ไวรัสตับหมายถึงอะไร ? อันตรายขนาดไหน?

หมายถึง โรคตับอักเสบจากการติดเชื้อไวรัส เมื่อติดเชื้อไวรัสเข้าสู่เซลล์ตับ จะก่อให้เกิดภาวะตับอักเสบ ทำให้การทำหน้าที่ของตับผิดปกติ มีอาการตับบวมโต มีอาการอ่อนเพลีย

ไวรัสตับอักเสบมีหลายชนิด ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบเอ, บี, ซี, ดี, อี เป็นต้น แต่ที่พบบ่อยและเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขประเทศไทย ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบเอ ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี

ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบได้อย่างไร ?
•    จากกลุ่มผู้ที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบอยู่ในร่างกายแต่ไม่แสดงอาการ สามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ เรียกว่า พาหะ (Carrier) ซึ่งพาหะมักเป็นได้กับเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และไวรัสตับอักเสบซี เท่านั้น
•    ไวรัสตับอักเสบเอและอี ติดต่อทางอาหาร น้ำดื่ม การสัมผัสอุจจาระ ฉะนั้นการป้องกันควรดื่มน้ำต้มสุก อาหารปรุงสุก ล้างมือให้สะอาด ผักผลไม้ล้างให้สะอาด ยังไม่มีวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบอี ส่วนไวรัสตับอักเสบเอมีวัคซีนป้องกัน ที่มีประสิทธิภาพ และปลอดภัย
•    ไวรัสตับอักเสบบีและซี แพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้โดยทางเพศสัมพันธ์ ทางเลือด เช่น เจ้าหน้าที่พยาบาลถูกเข็มฉีดยาที่มีเชื้อไวรัสตำมือ ผู้ที่ติดยาเสพติดแล้วใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน เป็นต้น การติดเชื้อจากแม่สู่ลูกสำหรับเชื้อไวรัสตับอักเสบบี มีโอกาสสูงมาก แต่ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี ฉีดให้ทารกหลังคลอดทุกราย ทำให้ป้องกันการติดต่อจากแม่สู่ลูกได้ดีมาก

อาการของโรคตับอักเสบเฉียบพลัน
ตับอักเสบเฉียบพลันจากไวรัสตับอักเสบทุกชนิด มีอาการคล้ายกัน ส่วนอาการจะน้อยหรือมากขึ้นอยู่กับปริมาณของเชื้อไวรัสที่ร่างกายได้รับและสภาพร่างกายดั้งเดิมของผู้ป่วย ได้แก่ อาการอ่อนเพลีย จุกแน่นใต้ชายโครงขวา ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดตามข้อ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องเสีย ปัสสาวะสีเข้ม ตัวเหลือง ตาเหลือง ประมาณ 1 – 4 สัปดาห์ อาการตัวเหลือง ตาเหลืองจะหายไป

อาการตับอักเสบเรื้องรัง
เชื้อไวรัสที่ทำให้ตับอักเสบเรื้อรัง มี 2 ชนิด คือ เชื้อไวรัสตับอักเสบบี และซี มักไม่แสดงอาการ บางรายอาจรู้สึกอ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียนบ้างในช่วงที่มีภาวะตับอักเสบ การติดเชื้อไวรัสจะทำให้เกิดการทำลายของเซลล์ตับทีละน้อยจนเกิดภาวะตับแข็งและเพิ่มโอกาสในการเกิดมะเร็ง สามารถตรวจดูการอักเสบของตับได้จากการตรวจเลือด อาการตับแข็งและมะเร็งตับ ในระยะแรกไม่มีอาการแต่อาจมีอาการเพลียบ้าง มักมาพบแพทย์ด้วยภาวะแทรกซ้อน เช่น ท้องบวม เท้าบวม อาเจียนเป็นเลือด ตัวตาเหลือง

จะทราบได้อย่างไรว่าเป็นไวรัสตับอักเสบ ?
•    ทราบโดยการตรวจเลือดดูระดับ SGOT , SGPT ซึ่งเป็นเอ็นไซม์ ที่ประกอบไปด้วยโปรตีนที่ตับสร้างขึ้น มีค่าปกติไม่เกิน 40 mg/dl ถ้าตับอักเสบจะมีค่ามากกว่า 40 mg/dl
•    การตรวจเลือดหาเชื้อไวรัสตับอักเสบ
o    ไวรัสตับอักเสบเอตรวจ IgM Anti HAV - เป็นการตรวจภูมิคุ้มกันไอจีเอ็มต่อไวรัสเอ
o    ไวรัสตับอักเสบบีตรวจ HBsAg(Hepatitis B surface Antigen)- เป็นการตรวจโปรตีนบนผิวของเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ถ้าพบโปรตีนในปริมาณสูง(ผลบวก)หมายถึงผู้ป่วยมีเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และสามารถแพร่เชื้อได้ Anti-HBs เป็นการตรวจภูมิต่อเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ถ้าผลบวกแปลว่ามีภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัสตับอักเสบบี
o    ไวรัสตับอักเสบซี ตรวจ Anti-HCV - เป็นการตรวจภูมิต่อเชื้อไวรัสตับอักเสบซีจะตรวจ พบได้ก็ต่อเมื่อติดเชื้อไปแล้วระยะหนึ่ง อย่างน้อย 5 – 6 สัปดาห์ ซึ่งถ้าผลตรวจเป็นนบวก ก็ต้องตรวจหาปริมาณไวรัส (HCV RNA) เพื่อยืนยันการติดเชื้ออีกครั้งหนึ่ง
•    การตรวจด้วยคลื่นเสียง (Ultrasound) หรือ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์เพื่อดูโครงสร้างของตับ ว่าตับแข็ง หรือไม่ และมีก้อนหรือไม่
•    การตรวจชิ้นเนื้อตับ จะทำเมื่อมีข้อบ่งชี้จำเพาะ ซึ่งต้องได้รับการพิจารณาตรวจโดยแพทย์

การรักษาไวรัสตับอักเสบ
•    ไวรัสตับอักเสบเอ บี ชนิดเฉียบพลัน และอีส่วนใหญ่ แพทย์จะรักษาแบบประคับประคองรักษาตามอาการ เน้นการรักษาเพื่อลดการอักเสบของตับ เช่น รับประทานอาหารได้น้อย อ่อนเพลียอาจจะให้น้ำเกลือ
•    แนะนำการปฏิบัติตัว ได้แก่ การพักผ่อนมากๆในช่วงที่มีอาการอ่อนเพลีย สามารถทำกิจกรรมที่ไม่ต้องออกแรงมาก การรับประทานอาหารอย่างพอเพียง หลีกเลี่ยง อาหารไขมันสูง งดแอลกอฮอล์ และหลีกเลี่ยงยาพาราเซตามอล
•    การตรวจติดตามผลเลือดเป็นระยะเพื่อดูการทำงานของตับว่าดีขึ้นหรือไม่

ขอขอบคุณข้อมูลจาก    phyathai.com

Report by LIV APCO
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่