รู้หรือไม่ ไวรัสตับอักเสบบี ทำให้เป็นมะเร็งได้!!

รู้หรือไม่ ไวรัสตับอักเสบบี ทำให้เป็นมะเร็งได้!!
 
     เมื่อเร็วๆ นี้ ทุกคนคงก็จะได้ยินข่าวที่มีนักแสดงท่านหนึ่งจากไปด้วยโรคมะเร็งตับ ซึ่งพี่หมอเองก็รู้สึกเสียดายและเสียใจมาก เพราะนักแสดงท่านนั้นอายุยังไม่มากเท่าไหร่ และก็แทบไม่มีข่าวเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยออกมาเลย รู้อีกทีก็เสียชีวิตแล้ว ดังนั้น พี่หมอก็เลยอยากพูดถึงเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะเห็นว่าโรคมะเร็งตับนั้นใกล้ตัวกว่าที่เราคิด  
     จากข้อมูลของสถาบันมะเร็งแห่งชาติในปี พ.ศ. 2556 – 2558 พบว่า มะเร็งตับปฐมภูมิ (Hepatocellular carcinoma ; HCC) เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยเป็นอันดับที่ 1 ในเพศชาย และเป็นอันดับที่ 2 ในเพศหญิง โดยช่วงอายุที่พบบ่อยก็คือ อายุ 40 -70 ปี และเนื่องจากโรคมะเร็งตับมักจะไม่แสดงอาการที่เฉพาะเจาะจง ทำให้กว่าแพทย์จะตรวจเจอ ก็มักจะอยู่ในขั้นที่รุนแรงหรือรักษาไม่ได้แล้ว เพราะโรคนี้ลุกลามเร็วมาก ผู้ป่วยจึงมักจะเสียชีวิต ซึ่งสาเหตุที่ทำให้คนไทยเป็นมะเร็งตับนั้น มีสาเหตุหลัก ๆ คือ การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือซีเรื้อรัง ภาวะตับแข็งจากสาเหตุต่างๆ เช่น การดื่มสุราเป็นประจำ หรือมีภาวะไขมันเกาะในตับ
     วันนี้พี่หมอจะขอเล่าถึงสาเหตุหลักของมะเร็งตับในคนไทย ซึ่งประมาณกันว่าร้อยละ 60 เกิดจากการติดเชื้อ ‘ไวรัสตับอักเสบบี’ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับมะเร็งตับได้อย่างไร สามารถติดต่อได้หรือไม่ มีอาการและวิธีการรักษาอย่างไร พี่หมอไปรวบรวมข้อมูลทั้งหมดมาไว้ตรงนี้แล้วครับ 
 
อันตรายของไวรัสตับอักเสบบี 
     ไวรัสตับอักเสบบีจะทำให้เกิดการอักเสบที่เซลล์ตับและทำให้เซลล์ตับถูกทำลาย ซึ่งหากติดเชื้อนานกว่า 6 เดือนก็จะเรียกว่าภาวะตับอักเสบเรื้อรัง ซึ่งการอักเสบเรื้อรังนี่เองที่ส่งผลให้เกิดพังผืดที่ตับ จากนั้นตับก็จะแข็ง และกลายเป็นมะเร็งตับได้ในที่สุด
 
ไวรัสตับอักเสบบีสามารถติดต่อได้ 4 ช่องทางหลักๆ คือ
     1. จากแม่สู่ลูก ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยในประเทศไทย การติดต่อในลักษณะนี้มักจะเกิดขึ้นในระหว่างการคลอด จึงควรมีการตรวจเลือดคุณแม่ระหว่างที่ฝากครรภ์ ซึ่งหากพบว่าคุณแม่มีเชื้อนี้อยู่ คุณหมอก็จะให้วัคซีนและสารภูมิต้านทาน (อิมมูโนโกลบูลิน) ในทารกแรกเกิด เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโรคนี้
     2. ทางเลือด ซึ่งจะติดต่อผ่านทางเลือดของผู้ที่เป็นพาหะของโรคนี้ ปัจจุบันพบการติดต่อในลักษณะนี้น้อยลงแล้ว เพราะจะมีการนำเลือดไปตรวจก่อนนำมาให้ผู้ป่วยเสมอ
     3. ทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับคนที่เป็นโรคนี้ มีโอกาสที่จะติดเชื้อได้ถึงร้อยละ 30–50
     4. การใช้อุปกรณ์ที่มีการปนเปื้อนของเลือดร่วมกัน เช่น เข็มฉีดยา มีดโกนหนวด แปรงสีฟัน และการสัก เป็นต้น 
 
อาการของผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี 
     ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อไวรัสอักเสบบีจะมีอาการของโรคในระยะเฉียบพลันในช่วง 1 – 3 เดือนแรก โดยจะมีอาการเป็นๆหายๆ และอาจคล้ายกับอาการเจ็บป่วยอื่นๆ แต่จะมีบางอาการที่เห็นได้ชัด เช่น เบื่ออาหาร มีไข้ต่ำ อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน ตาเหลืองและตัวเหลือง รวมถึงปัสสาวะมีสีเหลืองเข้มด้วย ซึ่งถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อน อาการดังกล่าวก็มักจะหายได้เอง 
     ซึ่งหลังจากระยะนี้แล้ว ผู้ป่วยส่วนหนึ่งก็อาจจะมีอาการต่อไป แต่ถ้าเป็นมากกว่า 6 เดือนก็จะเริ่มเข้าสู่ระยะเรื้อรัง ซึ่งก็อาจจะมีอาการอื่นๆ เพิ่มมาอีก เช่น ท้องโต เลือดออกในทางเดินอาหารเนื่องจากเส้นเลือดโป่งพอง ซึม และไม่รู้สึกตัว จนถึงภาวะตับวายและเสียชีวิตในที่สุด ซึ่งผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีทั้งในระยะเฉียบพลันและเรื้อรังสามารถแพร่เชื้อผ่านทางเลือดและสารคัดหลั่งได้ด้วย   
 
แนวทางการรักษาไวรัสตับอักเสบบี 
     เนื่องจากการรักษาในปัจจุบันนั้นสามารถยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัสได้ จึงสามารถลดการอักเสบของตับ ชะลอ และยับยั้งภาวะที่จะนำไปสู่การเป็นตับแข็งและมะเร็งตับได้ นอกจากนี้ยังสามารถลดภาวะพังผืดในตับ ทำให้ภาวะตับแข็งดีขึ้นได้ด้วย ซึ่งวิธีการรักษาไวรัสตับอักเสบบีแบบเรื้อรังมีอยู่ด้วยกัน 2 วิธี คือ 
     1. การใช้ยาชนิดรับประทาน เพื่อไปยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสตับอักเสบบี
     2. การใช้ยาฉีดเพื่อกระตุ้นภูมิต้านทานของผู้ป่วย ที่เรียกว่า เพ็กไกเลดเตด อินเตอร์เฟียรอน (pegylated interferon) ซึ่งยาตัวนี้จะไปกระตุ้นภูมิต้านทานของผู้ป่วยให้ควบคุมไวรัสตับอักเสบบี และยังสามารถยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสได้อีกด้วย การใช้ยาฉีดชนิดนี้จะใช้เวลารักษาประมาณ 48 สัปดาห์ ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่ก็จะยังคงมีภูมิต้านทานอยู่แม้จะหยุดฉีดยาไปแล้ว ซึ่งผลจากการรักษาด้วยยาฉีดนี้จะอยู่นานกว่า ทำให้โอกาสที่จะกลับมาป่วยซ้ำน้อยกว่าการรับประทานยาต้านไวรัส  
 
     ส่วนการรักษาโรคมะเร็งตับนั้นมีทางเลือกหลากหลายครับ เช่น การผ่าตัด (Surgery) การผ่าตัดเปลี่ยนตับ (Liver transplantation) การรักษาโดยใช้คลื่นความถี่สูง (Radiofrequency ablation ; RFA) การใช้ยาเคมีบำบัดหรือยาเคมีบำบัดชนิดมุ่งเป้า (Targeted chemotherapy) การใช้ยาภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) ขึ้นอยู่กับระยะของโรค ขนาดของก้อน และสภาพการทำงานของตับของผู้ป่วย โดยแพทย์และผู้ป่วยจะร่วมกันพิจารณาเลือกวิธีการรักษา เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงที่สุด ผลการรักษาโรคมะเร็งตับในปัจจุบันดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่พบก้อนในระยะแรกเริ่ม มีโอกาสหายขาดได้นะครับ 
     หากเราลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ส่งผลให้เกิดมะเร็งตับ ตรวจคัดกรองโรคไวรัสตับอักเสบ หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ก็จะสามารถช่วยป้องกันไม่ให้เป็นโรคมะเร็งตับได้ 
 
     สำหรับวิธีป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบได้ดีที่สุดก็คือ การฉีดวัคซีนและเนื่องจากไวรัสตับอักเสบแต่ละชนิดเกิดจากเชื้อไวรัสที่ต่างกัน ดังนั้น การฉีดวัคซีนจึงสามารถป้องกันได้เฉพาะสายพันธุ์ที่ฉีดเท่านั้น แต่ก็ไม่ต้องกังวลไปนะครับ เพราะปัจจุบันเรามีวัคซีนที่สามารถป้องกันได้ทั้งไวรัสตับอักเสบเอและบีในเข็มเดียวกันแล้ว พวกเราจะได้ไม่ต้องเจ็บตัวหลายรอบครับ 
  
              ส่วนสัปดาห์หน้าพี่หมอจะนำเรื่องอะไรมาฝากกันอีก อย่าลืมติดตามกันด้วยนะครับ 
 
              รักษาสุขภาพกันด้วยนะครับทุกคน ด้วยความห่วงใยจากพี่หมอ ❤❤❤
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่