ทำอย่างไรดี กับคดีหนี้บัตรเครดิต (ตอนที่ 5)

ต่อจากตอนที่แล้ว ในการเจรจาประนอมหนี้ในระหว่างการดำเนินคดี โดยปกติแล้ว สถาบันการเงินแต่ละแห่งจะยอมลดยอดหนี้ หรือยอมขยายระยะเวลาการชำระหนี้ให้กับจำเลยในเงื่อนไขที่แตกต่างกันออกไปแล้วแต่นโยบายของสถาบันการเงินแต่ละแห่ง แต่โดยทั่วไปแล้วเงื่อนไขในการเจรจาประนอมหนี้ที่สถาบันการเงินจะรับพิจารณามี 2 เงื่อนไขหลัก ได้แก่
1) เงื่อนไขการชำระหนี้เป็นเงินก้อน ครั้งเดียวจบ - เป็นกรณีที่จำเลยตกลงที่จะชำระหนี้ให้กับโจทก์ โดยชำระเป็นเงินก้อนครั้งเดียวแล้วหมดหนี้กันไปเลย โดยหากจำเลยเสนอที่จะชำระหนี้ให้กับโจทก์ด้วยเงื่อนไขนี้ โดยทั่วไปโจทก์จะตกลงลดยอดหนี้ตามทุนทรัพย์ที่ฟ้องลงมาประมาณ 50% (แล้วแต่นโยบายของสถาบันการเงินแต่ละแห่ง) ยกตัวอย่างเช่น หากทุนทรัพย์ในคดีคือเงินต้นรวมกับดอกเบี้ยเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 140,000 บาท โจทก์จะตกลงลดเงินจำนวนดังกล่าวลงมาเหลือที่ 70,000 บาท หากท่านมีเงินก้อน 70,000 บาทมาชำระให้กับโจทก์ในครั้งเดียวเลย โจทก์จะรับเงินจำนวนดังกล่าวไว้ และถือว่าหนี้จำนวน 140,000 บาทเป็นอันจบกันไป (บางคดี โจทก์ยอมลดยอดหนี้ลงมาถึง 60%)
2) เงื่อนไขการผ่อนชำระหนี้ระยะยาว - เป็นกรณีที่จำเลยไม่สามารถหาเงินก้อนมาชำระหนี้ให้กับโจทก์ในครั้งเดียวได้ จำเลยจึงเสนอเงื่อนไขที่จะขอผ่อนชำระหนี้ระยะยาว โดยหากจำเลยเสนอที่จะชำระหนี้ให้กับโจทก์ด้วยเงื่อนไขนี้ โดยทั่วไป โจทก์จะตกลงลดยอดหนี้ตามทุนทรัพย์ที่ฟ้องลงมาเหลือเฉพาะเงินต้น และยอมขยายระยะเวลาการชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลา 3 ปี (แล้วแต่นโยบายของสถาบันการเงินแต่ละแห่ง) โดยการผ่อนชำระในงวดแรกๆ จะเป็นการผ่อนชำระในจำนวนน้อยๆ แล้วค่อยไปชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นในงวดหลังๆ ยกตังอย่างเช่น หากทุนทรัพย์ในคดีเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 140,000 บาท โจทก์จะตกลงลดเงินจำนวนดังกล่าวลงมาเหลือเฉพาะเงินต้น 100,000 บาท และให้จำเลยผ่อนชำระให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดระยะเวลา 3 ปี (36 งวด) โดยงวดที่ 1 ถึงงวดที่ 35 ผ่อนชำระงวดละ 2,000 บาท งวดที่ 36 จำนวน 30,000 บาท เมื่อผ่อนชำระครบถ้วนแล้ว ก็ถือว่าหนี้จำนวน 140,000 บาท เป็นอันจบกันไป
คราวหน้าเราจะมาว่ากันด้วยเรื่องของการตัดสินใจเลือกรูปแบบของการประนอมหนี้ สงสัยยังไงเมล์มาคุยกันได้ครับ chitchaichinsunti@hotmail.com
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่