ความรู้ก่อนนอน (๖๒)

กระทู้สนทนา
วันนี้ว่าด้วยเรื่องมหรสพพื้นบ้านของชาวไทยสมัยก่อน เห็นจะไม่พ้นเรื่องลิเกล่ะครับ เพราะวงดนตรีลูกทุ่ง หมอลำประยุกต์ยังไม่มี วิทยุ ทีวี. ก็ไม่มีดู อมยิ้ม01



กรุงเทพฯ ยุคก่อน มรสพที่ชาวบ้านคุ้นเคยเห็นจะไม่พ้นลิเก ซึ่งมีหลายวิกด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นวิกบางลำพู วิกสะพานหัน วิกบ้านหม้อ ฯลฯ

คำว่า Week ในภาษาอังกฤษ แต่มีความหมายเปลี่ยนไป เพราะเจ้าคุณมหินทร์ฯ ปิดประกาศหน้าโรงว่า วีกนี้จะแสดงเรื่องนั้นเรื่องนี้โดยใช้คำว่า “วีก” แทนคำว่าสัปดาห์หรือช่วง ๗ วันโดยประมาณที่มีเดือนหงายสะดวกต่อการสัญจรไปมาของคนดู ชาวบ้านไม่รู้คิดว่าเป็นศัพท์ใหม่ให้เรียกแทนโรง เลยเรียกปากต่อปากกันสั้นๆ ว่า “วิก” แต่นั้นมา เมื่อมีโรงลิเกเกิดขึ้นจึงเรียก วิก ตามไปด้วย

คำว่าลิเกมีที่มาจากคำว่า ดจิเก ซึ่งเป็นภาษามลายูพื้นถิ่นแถบ ๔ จังหวัด หมายถึงมหรสพชนิดหนึ่งอันมีกำเนิดดั้งเดิมมาจากพิธีสวดบูชาพระอัลลาห์ของชาวมุสลิมนิกายเซน

ลิเกเข้ามาสู่สังคมไทยตั้งแต่เมื่อใดนั้น ยังสันนิษฐานไปหลายทิศทาง บ้างกล่าวว่าลิเกเข้ามายังเมืองไทยโดยชาวมุสลิมที่เข้ามารับราชการเป็นนักเทศขันที ในราชสำนักอยุธยา

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ให้ความเห็นถึง ดจิเก เอาไว้ว่า อาจเข้ามายังเมืองไทยโดยชาวมุสลิมจากเปอร์เซียอันเป็นต้นตระกูลบุนนาคในปัจจุบัน
ในขณะที่พระครูศรีมหาโพธิคณารักษ์ กล่าวว่า ชาวมุสลิมชิอิทจากเปอร์เซียนำการสวดที่เรียกว่า ดิกร เข้ามาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

ยังมีบางข้อสันนิษฐานกล่าวว่า ลิเกนั้นมากับชาวไทยมุสลิมในภาคใต้ และคำว่า ยี่เก ซึ่งเป็นชื่อแรกเริ่มก่อนจะมาเรียกว่า ลิเก ในภายหลังนั้น ยังคงนิยมใช้อยู่ในภาษาพูดของชาวไทยมุสลิมมาจนถึงปัจจุบัน

คำว่า ยี่เก ก็น่าจะมาจาก "ดจิเก" อันเป็นคำในภาษามาเลย์ถิ่นที่ชาวไทยมุสลิมในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล มากกว่าจะมาจากคำว่า "ดิกร" ในภาษาถิ่นในอินโดนีเซีย หรือ "ดชิกร" อันเป็นภาษาอาหรับในตะวันออกกลาง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะเป็นเพียงแค่ข้อสันนิษฐาน หากก็ทำให้พอเห็นค่าได้ว่า ดจิเก หรือการสวดบูชาพระอัลเลาะห์น่าจะเข้ามายังเมืองไทย ตั้งแต่สมัยอยุธยา และเข้ามาเป็นระลอกตามการอพยพของชาวมุสลิมนิกายชิอิท หรือแขกเจ้าเซนจากเปอร์เซีย



ลิเกเพิ่งเริ่มมามีบันทึกปรากฏเป็นหลักฐานที่เก่าที่สุดในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยชาวไทยมุสลิมในกรุงเทพ ร่วมกันแสดงลิเกถวายหน้าพระที่นั่ง เนื่องในงานพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์พระบรมราชเทวี (พระนางเรือล่ม) ลิเกสมัยนั้นยังเป็นการแสดงเชิงศาสนาอิสลามประกอบดนตรี เพื่อความเป็นสิริมงคล การแสดงประกอบไปด้วยดนตรีรำมะนาหลายคน พร้อมด้วยเครื่องประกอบจังหวะ นั่งล้อมกันเป็นวง ปากก็ร้องเพลงเป็นภาษามลายู

ยังไม่สามารถหาหลักฐานที่แน่ชัดได้ว่าโรงลิเกที่เปิดกิจการแสดงแห่งแรกเป็นของใครและตั้งอยู่ที่ไหน แต่นักวิชาการส่วนใหญ่ต่างเห็นตรงกันในข้อสันนิษฐานที่ว่า วิกลิเกแห่งแรกของสยามน่าจะเป็นของพระยาเพชรปาณี (ตรี) อย่างไรก็ดี ที่เคยเชื่อกันว่าวิกลิเกนี้เริ่มต้นก็ตั้งอยู่ที่หลังกำแพงเมือง (เขตชุมชนป้อมมหากาฬในปัจจุบัน) ตรงข้ามวัดราชนัดดานั้น คุณอเนก นาวิกมูลได้ค้นคว้าจนพบข้อมูลใหม่ว่า พระยาเพชรปาณีได้เคยตั้งวิกลิเกที่แถวถนนบ้านหม้อมาก่อนแล้ว หลังจากนั้นจึงค่อยย้ายไปที่หลังกำแพงเมือง โดยมีหลักฐานชิ้นสำคัญคือ หนังสือพิมพ์บางกอกไตมส์ ลงข่าวสั้นๆ ว่า

“ลิเกพระยาเพชรปาณีที่ตั้งโรงเล่นแถวถนนบ้านหม้อเปนที่พอใจแก่คนดูนั้น อีกไม่ช้าวันแล้ว จะได้ไปตั้งเล่นที่โรงใหม่ ข้างวัดราชนัดดา ประตูพฤฒิบาต ผู้ที่ใกล้เคียงเคยดูลิเกบ่อยๆ แถวนั้นคงจะเปนที่เสียใจ”

ส่วนเรื่องการระบุเวลาก่อตั้งวิกลิเกพระยาเพชรปาณีให้แน่ชัดลงไปนั้น ในปัจจุบันนี้ยังไม่สามารถกระทำได้โดยตรง ทำได้แต่เพียงเทียบเคียงจากหลักฐานอื่น เอนก นาวิกมูล กล่าวว่า ที่อาจารย์สุรพล วิรุฬห์รักษ์ ได้สันนิษฐานว่าวิกลิเกของพระยาเพชรปาณีควรจะเริ่มมีขึ้นในช่วง พ.ศ.๒๔๓๙ - ๒๔๔๑ นั้น มีความใกล้เคียงกับหลักฐานที่เอนกได้ค้นพบใหม่ นั่นคือ ในหนังสือพิมพ์สยามไมตรี เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๐ ลงข่าวว่า มีการตัดสินความ คดีพวกลิเกพระยาเพชรปาณีทำร้ายพลตระเวน “ที่ถนนบ้านหม้อ” โดยศาลตัดสินให้พระยาเพชรปาณีเสียค่าทำขวัญแก่พลตระเวนผู้บาดเจ็บคนละเท่าๆ กัน หลักฐานนี้ช่วยยืนยันว่า อย่างน้อยคณะลิเกและวิกลิเกของพระยาเพชรปาณีมีมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๔๐ แล้ว

หลังจากที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดวัฒนธรรมทางศิลปกรรมเกี่ยวกับการแสดงละครขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๕ ได้บัญญัติกฏเกณฑ์และลักษณะต่างๆ ของละครขึ้นตามแบบอย่างของฝรั่งโดยแบ่งการละครของไทยออกเป็น ๓ ประการคือ อุปรากร นาฏกรรม และนาฏดนตรี โดยมีคำจำกัดความดังนี้

“อุปรากร ถือเอาดนตรีและการขับร้องเป็นสำคัญ ยิ่งกว่าบทบาทและการเจรจา …
นาฏกรรม ถือคำพูดและบทบาทเป็นสำคัญ ไม่มีดนตรีและการขับร้อง …
นาฏดนตรี ซึ่งเฉลี่ยความสำคัญให้แก่ดนตรี การขับร้อง คำพูดและบทบาท”

เมื่อลิเกถูกสั่งห้ามเพราะเป็นของต่ำไม่เหมาะกับวัฒนธรรมไทยในสมัยนั้น ทำให้ลิเกจำต้องเปลี่ยนชื่อการแสดงของตนเป็นนาฏดนตรีเพื่อความอยู่รอด บรรดาลิเกทั้งหลายต้องสอบผ่านเกี่ยวกับความรู้ด้านนาฏศิลป์ที่จัดสอบโดยกรมศิลปากร จึงจะได้บัตรประจำตัวเทียบเท่าศิลปิน ผู้มีบัตรเท่านั้นจึงมีสิทธิ์เล่นลิเกเป็นอาชีพ คำว่านาฏดนตรีนี้ใช้กันจนสิ้นบุญจอมพล ป. จึงค่อยเลิกไป และหันกลับมาใช้คำว่า ลิเก อีกครั้งหนึ่ง

.....................................

ข้อมูลจากเว็บไซต์เด็กดี.คอม
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่