เวลามี ราคะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้น เราควร "ละ" หรือเราควร "รู้"

กระทู้นี้ เกิดจากข้อสงสัยของสมาชิกท่านหนึ่ง ที่ไม่เข้าใจประโยคที่ว่า "สมุทัยให้ละ" แต่ทำไมในพระไตรปิฏก รวมถึงครูบาอาจารย์กลับบอกว่า เมื่อมีกิเลสเกิดขึ้นให้รู้ และเมื่อกิเลสดับไปก็ให้รู้ ตามพระสูตรนี้

"…ภิกษุในธรรมวินัยนี้ จิตมีราคะ ก็รู้ว่าจิตมีราคะ หรือจิตปราศจากราคะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ
จิตมีโทสะ ก็รู้ว่าจิตมีโทสะ หรือจิตปราศจากโทสะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ
จิตมีโมหะ ก็รู้ว่าจิตมีโมหะ หรือจิตปราศจากโมหะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโมหะ
จิตหดหู่ ก็รู้ว่าจิตหดหู่ จิตฟุ้งซ่าน ก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน…"

ทำไมพระพุทธเจ้าไม่ให้เราละกิเลสหรือดับกิเลสไปตรงๆ เลย จิตมีราคะ ก็ให้ละหรือดับราคะ จิตมีโทสะ ก็ให้ละหรือดับโทสะ ฯลฯ จะไปคอยรู้มันไปทำไม?

ประเด็นแรก คำว่า "สมุทัย" ไม่ใช่กิเลสทั้งหมด เป็นส่วนหนึ่งของโลภะ คือ ตัณหา 3 (กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา)

ประเด็นที่ 2 กิเลสทั้งหลาย อยู่ภายใต้กฏไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว ต่อให้เราอยากให้กิเลสมันคงอยู่ไปเรื่อย เราก็ทำไม่ได้ เราอยากจะให้มันดับไป เราก็ทำไม่ได้ หรือสมมุติว่ากิเลสเริ่มอ่อนกำลังลง เราบังคับให้มันกลับมาเหมือนตอนแรก ก็ทำไมได้

ไม่มีมนุษย์คนใดในโลกนี้ที่บังคับกิเลสได้ มันเกิดขึ้นของมันเอง และมันก็ดับไปของมันเอง

ดังนั้น การที่เราคอยรู้ รู้ว่ากิเลสเกิด รู้ว่ากิเลสดับ รู้แบบเป็นธรรมชาติ ไม่ฝืนรู้ ไม่อยากรู้ รู้แบบซื่อๆ นั่นก็คือการละสมุทัย (ตอนที่รู้ว่ากิเลสเกิด นั่นคือมีสติ และการรู้ก็คือการเจริญสติ เรียกว่า จิตตานุปัสสนา)

แล้วถ้าเราตั้งใจละหรือดับกิเลสไปเลย ไม่ต้องคอยรู้ คอยดู จะถูกต้องหรือไม่? คำตอบคือ ไม่ถูกต้อง

เพราะความอยากที่จะให้กิเลสดับ นั่นก็คือสมุทัยอย่างหนึ่ง (คือ ภวตัณหา อยากให้เป็นอย่างนั้น อยากให้เป็นอย่างนี้)

ดังนั้น การรู้ก็เช่นกัน ต้องรู้แบบซื่อๆ รู้แบบเป็นธรรมชาติ ไม่ฝืนรู้ ไม่ตั้งใจรู้

หวังว่าจะช่วยให้เข้าใจมากขึ้นนะครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่