วิ่งแล้วขาใหญ่ มันใช่หรือมโน?

ที่มา : http://themomentum.co/happy-opinion-myth-run-effect-bigleg




HIGHLIGHTS:
         ขนาดและรูปร่างของขา ขนาดของกระดูก ลักษณะของกล้ามเนื้อ การกระจายของไขมันในแต่ละส่วนของร่างกาย  ถูกกำหนดมาด้วยรหัสพันธุกรรม ซึ่งเปลี่ยนแปลงไม่ได้
         การวิ่งช่วยให้ขาสวยขึ้น ตัวอย่างที่เห็นเป็นรูปธรรมคือ ขาของเหล่านักวิ่งมาราธอนทั้งชายหญิงที่เรียวงาม เพราะไม่มีไขมันส่วนเกินหลงเหลือ เพียงแต่ต้องรู้จักวิ่งให้ถูกวิธี และควบคุมอาหาร เพื่อลดปริมาณไขมันที่สะสมในร่างกายร่วม


     ‘วิ่ง’ คำพยางค์เดียวสั้นๆ แต่สื่อความหมายหลายนัยยะ
     สำหรับบางคน วิ่งอาจเป็นประสบการณ์ ว้าว! เปลี่ยนชีวิต ช่วยให้น้ำหนักลด สุขภาพแข็งแรงขึ้น
     แต่กับบางคนวิ่งอาจเป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่เคยได้ปฏิบัติมาเป็นเวลานาน จนลืมไปแล้วว่าจะเริ่มขยับยังไง ท่าไหนดี
     สำหรับนักโบราณคดีบางกลุ่ม วิ่ง เริ่มต้นเมื่อสองล้านปีก่อน
     วิ่ง อธิบายวิวัฒนาการของมนุษย์จากลิงสู่คน ช่วงขาที่ยาวกว่า สะโพกที่ใหญ่ขึ้น เอ็นข้อเท้าที่หนา ตัวและรูปร่างเท้าที่เปลี่ยนไป อาจเป็นการเปลี่ยนแปลงทางสรีระที่รองรับการวิ่ง พวกเขาจึงเชื่อว่า วิ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่เหมาะกับรูปร่างของมนุษย์มากกว่าการเดินหรือนอน
     และสำหรับสาวไทยบางคน วิ่ง คือกิจกรรมต้องห้าม เพราะความเชื่อที่ว่า วิ่งแล้วจะขาใหญ่!
     ขา ประกอบไปด้วย กระดูก กล้ามเนื้อ และไขมัน ขนาดและรูปร่างของขา ถูกกำหนดมาด้วยรหัสพันธุกรรม ขนาดของกระดูก ลักษณะของกล้ามเนื้อ การกระจายของไขมันในแต่ละส่วนของร่างกาย ล้วนถูกป้อนรหัสมาแล้วจากยีนส์ ซึ่งเปลี่ยนแปลงไม่ได้ (แต่ในอนาคตอันใกล้ การตัดต่อยีนส์อาจเป็นเรื่องง่ายขึ้น)
     ดังนั้น ต้นทุนที่ได้มาจากพ่อและแม่ คือปัจจัยสำคัญที่สุดต่อขนาดของขา
     สำหรับการวิ่งในความเร็วระดับที่พวกเราวิ่งกันส่วนใหญ่นั้น จะส่งผลให้เกิดการเผาผลาญ ปริมาณของชั้นไขมันจะลดลง กล้ามเนื้อจะแข็งแรงขึ้น แต่ไม่ได้ขยายขนาดขึ้น
     โดยภาพรวมแล้ว การวิ่งอย่างสม่ำเสมอ ร่วมกับรับประทานอาหารถูกวิธี จะช่วยให้ขาเรียวสวยขึ้น ตัวอย่างที่เห็นเป็นรูปธรรมคือ ขาของเหล่านักวิ่งมาราธอนทั้งชายหญิงที่เรียวงาม เพราะไม่มีไขมันส่วนเกินหลงเหลือ
     แต่การวิ่งระยะสั้น ที่เน้นใช้ความเร็วมากในเวลาจำกัด ต้องอาศัยกล้ามเนื้อกลุ่มที่แตกต่างไปจากการวิ่งระยะกลางหรือไกลที่ใช้ความเร็วต่ำกว่า การฝึกซ้อมแบบนักวิ่งระยะสั้น เน้นวิ่งเร็วมากๆ ในระยะทางสั้นๆ จึงส่งผลให้กล้ามเนื้อน่องขยายขนาดเพื่อรองรับการใช้งานได้
     สรุปคือ วิ่ง ไม่ใช่กิจกรรมต้องห้ามของคนอยากขาสวย ในทางตรงข้าม วิ่งยังช่วยให้ขาสวยขึ้นได้ด้วย เพียงแต่ต้องรู้จักวิ่งให้ถูกวิธี และควบคุมอาหาร เพื่อลดปริมาณไขมันที่สะสมในร่างกายร่วม
     สำหรับคนที่วิ่งแล้วขาใหญ่ขึ้น ก่อนที่จะโทษว่าเป็นเพราะการวิ่ง อาจลองย้อนถามตัวเองก่อนว่า
     วิ่งเร็วเกินไปหรือไม่
     วิ่งนานพอไหม
     และกินเข้าไปเยอะกว่าที่วิ่งหลายเท่าตัวหรือเปล่า?

ภาพประกอบ: LoveSyrup
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่