจริง คือสักแต่ว่ากาย จิตอาจจะเห็นเป็นก้อนเนื้อที่หายใจเข้าหายใจออกเฉยๆก็ได้ หรือใครเห็นเป็นอย่างอื่นก็แล้วแต่ แต่มันจะสักแต่ว่า เห็นเฉยๆ

เราฝึกสติโดยการบริหารร่างกายด้วยโยคะด้วยชี่กง คือรู้ตัวในการเคลื่อนไหวร่างกายไปตามท่าต่างๆ เมื่อมีสติต่อเนื่องจิตก็จะเห็นเป็นสักแต่ว่า เราฝึกสติและสมาธิโดยการสวดมนต์ มีความคิดเกิดขึ้นดับไปก็แค่เห็นเฉยๆ ฝึกสติกับสมาธิกับบทสวดจนครั้งนึงเห็นความคิดสุดท้ายดับไปแล้วเจอสภาวะนึง เป็นสภาวะที่ดีอยู่ในตัว ที่ก็ขอเรียกว่าสักแต่ว่าสภาวะก็แล้วกัน..

ซึ่งการดูกายหรือดูลม จริงๆแล้วคือการฝึกสติผู้รู้ ให้รู้สิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยไม่มีเราไปแทรกแซงด้วยความรู้สึกนึกคิด ความจำ หรือจินตนาการ ซึ่งเมื่อใครฝึกสติสมาธิภาวนาไปเรื่อยๆ ความคิดปรุงแต่งมันจะน้อยลงเอง ความสำคัญมั่นหมายต่อตัวตน ต่อบุคคล ต่อเหตุการณ์ ต่อสิ่งต่างๆมันก็น้อยลง ความยึดมั่นถือมั่นก็ลดน้อยลง จิตก็จะอยู่กับสิ่งที่เราให้ยึดเกาะในปัจจุบัน มีอะไรมากระทบก็จะรู้ตัวรู้ทัน ไม่ไหลไปตามตัณหาอุปาทานมาก ร่างกายเจ็บปวดเมื่อยล้ามันก็รู้สึกแต่มันไม่คอยพะวง ไม่ทุกข์ไม่เศร้าสร้อย

การฝึกพิจารณากายที่เทียบเคียงกับการฝึกของเรา เราก็รู้อยู่ประมาณนี้ค่ะ เราฝึกตามพระอาจารย์คือไม่ได้เน้นดูกาย แต่ฝึกเจริญสติและสมาธิภาวนาตามแนวทางท่าน ฟังธรรมที่ท่านเทศน์สอน ซึ่งท่านบอกอยู่เสมอว่าเป็นการฝึกตัวรู้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่