ปลาเก๋านึ่งซี่อิ๊ว บวก เรื่องเล่าตรุษจีนวัยเด็ก

วันตรุษจีน (25 มค. 2563) ใกล้เข้ามาแล้วค่ะ อีกหนึ่งเมนูปลาที่อยากให้ทำขึ้นโต๊ะไหว้บรรพบุรุษค่ะ คือเมนู "ปลาเก๋านึ่งซี่อิ๊ว"
ปลา (ฮื้อ) มีความหมาย "เหลือกินเหลือใช้" ลูกหลานกราบไหว้ด้วยปลาก็จะทำให้มีเงินเหลือเก็บเหลือใช้ตลอดไป
แม่นันชอบนำปลามานึ่งกับซี่อิ๊วหอมๆ โดยเฉพาะเวลาทำถวายพระ หรือเวลาไปเยี่ยมผู้สูงอายุ มีความรู้สึกว่าเป็นเมนูสุขภาพ อร่อย และมีประโยชน์ เลือกซื้อปลาสดๆ ขอให้แม่ค้าแล่เนื้อขนาดสวยๆตามที่เราชอบให้ เวลานำมานึ่งเนื้อปลาจะฟูสวยแตกออกมาเป็นริ้วๆให้เห็นเนื้อสดๆด้านในเลยค่ะ หวานที่สุด ที่เห็นในรูปแม่นันทำไปถวายพระค่ะ เหลือจากที่พระฉัน..ญาติโยมก็จะได้ทานกันด้วย 
มาดูวิธีทำกันค่ะ
- ก่อนอื่นเรามาทำตัวซี่อิ๊วกันก่อนค่ะ โดยการนำนำน้ำสต้อค ปรุงด้วยพริกไทย ซี่อิ๊วขาว น้ำมันงา เหล้าจีน และซ้อสคิคุแมน หรือซี่อิ๊วจีนก็ได้ค่ะ 
อย่างละช้อนสองช้น กะเอาค่ะ ผสมให้เข้ากัน แม่นันชอบทำน้ำซี่อิ๊วทีเป็นหม้อไว้เลยค่ะ ใส่เก๋ากี 
ถ้ามีขิงซอยใส่ลงไปด้วยค่ะ จะทำให้เผ็ด หอมมากขึ้น เมื่อได้ตัวซี่อิ๊วแล้ว พักไว้ค่ะ
- จากนั้นตั้งหม้อซึ้งใส่น้ำ รอเดือดจัด นำปลาเก๋า ปลากระพง หรือปลาอะไรก็ได้ตามชอบ รองก้นภาชนะด้วยขิงฝานเป็นชิ้นสักสามสี่ ลงนึ่งสักสิบนาที 
เปิดฝาซึ้ง ค่อยๆตะแคงภาชนะที่นึ่ง เทน้ำออก (น้ำคาวปลาจะถูกขับออกมาขณะโดนความร้อนค่ะ สังเกตน้ำที่ออกมาจะสีขุ่นๆ)
ขออภัยลืมเก็บภาพตอนนึ่งในลังถึงมาให้ชมกันค่ะ
- โรยแต่งหน้าด้วยพริกชี้ฟ้าหลายๆสีซอยเส้นเล็กๆ และขิงซอย ใส่น้ำซี่อิ๊วที่ทำเตรียมไว้ลงพอท่วม แล้วนึ่งต่ออีกสิบนาที 
ระหว่างรออีกสิบนาทีหลังนี่ระวังเผลอกลืนน้ำลายนะคะ เพราะกลิ่นหอมจะถูกส่งไปทั่วห้องครัวเลยค่ะ ถ้ามีเห็ดหอมใส่ไปด้วยนะคะ อร่อยสุดๆค่ะ
เพียงเท่านี้ก็จะได้ปลาเก๋านึ่งซี่อิ๊ว..หอม..อร่อยไว้ไหว้บรรพบุรุษในวันตรุษจีนนี้แล้วค่ะ 
นึ่งเป็นตัวเลยก็ดีนะคะ ใส่ชามเปลสวยๆ ทำอะไรใหญ่ๆเข้าไว้ในวันตรุษจีนค่ะ จะได้เฮงเฮง
 
อย่าลืมหุงข้าวปนด้วยข้าวกล้อง ข้าวสีนิล หรือธัญพืชอื่นๆ หรือข้าวสวยขาวๆโรยด้วยงาดำ ดีต่อสุขภาพบรรพบุรษด้วยค่ะ
.
.
.
พูดถึงวันตรุษจีน ถ้ามี Time machine ย้อนเวลากลับไปได้ แม่นันอยากกลับไปเป็นเด็กน้อยในวันนั้น เดินจูงแขนอาอึ้ม (คุณแม่) 
พากันขึ้นรถสามล้อ ออกไป "ไป๊เจีย" (สวัสดีปีใหม่) ญาติผู้ใหญ่ตามบ้านต่างๆ

เป็นความทรงจำ.เป็นช่วงเวลาที่สวยงามในวัยเด็ก ที่แวบขึ้นมาในขณะเขียนเรื่อง "วันตรุษจีน" อยู่ค่ะ คิดว่าหลายๆท่านก็คงคิดถึงวันนั้น ..
 "โน๊วอ่า..ไหล่ เซียวหู่ อาอึ้ม เปา ซี้ไก่กา คื้อ ไป๊เจี๊ย อาโกว" (ลูกจ๋า..มาช่วยแม่ห่อส้มสี่ใบไปสวัสดีปีใหม่คุณป้ากัน") 
ได้ยินเรื่องเที่ยวเด็กน้อยในวันนั้นหูผึ่งขึ้นมาทันทีค่ะ โดยเฉพาะเวลาที่จะได้ใส่ชุดสวยไปนั่งรถสามล้อ 
เวลาคนขับบิดที..ใบหน้าเด็กน้อยก็จะได้โต้ลมสนุกสนานที่สุด ที่สนุกกว่าคือถ้าโชเฟอร์บิดแรงกว่านั้น..
ก้นเราก็จะกระเด้งลอยออกจากเบาะ จับไม่ดีมีโขกหลังคารถแน่ค่ะ
วันตรุษจีนถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของคนจีน ตามประเพณีจีนจะต้องนำส้มสี่ผล มาห่อด้วยผ้าเช็ดหน้า จับปลายมุมผ้าเช็ดหน้าทั้งสี่มุมผูกเข้าด้วยกัน 
แล้วก็นำไปสวัสดีปีใหม่ พร้อมขอพรจากญาติผู้ใหญ่ แม่นันชอบตอนนี้ล่ะค่ะ เพราะเวลาญาติผู้ใหญ่ได้รับห่อส้มพร้อมคำสวัสดีปีใหม่จากเราแล้ว
ก็จะแกะปลายผ้าออก หยิบส้มออกมาหนึ่งลูกหรือสองลูก แล้วใส่ผลใหม่กลับคืนในห่อผ้า ผูกให้เรียบร้อย ยื่นกลับพร้อมอวยพรให้พวกเรา
ซึ่งก็มักจะขึ้นต้นด้วยคำกล่าวสวัสดีปีใหม่ (ซินเจี่ย หยู่อี่ ซินนี้ ฮวดไช้) แล้วก็ล้วงกระเป๋าหยิบเอาซองอั่งเปาสีแดง/ สีชมพูออกมาแต๊ะเอียให้อาหมวยน้อยคนนี้ ถ้าในบ้านที่เราไปเยี่ยมมีเด็กอยู่ด้วย อาอึ้มก็ต้องให้อั่งเปากับเด็กในบ้านด้วยเช่นกัน เป็นช่วงเวลาที่เด็กๆมีความสุขที่สุด
ขากลับได้อั่งเปามาหลายซอง ได้ของเล่นเป็นดาบไม้ยาวๆปลายสีแดง ได้ป๋องแป๋งด้วย เดินหมุนป๋องแป๋งไปตลอดทาง

โตขึ้นมาถึงวัยเรียนหนังสือ พอถึงวันตรุษจีนที คุณครูก็จะให้หยุดทีละหลายๆวัน สมัยนั้นถือวันตรุษจีนเป็นวันหยุดพิเศษให้เหล่าอาตี๋หาหมวยในประเทศไทยทั้งหลายได้ไปกราบไหว้บรรพบุรุษ หยุดทีห้าหกวันเลยค่ะ วันจ่าย วันไหว้ วันเที่ยว และเที่ยวต่ออีกยาวๆ 
เหล่าเพื่อนคนไทยก็พลอยได้อานิสงข์ไปด้วย ได้กินเป็ดกินไก่หลังตรุษจีนของบ้านเพื่อนกันอิ่มแปร้
ตอนเด็กๆแม่นันเคยถามอาอึ้มว่า ผู้ใหญ่ต้องให้อั่งเปาเด็กๆทุกปีเลยเหรอคะ ถ้าหนูโตแล้ว เรียนจบแล้ว ทำงานแล้ว จนหนูแต่งงานแล้ว 
ก็ยังได้อั่งเปาเหมือนเดิมเหรอคะ (ถามเหมือนในโลกนี้มีนางคนเดียว เด็กคนอื่นๆทั้งโลกจะไม่ได้เกิด ฮ่าฮา)
ไว้มาเล่าให้ฟังต่อนะคะ
#ขนมผักกาด #ปลาเก๋านึ่งซี่อิ๊ว # #วันตรุษจีน #จับโหงว #ชิวอิก #อาหารรสมือแม่
อยากทานอาหารจีนโบราณๆ อยากทำเป็นด้วย แวะเข้าเยี่ยมชมหน้าเพจพร้อมจดสูตรไปทำกันค่ะ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่