JJNY : แรงงานร้อง ‘บิ๊กตู่’ ปรับ ‘ค่าแรงขั้นต่ำ’ วันละ 700 บ. พร้อมส่งแบบสอบถามลูกจ้างทั่วปท.เสร็จต.ค.นี้

กระทู้คำถาม
เมื่อวันที่ 8 กันยายน ที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.)  พร้อมด้วยเครือข่ายแรงงาน แถลงข่าว “ขอให้มีการปรับค่าจ้างในปี 2561” ว่า หลังจากทางคสรท. สรส.และเครือข่ายแรงงงาน เรียกร้องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำต่อรัฐบาล ต่อกระทรวงแรงงานมาตลอด แต่ดูเหมือนจะไม่เป็นผล ซึ่งจากการหารือได้ข้อสรุปว่า รัฐบาลต้องปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอย่างเป็นธรรมและต้องปรับในปี 2561 เนื่องจากที่ผ่านมาแรงงานอยู่ไม่ได้ด้วยค่าครองชีพตกวันละ 300 บาท แม้จะมีเพิ่มก็เพิ่มไม่เท่ากันทั่วประเทศ เฉลี่ยบางจังหวัดได้ประมาณ 310 บาทต่อวัน ซึ่งไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพของแรงงานเลย

“สิ่งสำคัญต้องปรับขึ้นให้สอดคล้องกับความเป็นจริง ซึ่งผ่านมาพวกเราเคยเสนอว่าอย่างต่ำต้อง 360 บาทต่อวันเท่ากันทุกจังหวัด ซึ่งจริงๆก็ยังไม่เพียงพอ เพราะยังไม่ได้รวมค่าเช่าบ้าน ค่าเดินทางของแต่ละคน และค่าเลี้ยงดูครอบครัว รวมแล้ว 3 คน ซึ่งจากการสำรวจตัวเลขอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเมื่อปี 2554 อยู่ที่ ประมาณ 560 บาทต่อวัน ซึ่งอัตราเงินเฟ้อ 3% ต่อปี หากคิดถึงปัจจุบันก็ควรได้รับค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณวันละ 600-700 บาท แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้ว่าตัวเลขต้องตายตัว อยากให้มีการหารือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจริงๆ รวมทั้งขณะนี้ได้มีการทำแบบสอบถามลูกจ้างผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ 77 จังหวัด ถึงค่าครองชีพ ค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อนำมาคำนวณว่าสุดท้ายแล้วต้องได้ค่าแรงขั้นต่ำเท่าไหร่ ขณะนี้กระจายไปแล้วกว่า 20 จังหวัด คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือนตุลาคม ซึ่งแบบสอบถามทำมาประมาณ 8,000-9,000 ชุด ยังไม่รวมกับแบบสอบถามทางออนไลน์อีก ซึ่งหลังจากได้ข้อสรุปจะมีการประกาศอีกครั้ง” นายสาวิทย์ กล่าว

นายสาวิทย์ กล่าวอีกว่าปัญหาค่าจ้างเห็นชัดว่าไม่เพียงพอ เพราะเร็วๆนี้ทางพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยพูดว่าเงินเพียง 1 แสนบาทต่อปี ไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพ ถ้าจะพอก็ต้องประมาณ 3 แสนบาท ซึ่งตกเดือนละประมาณ 25,000 บาท ซึ่งทางแรงงานก็ไม่ได้ต้องการว่าต้องถึงขนาดนี้ แต่ก็ต้องเหมาะสมกับค่าครองชีพด้วย  ดังนั้น ในปี 2561 ต้องมีการปรับค่าจ้างให้เหมาะสมกับค่าครองชีพ และต้องเท่ากันทุกจังหวัด ที่สำคัญควรยกเลิกอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำระดับจังหวัดเสีย เพราะไม่มีประโยชน์ เนื่องจากหลายแห่งไม่มีแรงงานเข้าร่วมเลย ส่วนใหญ่เป็นแต่นายจ้าง ควรมีเฉพาะคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำระดับชาติก็เพียงพอ

นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า แรงงานยังมีความกังวล เนื่องจากดูเหมือนรัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญนายจ้าง นักลงทุนเยอะพอสมควร เพราะล่าสุดมีข่าวว่ามีนักลงทุนเข้ามาลงทุนในไทยกว่า 500 ราย มีการให้ส่วนลด ของแถมดึงดูดนักลงทุนจำนวนมาก ถามว่าแล้วแรงงานลูกจ้างได้ประโยชน์อะไรบ้าง ยิ่งขณะนี้เป็นยุคไทยแลนด์ 4.0 เทคโนโลยีเข้ามามากมาย แล้วลูกจ้างที่ได้ค่าแรงน้อยอยู่แล้วก็มีความเสี่ยงอีก จะมีการรับประกัน หรือการช่วยเหลืออะไรจากภาครัฐบ้าง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสาวิทย์  อ่านแถลงการณ์ข้อเรียกร้องที่เสนอต่อรัฐบาล ว่า ที่ผ่านมาเคยเสนอในวันแรงงานแห่งชาติปี 2560 และในปี 2561 ขอเสนอสาระหลักๆ 3 ข้อ คือ    

1. รัฐต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน เนื่องจากที่ผ่านมาลูกจ้างยังคงได้รับค่าจ้างที่ไม่พอต่อการดำรงชีพ ทำให้คนงานไม่มีเงินเพียงพอที่จะสร้างคุณค่าให้ชีวิตที่ ยากจน เป็นหนี้ ซึ่งก็จะส่งผลต่อการบริโภคและภาคการผลิตและอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับตัวเลขมากกว่าความเป็นจริงทางสังคม แท้จริงแล้วประมาณร้อยละ 60 ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เรียกว่า GDP มาจากคนงานและชนชั้นล่าง

2.ให้กำหนดนิยามค่าจ้างขั้นต่ำแรกเข้าให้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวอีก 2 คน ตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) และต้องเท่ากันทั้งประเทศ และ

3. กำหนดให้มีโครงสร้างค่าจ้าง และปรับค่าจ้างทุกปี อย่างไรก็ตามปัจจุบันรัฐบาลโดยกระทรวงแรงงานยังคงพยายามที่จะดำเนินการปรับค่าจ้างตามกรอบความคิดเดิม คือปล่อยค่าจ้างลอยตัวในแต่ละจังหวัดให้ดำเนินการได้เอง และเพิ่มสูตรการคิดให้ซับซ้อนมากขึ้นซึ่งในอนาคตค่าจ้างอาจมีถึง 77 ราคา ไม่เกิดผลดีต่อระบบโครงสร้างค่าจ้าง และระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ จะเป็นการตอกย้ำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมในสังคมมากขึ้น
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่