มะเร็งปอด สาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ในประเทศไทย ส่วนมากผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดในระยะต้นจะไม่ค่อยมีอาการแสดง และจะมาพบแพทย์ก็เมื่อมีอาการที่บ่งบอกถึงมะเร็งมีการแพร่กระจายหรือเจริญเติบโตมากขึ้นแล้ว ทำให้โอกาสที่จะเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปอดสูงมาก แม้ว่ามะเร็งปอดจะพบมากในผู้สูงอายุ แต่ในปัจจุบันพบว่าเกิดขึ้นในกลุ่มคนอายุน้อยมากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยเสี่ยงหลายประการที่อาจเผชิญโดยไม่รู้ตัว ได้แก่ มลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะ PM2.5 ควันบุหรี่มือหนึ่งและมือสอง สารเคมีและสารก่อมะเร็งอื่นๆ ในสิ่งแวดล้อม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม มะเร็งปอดหากตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มต้นจะทำให้มีผลการรักษาที่ดี และด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์ในปัจจุบัน พร้อมกับการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบใช้ปริมาณรังสีต่ำ Low-Dose CT ทำให้สามารถตรวจวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะเริ่มต้นและระยะแพร่กระจายได้ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
มะเร็งปอดเกิดจากอะไร
มะเร็งปอด (Lung Cancer) เกิดจากการเจริญเติบโตของเซลล์ที่ผิดปกติอย่างรวดเร็วและไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้เกิดเป็นกลุ่มก้อนของเซลล์ที่ผิดปกติ ซึ่งจะตรวจพบได้เมื่อมีขนาดใหญ่ มีจำนวนมาก และแพร่ไปตามบริเวณต่างๆ ของร่างกาย โดยความรุนแรงของโรคจะขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งปอด
- บุหรี่ จัดเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปอดถึงร้อยละ 80 - 90 การสูบบุหรี่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์หลอดลม ทำให้เกิดการกลายพันธุ์เป็นเซลล์มะเร็งได้
- ควันบุหรี่มือสอง ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็นผู้ที่สูบบุหรี่ แต่การได้รับควันบุหรี่มือสอง มือสาม จากการสูดหายใจเข้าไปจะทำให้มีสารพิษตกค้างซึ่งก่อให้เกิดมะเร็งได้
- สารพิษ การได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกาย อาทิ การสัมผัสสารแอสเบสตอส หรือแร่ใยหิน ซึ่งใช้ในวงการอุตสาหกรรมรถยนต์ เช่น ฉนวนกันความร้อน ผ้าเบรค คลัช การก่อสร้าง โครงสร้างอาคาร เหมืองแร่ และอุตสาหกรรมสิ่งทอ สามารถทำให้เกิดโรคมะเร็งปอดมากกว่าคนทั่วไปถึง 5 เท่า รวมถึงฝุ่นและไอระเหยจากนิกเกิล โครเมียม และโลหะอื่นๆ
- มลภาวะทางอากาศ ฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอนหรือ PM2.5 ส่งผลเพิ่มความเสี่ยงการเป็นมะเร็งได้เช่นกัน
โรคปอด ผู้ที่เคยมีแผลเป็นของโรคที่ปอด เช่น วัณโรคปอด ถุงลมโป่งพอง มีโอกาสเสี่ยงเกิดมะเร็งปอดสูงกว่าบุคคลทั่วไป
- ปัจจัยอื่นๆ เช่น อายุที่มากขึ้น การใช้สารเสพติดบางประเภท เช่น โคเคน ภาวะขาดวิตามินเอ พันธุกรรม อาจมีส่วนทำให้เกิดมะเร็งปอดได้
อาการของมะเร็งปอด
มะเร็งปอดในระยะเริ่มต้น มักไม่แสดงอาการ แต่เมื่อโรคแพร่กระจาย แล้วมักมีอาการแสดง ที่สามารถสังเกตได้ดังนี้
- อาการของระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ อาการไอเรื้อรัง โดยไอแห้งหรือไอมีเสมหะก็ได้ อาการไอมีเลือดปน หอบเหนื่อย หายใจลำบาก หายใจมีเสียงหวีด หายใจสั้น เจ็บบริเวณหน้าอกเวลาหายใจ มีการติดเชื้อในปอดบ่อยๆ เช่น ปอดบวม ปอดอักเสบ
- อาการที่เกี่ยวเนื่องกับระบบอื่นๆ ของร่างกาย ได้แก่ น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ เสียงแหบ มีอาหารบวมที่หน้า คอ แขน และทรวงอก กลืนลำบาก
ปวดกระดูก
ทั้งนี้อาการเหล่านี้ อาจเกิดจากโรคอื่นๆ ของปอด หรือไม่ได้เกิดที่ปอดได้เช่นกัน จึงไม่ใช่อาการของมะเร็งปอดเสมอไป ผู้ที่มีอาการดังกล่าวควรได้รับการตรวจจากแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุอย่างแท้จริง
การตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งปอด
หากมีอาการที่เข้าข่ายของโรคมะเร็งปอด แพทย์จะทำการตรวจร่างกาย ตรวจเสมหะ เอกซเรย์ปอด หากพบความผิดปกติ แพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยเพื่อเป็นการยืนยันด้วยวิธีอื่นๆ เพิ่มเติม ได้แก่
1. การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบใช้ปริมาณรังสีต่ำ Low-Dose CT (Low-Dose Computerized Tomography) ซึ่งวิธีนี้เป็นการตรวจหลักที่ช่วยให้แพทย์ตรวจพบจุดหรือก้อนเนื้อที่อยู่ในปอดได้ แม้จุดในปอดนั้นเล็กเกินกว่าที่จะมองเห็นด้วยการเอกซเรย์ธรรมดา คือ สามารถช่วยตรวจพบก้อนเนื้อขนาดเล็กเพียง 2-3 มิลลิเมตร และสามารถระบุตำแหน่งและขนาดรอยโรคได้ชัดเจน โดยผู้ที่รับการตรวจไม่ต้องฉีดสี ป้องกันอันตรายที่เกิดจากการรับรังสี เนื่องจากเป็นการตรวจที่ ใช้ปริมาณรังสีตํ่าเมื่อเทียบกับการทำ CT chest (CT scan) แบบปกติ ถึง 5 เท่า ทำให้สามารถวินิจฉัยและเริ่มการรักษาได้เร็วขึ้น
2. การตรวจวินิจฉัยด้วยรังสีชนิดอื่นๆ ได้แก่ การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) และ การตรวจด้วยเครื่อง Positron Emission Tomography (PET Scan)
3. การตัดชิ้นเนื้อเพื่อวิเคราะห์ (biopsy) เช่น การใช้เข็มขนาดเล็กตัดชิ้นเนื้อ การใช้เข็มเจาะช่องเยื่อหุ้มปอดแทงผ่านผนังทรวงอก การส่องกล้องตรวจภายในหลอดลม การตรวจช่องกลางทรวงอกโดยการส่องกล้อง และการตรวจช่องทรวงอกโดยการส่องกล้อง
4. การตรวจยีนกลายพันธุ์ของมะเร็งจากชิ้นเนื้อ หรือเลือด หากมียีนกลายพันธุ์ที่สามารถรักษาด้วยการใช้ยารักษาแบบเฉพาะเจาะจงยีนจะทำให้กำจัดเซลล์มะเร็งได้ตรงจุด
การรักษามะเร็งปอด
1. การผ่าตัด (Surgery) จะใช้ในการรักษามะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก ในระยะที่ 1 และ 2 เพื่อผ่าเอาก้อนมะเร็งที่ปอดและต่อมน้ำเหลืองที่ช่องอกออกให้หมด ซึ่งบางครั้งก้อนเนื้อนั้นอาจไม่ใช่เซลล์มะเร็งทั้งหมดก็ได้
2. การฉายรังสี (Radiotherapy) จะใช้เฉพาะจุดเพื่อควบคุมการลุกลาม และใช้เป็นการรักษาเสริมหลังการผ่าตัดในผู้ป่วยระยะที่ 3 ที่มีข้อบ่งชี้เพื่อเพิ่มผลการควบคุมโรคที่ดี แต่จะไม่ได้ผลกับระยะมะเร็งที่มีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนต่างๆ โดยการใช้พลังงานรังสีที่มีความเข้มข้นฉายไปยังตำแหน่งของเซลล์มะเร็งเพื่อทำลายกลุ่มก้อนเซลล์มะเร็งนั้น
3. ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) เป็นการใช้ยากำจัดและยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งที่มีอยู่ทั่วร่างกาย โดยการฉีดหรือผสมสารละลายหยดเข้าไปทางหลอดเลือด ซึ่งตัวยาจะผ่านเข้าไปในระบบไหลเวียนเลือดและเข้าสู่เซลล์มะเร็งทางเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงก้อนมะเร็ง
4. การรักษาแบบยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) เป็นการรักษาโดยการใช้ยารับประทานที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง โดยไม่ส่งผลต่อเซลล์ปกติ ให้ประสิทธิผลในการรักษาและไม่ทำให้เกิดอาการข้างเคียง
มะเร็งปอด หากตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มต้นสามารถรักษาได้ หากอยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น สูบบุหรี่จัด มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ทำงานใกล้ชิดกับสารเคมี หรือสารก่อมะเร็ง เป็นต้น ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปอด และหมั่นตรวจร่างกายเป็นประจำสม่ำเสมอ ทั้งนี้เพื่อให้การรักษามะเร็งมีประสิทธิผลมากที่สุดนั้น การได้รับการตรวจหาการกลายพันธุ์ในเซลล์มะเร็งของผู้ป่วยด้วยการตรวจยีนมะเร็งร่วมด้วย จะช่วยให้แพทย์และผู้ป่วยสามารถร่วมกันวางแผนการรักษา และเลือกยารักษาได้อย่างเหมาะสม
มะเร็งปอด ภัยร้ายใกล้ตัว ตรวจพบเร็วให้ผลการรักษาที่ดี
มะเร็งปอดเกิดจากอะไร