ทุกข์ต้องกำหนดรู้

ความทุกข์ตวามหลักอริยสัจ ๔ นี้ หมายถึงความทุกข์ของจิตใจที่กำลังเกิดอยู่ในปัจจุบัน อันได้แก่ ความเศร้าโศก (หรือเสียใจ) ความคับแค้นใจ (อีดอัดใจ) ความไม่สบายใจ (ความรำคาญใจ) ความหนัก-เหนื่อยใจ (เครียด) เป็นต้น

ความทุกข์นี้เป็นสิ่งที่ต้องกำหนดรู้ คือมีสติตามรู้อยู่เสมอว่า ความทุกข์ได้เกิดขึ้นแล้ว ทุกข์ได้ดับหายไปแล้ว คือไม่ว่าความทุกข์อะไรเกิดขึ้นก็รู้ว่าได้เกิดขึ้นแล้ว เมื่อมันดับหายไปก็รู้ว่าได้ดับหายไปแล้ว และไม่ว่าจะเป็นทุกข์ที่เบาบาง (จากความฟุ้งซ่านที่ทำให้รำคาญใจที่เกิดจากนิวรณ์) หรือทุกข์ที่รุนแรง (จากความพอใจ ไม่พอใจ ที่เกิดจากกิเลส)

ทำไมจึงต้องกำหนดรู้ทุกข์? เป็นเพราะการกำหนดรู้นี้จะทำให้รู้จักว่าความทุกข์นี้เกิดขึ้นจากเหตุอะไร คือเมื่อความทุกขช์เกิดขึ้น มันก็ต้องมีเหตุมาทำให้เกิดขึ้น (ตามกฏอิทัปปัจจยตา) ดังนั้นเมื่อเราเห็นแจ้งทุกข์ว่ากำลังเกิดขึ้นอยู่ เราก็จะพบกับต้นเหตุ ของมันได้ทันที และเมื่อทุกข์นี้ได้ดับหายไป เราก็จะพบว่าเป็นเพราะต้นเหตุของมันได้ดับหายไป ซึ่งก็จะทำให้รู้จักทุกข์และสาเหตุของทุกข์พร้อมทั้งความดับหายไปของทุกข์และวิธีการดับทุกข์อย่างถูกต้อง ที่เรียกว่าเห็นแจ้งอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้านั้นเอง

แต่ถ้าเราเข้าใจผิดว่าความทุกข์นี้เป็นความทุกข์ของร่างกาย คือ แก่ เจ็บ ตาย ก็จะกำหนดรู้ถึงการเกิดขึ้นและดับหายไปไม่ได้ คือเราจะกำหนดรู้ถึงการเกิดขึ้นของความแก่ ความเจ็บ และความตายไม่ได้  และกำหนดถึงการดับหายไปของความแก่ เจ็บ ตาย ไม่ได้เพราะมันไม่ได้เกิดขึ้นเร็วและดับหายไปเร็วเหมือนความทุกข์ของจิตใจ ซึ่งเมื่อกำหนดรู้ทุกข์ไม่ได้ ก็จะไม่พบสาเหตุของทุกข์ ไม่พบความดับทุกข์ และไม่พบวิธีการดับทุกข์ ตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้าได้ คือสรุปว่าจะทำให้ไม่เห็นอริยสัจ ๔
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่