JJNY : ตลับตรวจโควิดทักษิณลงทุนดีเท่าการตรวจในแล็บ/จีนยึดอีอีซีตุนสินค้าทุบSME/มวลชนทยอยถึงมธ./ทรายเปิดโรงครัวเลี้ยงม็อบ

ผลศึกษาพบตลับตรวจหาโควิดที่ทักษิณร่วมทุนให้ผลดีเท่าการตรวจในห้องแล็บ - BBC News ไทย
https://www.bbc.com/thai/international-54204667

นักวิทยาศาสตร์ระบุ การตรวจหาเชื้อโควิดแบบรวดเร็วสามารถวินิจฉัยการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้อย่างแม่นยำภายในเวลา 90 นาที โดยไม่ต้องใช้ห้องปฏิบัติการเฉพาะทาง
 
ผลการศึกษาของอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน (Imperial College London) ระบุว่า อุปกรณ์ตรวจหาเชื้อโรคโควิด-19 ที่เป็นตลับนี้ ให้ผลที่ใกล้เคียงกับการตรวจหาเชื้อในปัจจุบัน
 
ขณะนี้โรงพยาบาลหลายแห่งของบริการสุขภาพแห่งชาติ (National Health Service—NHS) กำลังใช้งานอุปกรณ์นี้อยู่ เพื่อหาผู้ติดเชื้อไวรัสนี้อย่างรวดเร็ว
 
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า อุปกรณ์นี้ไม่ใช่คำตอบของโครงการตรวจและแกะรอยผู้ติดเชื้อที่มีความยุ่งยากซับซ้อนมาก
 
ทุกคนสามารถใช้อุปกรณ์ตรวจโควิดแบบรวดเร็ว ซึ่งพัฒนาโดยบริษัท DnaNudge นี้ได้ เพียงแค่ต้องรู้วิธีในการใช้ไม้พันสำลีเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อในโพรงจมูกและลำคอของตัวเอง
 
ไม้พันสำลีที่เก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อจะถูกนำมาเสียบในกล่องสีน้ำเงินที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง โดยในกล่องนั้นจะมีสารเคมีที่ใช้ในการตรวจหาเชื้อบรรจุอยู่
 
จากนั้นกล่องนี้จะถูกนำไปใส่เครื่องที่มีขนาดเท่ากับกล่องเก็บรองเท้า เพื่อทำการวิเคราะห์
 
การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์แลนเซ็ต ไมโครบ (Lancet Microbe) ได้เปรียบเทียบผลการตรวจตัวอย่างเนื้อเยื่อที่เก็บมาจาก 386 คน ที่นำไปตรวจด้วยอุปกรณ์ของ DnaNudge และห้องปฏิบัติการตามมาตรฐานทั่วไป
 
ศ.เกรแฮม คุก จาก อิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน กล่าวว่า "ผลการตรวจใกล้เคียงกันมาก สร้างความมั่นใจในการนำเทคโนโลยีใหม่นี้เข้ามาใช้งาน"
 
"การตรวจจำนวนมากต้องแลกกันระหว่างความเร็วกับความแม่นยำ แต่การตรวจแบบนี้มีทั้งความเร็วและความแม่นยำ"
 
การตรวจทางห้องปฏิบัติการที่ระบุว่า คนไข้ไม่มีเชื้อไวรัสนี้ ผลการตรวจด้วยอุปกรณ์ตรวจแบบรวดเร็วก็ให้ผลเช่นเดียวกัน แต่ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่พบว่าคนไข้ติดเชื้อ ผลการตรวจด้วยอุปกรณ์นี้ให้ผลเดียวกัน 94%
 
สหราชอาณาจักรได้สั่งซื้อเครื่องนัดจ์บ็อกซ์ (Nudgebox) มาแล้ว 5,000 เครื่อง และกล่องตรวจแบบใช้แล้วทิ้งอีก 5.8 ล้านกล่อง
 
เรื่องอื่น ๆ ที่คุณอาจสนใจเกี่ยวกับโควิด-19:
 
อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อด้อยที่สำคัญอยู่คือ แต่ละเครื่องสามารถตรวจได้เพียง 1 กล่องต่อครั้ง ดังนั้น ตลอดทั้งวัน เครื่องนัดจ์บ็อกซ์ จะทำงานได้ 16 ครั้ง
 
ศ.คุก กล่าวว่า "อุปกรณ์นี้มีประโยชน์ตามหน่วยแพทย์ต่าง ๆ เมื่อคุณต้องการทราบผลเพื่อการตัดสินใจในเวลาอันรวดเร็ว"
 
เขาได้เล่าถึงคนไข้คนหนึ่งที่ได้รับการตรวจอย่างรวดเร็วเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า มีเชื้อโรคโควิด-19 และได้เริ่มรับยาเดกซาเมทาโซน (dexamethasone) และ เรมเดซิเวียร์ (remdesivir)
 
การตรวจแบบรวดเร็วนี้จะยิ่งเป็นประโยชน์มากขึ้นสำหรับโรงพยาบาลต่าง ๆ ในอนาคต เพราะสามารถตรวจหาเชื้อหลายชนิดในเวลาเดียวกันได้ ทั้งไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ไข้หวัดใหญ่ และไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ (respiratory syncytial virus—RSV) ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เด็กจำนวนมากป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาล
 
อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดด้านความสามารถในการรองรับการตรวจทำให้อุปกรณ์นี้ไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาในโครงการตรวจและแกะรอยผู้ติดเชื้อของ NHS หรือ "ปฏิบัติการไกลสุดเอื้อม" (Operation Moonshot) ซึ่งเป็นโครงการตรวจหาเชื้อในหมู่คนจำนวนมากพร้อม ๆ กัน ของรัฐบาลสหราชอาณาจักร และแผนการตรวจหาเชื้อให้ได้ 10 ล้านครั้งต่อวัน
 
การตรวจหาเชื้อในคน 60,000 คนที่สนามกีฬา ก่อนหน้าที่จะมีการแข่งขันฟุตบอล จำเป็นต้องใช้เครื่องตรวจ 60,000 เครื่อง อุปกรณ์นี้จึงเหมาะสำหรับการตรวจหาเชื้อในจำนวนคนที่น้อยกว่านั้น
 
ศ.ลอว์เรนซ์ ยัง จากมหาวิทยาลัยวอริก (University of Warwick) ซึ่งไม่ได้เข้าร่วมงานวิจัยนี้ กล่าวว่า เทคโนโลยีนี้ "เป็นนวัตกรรมใหม่"
 
เขากล่าวเพิ่มเติมว่า "การตรวจด้วยอุปกรณ์ โควิดนัดจ์ (CovidNudge) อาจจะมีส่วนสำคัญเมื่อจำเป็นต้องตัดสินใจอย่างทันทีทันใด และหาตัวผู้ที่อาจติดเชื้อ อย่างเช่น การคัดกรองผู้ป่วยในการเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบลหรือรับการผ่าตัด
 
"[อย่างไรก็ตาม] นี่ไม่ใช่คำตอบสำหรับการตรวจหาเชื้อในหมู่คนจำนวนมากภายในเวลาอันรวดเร็ว (mass testing)"
 
ทักษิณ เกี่ยวอย่างไร
 
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ลี้ภัยทางการเมืองในลอนดอน และดูไบ เป็นผู้ลงทุนในบริษัท DnaNudge ซึ่งผลิตเครื่องตรวจดีเอ็นเอเคลื่อนที่ซึ่งมุ่งแนะนำข้อมูลทางโภชนาการที่สอดคล้องเหมาะสมกับร่างกายคนเรา ต่อมานักวิทยาศาสตร์ของบริษัทได้พัฒนาต่อยอดเป็นเครื่องรุ่น RNA COVID-19 สำหรับตรวจโควิด-19
 
นายทักษิณเคยกล่าวเมื่อครั้งให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยเมื่อเดือน พ.ค. ว่า หากได้รับ "CE marking" หรือเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสุขภาพ ความปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจากทางการอังกฤษ เขาก็ "ยินดีที่จะให้เครื่องมือนี้ไปเป็นประโยชน์ต่อสาธารณสุขของไทย ไปช่วยตรวจคนไทยหาเชื้อโควิดในขณะนี้"
  

 
จีนฮุบค้าออนไลน์ 2 แสนล้าน ยึดอีอีซีตุนสินค้าถล่มราคาทุบSME
https://www.prachachat.net/ict/news-523614
 
สมรภูมิอีคอมเมิร์ซไทย 2.2 แสนล้านระอุ พ่อค้าแม่ค้าชาวจีนยกทัพเปิดร้านเองผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซดัง ครีเอตการขายสารพัดรูปแบบ ทั้งจ้าง “ไลฟ์สด” เปิดรับตัวแทนจำหน่ายในไทย และร่วมทุนพาร์ตเนอร์ไทยสยายปีกทำตลาดในไทย เปิดเกมสงครามราคาขายต่ำกว่าทุนแถมส่งเร็ว แถมอาจเจอสองเด้งจากมาตรการภาครัฐ กูรูอีคอมเมิร์ซหวั่นเขตปลอดอากรกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ “อีอีซี” เสมือนชักศึกเข้าบ้าน แนะผู้ประกอบการไทยเร่งสร้างแบรนด์หาทางรอดระยะยาว
 
ชัดเจนว่าโควิด-19 ส่งเสริมให้ตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยที่เติบโตก้าวกระโดดอยู่แล้ว ยิ่งโตมากขึ้นไปอีก จากมาตรการล็อกดาวน์ที่ผ่านมาทำให้ออนไลน์ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอดของผู้ประกอบการจำนวนมาก ประกอบกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาช็อปปิ้งออนไลน์เพิ่มขึ้น รวมเข้ากับการผลักดันตลาดผ่านกิจกรรมและโปรโมชั่นต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องของยักษ์แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามชาติทั้งหลาย
 
ซึ่งเห็นได้ชัดเจนในมหกรรมช็อปปิ้งออนไลน์ 9.9 ที่ผ่านมา ไม่เฉพาะยักษ์แพลตฟอร์มข้ามชาติที่ลงมาเล่น แต่รวมไปถึงผู้ประกอบการค้าปลีก และเจ้าของสินค้าและบริการต่าง ๆ สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทยได้คาดการณ์ด้วยว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซในปี 2563 จะเติบโตถึง 35% จากปีที่ผ่านมา หรือมีมูลค่าสูงถึงกว่า 2.2 แสนล้านบาท
 
พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ไทยกุมขมับ
 
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยคนไทยที่เข้ามาใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของช้อปปี้, ลาซาด้า ปรากฏการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นก็คือ มีผู้ค้าชาวจีนเข้ามาขายสินค้าเอง ทำให้สามารถทำราคาได้ถูกกว่าพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ของไทย จนกลายเป็นกระแสที่มีการพูดถึงในโซเชียลมีเดียจำนวนมาก
แหล่งข่าวในธุรกิจอีคอมเมิร์ซเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ด้วยว่า ในเว็บอีคอมเมิร์ซ เถาเป่า (Taobao) ของจีน ยังมีการโปรโมตบริการ รับเปิดร้าน, บัญชีธนาคาร และซิมมือถือ สำหรับการสร้างร้านบนแพลตฟอร์ม “ช้อปปี้” และ “ลาซาด้า” ในประเทศไทยโดยเฉพาะด้วย จึงยิ่งทำให้ผู้ค้าชาวจีนเข้ามาบุกตลาดในประเทศไทยได้ง่ายขึ้นมาก
 
พ่อค้าจีนมาเองกระหน่ำราคา
 
นายธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด ในฐานะนายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันมีผู้ค้าจากจีนเข้ามาเปิดร้านขายออนไลน์บนแพลตฟอร์มอย่างช้อปปี้ และลาซาด้าจำนวนมาก และขายสินค้าราคาต่ำกว่าทุน พร้อมส่งเร็ว โดยเข้ามาได้หลากหลายวิธี หนึ่งในนั้นคือ ผ่านการจัดการสต๊อกสินค้าโดยแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย ซึ่งหมายถึงเมื่อผู้ค้าจีนเปิดร้าน ก็ส่งสินค้ามาไว้ที่โกดังกลางของแพลตฟอร์ม เมื่อมีคำสั่งซื้อ แพลตฟอร์มนั้น ๆ จะส่งสินค้าให้ผู้สั่งซื้อ โดยที่ผู้ซื้อไม่ต้องเสียภาษี เพราะแพลตฟอร์มเป็นผู้จัดการด้านภาษีให้แล้ว ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลบวกต่อผู้บริโภคชัดเจน จากการมีทางเลือกมากขึ้น และได้สินค้าราคาถูก ขณะที่ผลเสียเกิดกับผู้ประกอบการไทย เพราะไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้
 
จะเห็นได้ว่าในช่วงเทศกาลมหกรรมช็อปปิ้งออนไลน์ล่าสุด เช่น 9 .9 ที่พบว่าสินค้าและร้านที่ขายดีบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยมาจากผู้ค้าชาวจีน เนื่องจากราคาถูก ทำให้ผู้ประกอบการไทยเริ่มกังวลว่าจะไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้ ซึ่งท้ายที่สุดจะเสียส่วนแบ่งให้ผู้ค้าจีนในที่สุด
 
“การแข่งขันอีคอมเมิร์ซแรงขึ้นเรื่อย ๆ เพราะพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ไทยไม่สามารถแข่งด้านราคาได้ โดยวันนี้กำลังแข่งกับโรงงานจีนที่เข้ามาขายตรงบนช้อปปี้ และลาซาด้า ยิ่งเศรษฐกิจไม่ดีก็ยากที่จะสู้ ดังนั้น สิ่งที่ผู้ประกอบการไทยต้องทำคือ แข่งเรื่องบริการ คุณภาพ และความน่าเชื่อถือของร้าน รวมถึงต้องเร่งสร้างแบรนด์ เพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้ามากกว่าจะดัมพ์ราคาแข่ง”
 
นายธนาวัฒน์กล่าวต่อว่า ปัจจุบันยังไม่เห็นผู้ค้าชาวจีนเข้ามาตั้งโกดังในไทยชัดเจน แต่แนวโน้มในอนาคตจะเกิดขึ้นแน่นอน จากการเปิดเขตปลอดอากรกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ภายในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งทำให้ผู้ค้าจีนนำเข้าและพักสินค้า เพื่อรอการจำหน่ายในประเทศผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ได้ เมื่อถึงเวลานั้นการแข่งขันด้านราคาจะยิ่งทวีความแรงขึ้นอีก
 
เขตปลอดอากรฯชักศึกเข้าบ้าน
 
ด้านนายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการ และผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ตลาดดอทคอม กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การเปิดเขตปลอดอากรกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในพื้นที่อีอีซี ที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เปรียบได้กับการชักศึกเข้าบ้าน เนื่องจากมีประกาศกรมศุลกากรที่ 204/2562 ให้ของที่นำออกจากเขตปลอดอากรฯ แล้วนำเข้ามาในราชอาณาจักร สามารถนำกลับเข้ามาในเขตปลอดอากรฯได้ โดยไม่ต้องเสียภาษีภายใน 14 วัน จากเดิม 1 วัน ถือว่าสร้างความเสียเปรียบให้ผู้ประกอบการไทย เพราะผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซหรือผู้นำเข้าจากต่างประเทศไม่ต้องเสียภาษี หากมีการปฏิเสธการรับสินค้าของผู้ซื้อ
 
ขณะเดียวกันมีผู้ค้าจีนเข้ามาเปิดร้านในแพลตฟอร์มช้อปปี้ และลาซาด้ามากขึ้น โดยขายของในราคาถูก และส่งเร็วกว่าผู้ประกอบการไทย เนื่องจากมีการนำเข้าสินค้าแล้วมาพักไว้ที่โกดังในไทย ซึ่งลักษณะของการเข้ามาตั้งโกดังในไทยอาจมีน้อยราย แต่มีการนำเข้ามาในปริมาณที่มาก และหลายหมวดสินค้าทำให้ได้เปรียบ ได้ราคาขายที่ต่ำกว่าผู้ค้าไทย ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ค้าไทยขนาดเล็กและกลาง
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่