เพราะ PM 2.5 ใช่ไหม
สถาบันมะเร็งแห่งชาติ เผยคนไทยป่วยมะเร็วปอดวันละ 57 ราย
พบมากไทยมีผู้หญิงที่ไม่สูบบุหรี่ติดอันดับ 2 ของโลก จี้รัฐเร่งผลักดันนโยบายให้ครอบคลุม ตรวคัดกรองโรคให้ผู้ป่วยทุกคนเข้าถึงการรักษา
เรืออากาศเอกนายแพทย์สมชาย ธนะสิทธิชัย ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เปิดเผยว่า สถานการณ์เร่งด่วนของโรคมะเร็งปอดในประเทศไทย บนเวทีเสวนาที่จัดขึ้นเนื่องในโอกาสวันงดสูบบุหรี่โลก โดยอ้างอิงข้อมูลระหว่างปี 2562 – 2564 ชี้ให้เห็นว่า มะเร็งปอดยังคงเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ในผู้ป่วยมะเร็ง และคาดการณ์ว่าในปี 2568 นี้ จะมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งปอดสูงถึง 41 คนต่อวัน และมีผู้ป่วยรายใหม่เฉลี่ยวันละ 57 ราย
สถานการณ์ดังกล่าวได้ผลักดันให้ภาครัฐ สมาคมแพทย์ และภาคีด้านสุขภาพ ต้องผนึกกำลังกันอย่างจริงจัง เพื่อเร่งผลักดันกลไกนโยบายในการเพิ่มการเข้าถึงนวัตกรรมการรักษาและการคัดกรองให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
ศ.ดร.นพ. ศรายุทธ ลูเซียน กีเตอร์ สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ปัจจุบันมะเร็งปอดพบมากเป็นอันดับ 1 ในผู้ชาย และอันดับ 4 ในผู้หญิง ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักตรวจพบโรคในระยะลุกลาม (ระยะที่ 4) ซึ่งทำให้โอกาสหายขาดลดลง และต้องเข้าสู่การรักษาแบบประคับประคอง
ปัจจัยเสี่ยงสำคัญของมะเร็งปอด
การสูบบุหรี่
มลพิษทางอากาศ (PM2.5)
พันธุกรรม
โดยผู้ป่วยมะเร็งปอดมีแนวโน้มพบได้ในผู้ป่วยอายุน้อยลงเรื่อย ๆ และประเทศไทยยังมีผู้หญิงที่ไม่สูบบุหรี่เป็นมะเร็งปอดสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก
ในบางประเทศมีแนวทางคัดกรองกลุ่มผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวป่วยด้วยโรคมะเร็งปอด แม้จะไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับพันธุกรรม แต่เกิดจากการใช้ชีวิตในสิ่งแวดล้อมเดียวกัน สะท้อนว่าแนวทางการคัดกรองจำเป็นต้องปรับให้สอดคล้องกับบริบทและข้อมูลเชิงพื้นที่
ปัจจุบันความก้าวหน้าในการรักษามะเร็งปอดมีความก้าวหน้าอย่างมาก ทั้งด้านการผ่าตัดผ่านกล้อง การฉายรังสีแบบแม่นยำ และการใช้ยามุ่งเป้า แต่การเข้าถึงนวัตกรรมเหล่านี้ยังคงมีข้อจำกัด สำหรับระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย
ทั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐกำลังอยู่ระหว่างการทบทวนเกณฑ์ความคุ้มค่า (Cost-Effectiveness Threshold) ที่ใช้พิจารณายาและนวัตกรรมสุขภาพ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์โรคที่มีความรุนแรงสูง เช่น มะเร็งปอด ซึ่งการพิจารณาปรับเกณฑ์นี้มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยเข้าถึงนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยยังรักษาความสมดุลของงบประมาณระบบสุขภาพโดยรวม
ในงานเสวนาวันงดสูบบุหรี่โลก ยังมีการเสนอแนวทางบริหารจัดการ เช่น การจัดซื้อรวม การตั้งงบประมาณเฉพาะด้าน เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มโอกาสการเข้าถึงยานวัตกรรม ซึ่งจะช่วยให้โรงพยาบาลสามารถดำเนินการรักษาได้โดยไม่เพิ่มภาระทางการเงิน
การส่งเสริมให้เกิด ‘Stage Shift’ หรือการตรวจพบโรคในระยะแรกเริ่ม แทนระยะลุกลาม จะช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาหาย ลดต้นทุนในระยะยาว และทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มุ่งสู่ระบบสุขภาพที่ครอบคลุมและยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดของการคัดกรองคือ ‘Stage Shift’ หรือการย้ายระยะของโรค หากการคัดกรองจะทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ถูกตรวจพบในระยะที่ 1 แทนที่จะเป็นระยะที่ 4 สามารถเปลี่ยน ‘Mode of Death’ หรือวิธีการเสียชีวิตของผู้ป่วยจากมะเร็งปอดไปเป็นการเสียชีวิตตามวัยชราภาพได้
ด้าน นพ. จักรกริช โง้วศิริ ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบุว่า โรคมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งปอด เป็นค่าใช้จ่ายสำคัญของระบบสุขภาพ ซึ่งต้องอาศัยการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่ชัดเจน เช่น อัตราการรอดชีวิตที่สูงขึ้น หรือภาวะแทรกซ้อนที่ลดลง
ทั้งนี้ ภาครัฐไม่ได้เน้นเฉพาะการรักษาเมื่อป่วย แต่ยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค และการคัดกรองระยะเริ่มต้น ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในภาพรวมได้ในระยะยาว
การแก้ปัญหามะเร็งปอดอย่างยั่งยืน จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในการกำหนดแนวทางที่ยืดหยุ่นและยั่งยืน ทั้งในด้านการเข้าถึงนวัตกรรม เทคโนโลยี และการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์สุขภาพอย่างต่อเนื่อง
สถาบันมะเร็งแห่งชาติ เผยปัจจัยเสี่ยงผู้หญิงไทย "ป่วยมะเร็งปอด" top 2 ของโลก
สถาบันมะเร็งแห่งชาติ เผยคนไทยป่วยมะเร็วปอดวันละ 57 ราย พบมากไทยมีผู้หญิงที่ไม่สูบบุหรี่ติดอันดับ 2 ของโลก จี้รัฐเร่งผลักดันนโยบายให้ครอบคลุม ตรวคัดกรองโรคให้ผู้ป่วยทุกคนเข้าถึงการรักษา