มาแล้วครับวิธีย่น ระยะทาง ไปถึงพระนิพพาน

กระทู้คำถาม
ยอดของ “วิธีปฏิบัติ”
ทำอย่างไรถึงจะเป็นผู้บรรลุพระนิพพาน?
“นิพพาน” เป็นสิ่งที่สามารถบรรลุได้ในชีวิตปัจจุบัน
.
…. “ เรื่องมีอยู่ว่า พระสาวก(พระมหาโมคคัลลานะ) ทูลถามพระพุทธองค์ว่า “สังขิตเตนะ” ด้วยวิธีการอย่างย่นย่อ ทำอย่างไรภิกษุจะเป็นผู้หลุดพ้นแล้วโดยความสิ้นไปแห่งตัณหา หมายความว่า..โดยย่อ ทำอย่างไรภิกษุจะเป็นผู้บรรลุนิพพาน?

…. พระพุทธเจ้าก็ตรัสพุทธพจน์นี้ขึ้นมาว่า ภิกษุได้สดับหลักการที่ว่า “สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย” (องฺ. สตฺตก. ๒๒/๕๘/๙๐) แปลว่า ธรรมทั้งปวงไม่อาจจะยึดมั่นถือมั่นได้ เพราะเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อรู้เข้าใจความจริงของมัน ก็จะไม่ยึดติดถือมั่นสิ่งใดในโลก จึงไม่ร่านรนเร่าร้อน ก็จะสงบเย็นนิพพาน
.
รู้ว่าธรรมทั้งปวงไม่อาจยึดมั่นได้ ก็คือ...
.
รู้สภาวะของมันที่เป็น “ทุกข์”
.
ความยึดมั่นที่จะต้องละนั้น คือ “สมุทัย”
.
ปัญญาที่ทำให้ละความยึดมั่นนั้นเสียได้ก็เป็น “มรรค”
.
เมื่อละความยึดมั่นได้ ก็สงบเย็น นิพพาน คือ “นิโรธ”
.
…. หลักนี้ นับว่าเป็น“จุดยอดของการปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลาย” ในขั้นที่ถึงปัญญาเลย ซึ่งให้รู้เท่าทันความจริงว่า สิ่งทั้งหลายมันเป็นของมันตามสภาวะของธรรมชาติ เช่น เป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน เราจะเอาความยึดมั่นถือมั่นของเราไปกำหนดมันไม่ได้
…. ตกลงว่าเท่าที่มีการกล่าวถึงหัวใจพระพุทธศาสนากันหลายแบบหลายแนวนั้น ทั้งหมดก็เป็นอันเดียวกัน..ฯ..ต่างกันโดยวิธีพูดเท่านั้น 
…. และขอย้ำว่า อย่ามัวพูดว่าอย่างนั้นก็ได้ อย่างนี้ก็ได้ ขอให้จับหลักลงไปให้ชัด และปฏิบัติให้มั่นให้เด็ดเดี่ยวแน่ลงไป...”
.
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต )
ที่มา : จากธรรมนิพนธ์เรื่อง “แก่นแท้ของพระพุทธศาสนา” บรรยายแก่ผู้บริหารระดับสูงของกรมการศาสนา เมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๑ 
-----------------------------------------------
.
“นิพพาน”จุดหมายสูงสุดของชีวิต 
เป็นสิ่งที่สามารถบรรลุได้ในชีวิตปัจจุบัน
( เมื่อปฏิบัติจนเหตุปัจจัยถึงพร้อม)
นิพพาน เป็น สันทิฏฐิโก อกาลิโก

…. “ นิพพาน” ซึ่งเป็นจุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา เป็นภาวะที่มนุษย์สามารถประจักษ์แจ้งได้ในชีวิตปัจจุบันนี้เอง เมื่อเพียรพยายามทําตัวให้พร้อมพอ ก็ไม่ต้องรอถึงชาติหน้า 
.
…. ดังมีคุณลักษณะอย่างหนึ่งของ “นิพพาน” ว่าเป็น “สนฺทิฏฺฐิกํ” ( เห็นชัดได้เอง, ประจักษ์ได้ในชีวิตนี้ ) และ “อกาลิกํ” (ไม่จํากัดกาล, ไม่ขึ้นต่อเวลา) และท่านได้แสดงข้อปฏิบัติต่างๆ ไว้ เพื่อให้บรรลุนิพพานได้ใน “ทิฏฐธรรม” คือ ในชาตินี้ ในปัจจุบัน ทันเห็น ทันตา จึงมีพุทธพจน์ตรัสยืนยันว่า
.
…. “เราย่อมกล่าวดังนี้ว่า: บุรุษผู้เป็นวิญญู ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา เป็นคนตรง จงมาเถิด เราจะสั่งสอน เราจะแสดงธรรม เมื่อเขาปฏิบัติตามคําสั่งสอน ก็จักประจักษ์แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยม ที่กุลบุตรทั้งหลายผู้ออกจากเรือนบวชเป็นอนาคาริกโดยชอบต้องการ อันเป็นจุดหมายของพรหมจรรย์ เข้าถึงอยู่ในปัจจุบันนี้ทีเดียว (โดยใช้เวลา) เจ็ดปี...หกปี...ห้าปี ฯลฯ หนึ่งเดือน...กึ่งเดือน...เจ็ดวัน”
.
ที่มา : จากหนังสือ “พุทธธรรม ฉบับปรับขยาย”
ของ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต )
ตอน ๔ บทที่ ๑๐ หัวข้อเรื่อง “คุณค่าและลักษณะพิเศษที่พึงสังเกตเกี่ยวกับนิพพาน” พิมพ์ครั้งที่ ๓๗ (แยกภาค ๓ เล่ม) อยู่ในหน้า ๔๘๗ (พิมพ์แต่ละครั้งอาจหน้าไม่ตรงกัน)
#หมายเหตุ : ข้อความข้างต้น ในหนังสือได้อ้างอิง พระบาลีไตรปิฎก,คัมภีร์ ไว้ด้วยเป็นจำนวนมาก ไม่ได้นำมาโพสต์ไว้ในที่นี้ด้วย
.
หมายเหตุ : ( ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ )
“ ทิฏฐธรรม ” คือ สภาวะซึ่งเห็นได้ในชีวิตปัจจุบันหรือชาตินี้
“ สนฺทิฏฺฐิโก, สนฺทิฏฺฐิกํ ” คือ ธรรมอันผู้บรรลุประจักษ์แจ้งกับตนเอง หรือใช้คำว่า เห็นเองรู้เอง ก็ได้ ถ้ามาคู่กับคำว่า “สมฺปรายิโก” จะมีความหมายว่า เห็นได้หรือประจักษ์ได้ในชีวิตชาติปัจจุบันนี้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่