ข้อเข่าเสื่อม ควรเลือกกินอะไรดี ?


ข้อเข่าเสื่อม ควรเลือกกินอะไรดี ?
 
ด้วยสังคมไทยกำลังก้าวสู่ “สังคมผู้สูงอายุ -  Aging Society” อย่างเต็มรูปแบบ มีตัวเลขจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม พ.ศ.2548 – 2568 , มหาวิทยาลัยมหิดล รายงานว่าเป็นไปได้ที่อัตราเพิ่มประชากรลดลงไปจนต่ำกว่าศูนย์หรือติดลบ จำนวนประชากรไทยใกล้จะถึงจุดคงตัวแล้ว เมื่ออัตราเพิ่มประชากรใกล้เคียงกับศูนย์ ประชากรก็จะมีจำนวนคงตัวที่ประมาณ 65 ล้านคน ในแต่ละปี  ในขณะที่ อายุของคนไทยยืนยาวขึ้น ฉะนั้นสิ่งสำคัญที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต คือ ประเทศไทยจะมีประชากรสูงอายุ มากขึ้นถึงร้อยละ 25 อีก 30 ปีข้างหน้านี่เอง !  ดังนั้น ผู้สูงอายุ ถือเป็นวัยที่ต้องดูแลตัวเองเป็นพิเศษ ด้วยวัยที่มากขึ้น อวัยวะร่างกายเสื่อมตามวัย โรคต่าง ๆ ถามหากันมากขึ้น และหนึ่งในโรคที่สร้างปัญหาให้กับผู้สูงอายุในการใช้ชีวิตประจำวัน นั่นคือ “โรคข้อเข่าเสื่อม” (Knee Osteoarthritis) โดยตำแหน่งที่พบบ่อยคือในส่วนของข้อที่รับน้ำหนักมาก เช่น ข้อเข่า ข้อสะโพก ข้อต่อกระดูกสันหลัง เป็นต้น  แต่ก็มีจำนวนสัดส่วนค่อนข้างน้อยที่ผู้สูงอายุ ไม่ได้มีปัญหาโรคข้อเข่าเสื่อม (มีปัญหาโรคอื่นแทน)  ทีนี้ ถ้าจะอธิบายอย่างเข้าใจง่าย ๆ โรคข้อเข่าเสื่อม เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของผิวของกระดูกอ่อนหุ้มข้อ ทำให้มีการหลุดลอกของผิวกระดูกอ่อนหุ้มข้อ มีผลให้เซลล์กระดูกอ่อนเกิดอาการบวมน้ำ ความหนาแน่นกระดูกน้อยลง ส่งผลให้เกิดการเสียดสี จนทำให้เนื้อเยื่อหุ้มข้ออักเสบ   อาการในระยะแรก อาจมีการขัดหรือฝืดในข้อเป็นครั้งคราว บางรายอาจมีอาการเจ็บปวดร่วมอยู่ด้วย ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ มีผลสัมพันธ์กับกิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน เช่นเดินขึ้น-ลงบันได การนั่งยองผิดลักษณะ หรือการออกกำลังกายหักโหม ซึ่งล้วนแต่เป็นกิจกรรมเสริมทำให้ข้อเข่าเจ็บปวดเพิ่มขึ้น  
 
อาการของโรค
มักเริ่มจากมีอาการปวดข้อเข่าเป็น ๆ หาย ๆ และจะปวดมากขึ้น เมื่อมีการใช้งานข้อมาก ๆ และถ้าหากมีอาการเรื้อรังมาก จะมีอาการปวดตลอดเวลา มีจุดที่กดแล้วเจ็บมาก ซึ่งมักพบบ่อยตรงส่วนด้านในของข้อเข่า  หากเป็นรุนแรง อาจทำให้เกิดข้อเข่าผิดรูป และมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อบริเวณรอบข้อเข่า 
 
การดูแลรักษาข้อเข่า
·        ลดอาการปวดและเกร็งของกล้ามเนื้อรอบเข่า โดยใช้ความร้อนประคบ
·        ใช้สนับเข่า เพื่อช่วยให้ข้อเข่ากะชับ ลดอาการปวด 
·        หลีกเลี่ยงอิริยาบถที่ไม่เหมาะสม เพราะจะเป็นตัวเร่งให้เกิดความเสื่อมในข้อเข่าเร็วขึ้น เช่น การนั่งพับเพียบ คุกเข่า ขัดสมาธิ หรือ นั่งยอง ๆ 
·        เพิ่มความมั่นคงในการเดิน และ ยืน แนะนำใช้ไม้เท้า เพราะจะช่วยผ่อนแรงที่ส่งไปยังเข่าได้
·        การลดน้ำหนัก ถือเป็นวิธีที่ดีเพื่อช่วยไม่ให้เข่าต้องรับน้ำหนักตัวที่มากกว่าปกติ และถือเป็นการช่วยข้อเข่า ไม่ให้รับแรงกระทำมากเกินไป
 
ทราบสาเหตุแล้ว และวิธีดูแลรักษาข้อเข่าไปแล้ว  ทีนี้เรามีให้ดูกันว่าอาหารอะไรบ้าง ที่ช่วยบำรุงข้อเข่า
1)       เบต้าแคโรทีน
เป็นสารต้านอนุมูลอิสระตัวหนึ่ง ซึ่งจะช่วยขจัดสารอนุมูลอิสระ ที่อาจมีส่วนทำลายข้อต่อกระดูกต่าง ๆ โดยอาหารที่มีเบต้าแคโรทีนสูง ได้แก่ แครอท แคนตาลูป ใบสาระแหน่ ผักปวยเล้ง 

2)       วิตามินดี
ช่วยดูดซึมแคลเซียมและเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกในร่างกาย ร่างกายเราสามารถสังเคราะห์วิตามินได้ทางผิวหนังจากการรับแสงแดด โดยแนะนำให้รับแสงแดดอ่อน ๆ แต่ต้องเลี่ยงแสงแดดจ้า หรือ อยู่กลางแดดเป็นเวลานานเกินไป ควรเน้นการทานอาหารประเภท ปลาซาดีน อาหารทะเล ต่าง  ๆ

3)       สารกลุ่มไบโอฟลาโวนอยด์ (Bioflavonoid)
เช่น เควอซีทีน (Quercetin) และแอนโทไซยานิดิน (Anthocyanidins) มีฤทธิ์ ต้านการอักเสบคล้ายแอสไพริน และอาหารที่มี ไบโอพลาโวนอยด์สูง จัดอยู่ในอาหารประเภท บลูเบอรี่ แอปเปิ้ล ชาเขียว หัวหอม มะเขือเทศ ชาเขียว

4)       ควรทานอาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียม
เพราะแร่ธาตุชนิดนี้ ช่วยสร้างความแข็งแรงให้กระดูก และลดความเสี่ยงของโรคกระดูกพรุน  เช่น โยเกิร์ต  ปลาตัวเล็กตัวน้อย  และควรเลือกทานผักใบเขียว เช่น คะน้า บล๊อกเคอรี่  หรือพวกงาดำ งาขาว

5)       ทานปลาทะเลน้ำลึก
เน้นควรทานปลาทะเลน้ำลึก อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เช่น ปลาแซลมอน เพราะมีกรดไขมันโอเมก้า 3 สูงมาก จากงานวิจัยพบว่า สารอาหารชนิดนี้ สามารถช่วยให้ข้อแข็งแรง และลดอาการปวด และอักเสบของผู้ป่วยโรคข้อได้ แนะนำวิธีปรุงอาหารโดยการนึ่งแทน เพื่อลดปริมาณแคลอรี่จากน้ำมัน

6)       เน้นทานผลไม้หลากสี
ทานผักผลไม้ ที่มีสีสันหลากหลาย เช่น มะเขือเทศ แครอตสีส้ม กำหล่ำปลีสีม่วง ข้าวโพด ฟักทองสีเหลือง ผักใบเขียวชนิดต่าง ๆ 
อยากแนะนำว่า ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม สามารถที่จะออกกำลังกายเพื่อสุขภาพได้เช่นกัน และการออกกำลังกายที่ดีที่สุด คือ การออกกำลังกายในน้ำ (เพราะเป็นการลดแรงกระแทก 100%) ถ้าไม่สะดวก  ก็อาจจะแนะนำเป็นการเดิน ก็ถือว่าเป็นการออกกำลังกายที่ดีเช่นกัน  แต่ที่ควรเลี่ยงคือ วิ่ง  เพราะเป็นการทำร้ายข้อเข่าโดยตรง เพราะเพิ่มแรงกระแทกกับข้อเข่า  และในกรณี ที่ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม มากแล้ว จะทราบได้อย่างไรว่า ถึงเวลาต้องผ่าตัดเปลี่ยนหัวเข่า  ผู้เขียนเอง เคยถามแพทย์ท่านหนึ่งด้วยคำถามนี้เลย  แพทย์ท่านตอบพร้อมรอยยิ้มว่า “ส่วนใหญ่หมอเอง ไม่เคยต้องนัดผู้ป่วยว่ามาผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเมื่อไหร่  แต่เป็นที่ผู้ป่วยเอง ที่ทนความทุกข์ทรมาน - เจ็บข้อเข่าของตัวเองไม่ไหว จะมาขอนัดหมอให้ทำการผ่าตัดให้เอง”  และปัจจุบัน การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม (Total Knee Replacement) ถือว่าแพทย์ไทยเก่งมากค่ะ ใช้เวลาสั้น เจ็บน้อย ฟื้นตัวไว และอย่างที่กล่าวข้างต้น เราจะก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุกันอย่างเต็มรูปแบบ  จุดไหนในร่างกายเสื่อม ก็ซ่อมกันไป จุดไหนยังไม่เสื่อม เราก็กายบริหารกันไป เพื่อป้องกันให้เสื่อมช้าที่สุด ดูแลสุขภาพข้อเข่ากันนะคะ พบกันใหม่ ฉบับหน้าค่ะ
 
(เครดิต :  www.orthogate.org – 6 food to eat after having an orthopedic surgery, www.ravallirepublic.com – healing after a knew replacement, โปรแกรมลดปัญหาข้อเข่าเสื่อมของผู้สูงอายุ โรคข้อเข่าเสื่อม รพ.สต.ช้างซ้าย อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฏร์ธานี,)
 
#KINN_Holistic_Healthcare

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่