ภาษี e-Payment คืออะไร? ค้าขายออนไลน์ต้องรู้

"ในยุคที่การขายของออนไลน์กำลังเฟื่องฟู ใคร ๆ ก็สามารถเป็นพ่อค้าแม่ค้าได้ง่าย ๆ แต่คุณน้าคิดว่ามีสิ่งหนึ่งที่พ่อค้าแม่ค้าหลายคนอาจจะยังไม่รู้ หรืออาจจะยังเข้าใจไม่ลึกมากพอ นั่นก็คือ ภาษี e-Payment ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนที่มีรายได้ผ่านช่องทางดิจิทัลควรรู้ เพื่อให้เสียภาษีอย่างถูกต้องและไม่ถูกเก็บภาษีย้อนหลัง "


ภาษี e-Payment คืออะไร?
ภาษี e-Payment (Electronic Payment Tax) คือ กฎหมายที่กรมสรรพากรใช้ในการตรวจสอบและติดตามรายได้ของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ผ่านธุรกรรมการโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีและติดตามรายได้จากธุรกรรมทางดิจิทัล และที่สำคัญ ก็คือ ลดการเลี่ยงภาษีจากรายได้ที่ไม่ได้ถูกนำมายื่นภาษี โดยเฉพาะจากอาชีพอิสระหรือผู้ค้าขายออนไลน์ที่ไม่มีใบกำกับภาษีหรือหลักฐานรายได้แบบเป็นทางการนั่นเอง

ใครบ้างที่เข้าเกณฑ์ภาษี e-Payment?
1. รับฝากหรือรับโอนเงินเข้าทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้งต่อปี โดยไม่จำกัดจำนวนเงินต่อครั้ง
2. รับฝากหรือรับโอนเงินเข้าทุกบัญชีรวมกัน ตั้งแต่ 400 ครั้งต่อปี และมียอดเงินรวมตั้งแต่ 2,000,000 บาทต่อปีขึ้นไป ซึ่งต้องเข้าเงื่อนไขทั้งจำนวนครั้งและยอดเงินค่ะ

หากเข้าเกณฑ์จะต้องเสียภาษีเลยไหม?
การเข้าเกณฑ์ที่ต้องรายงานข้อมูลไม่ได้หมายความว่าต้องเสียภาษีทันที แต่เป็นการเปิดเผยข้อมูลให้กรมสรรพากรทราบ เพื่อใช้ประกอบการตรวจสอบเท่านั้น หากรายได้ที่ได้รับจากธุรกรรมเหล่านี้เป็นรายได้ตามกฎหมาย เช่น รายได้จากการขายของออนไลน์ รับเงินค่าบริการ ฯลฯ ผู้มีรายได้ต้องนำไปรายงานและยื่นภาษีประจำปีให้ถูกต้องด้วยตนเอง

ค่าปรับเกี่ยวกับ e-Payment ที่ควรรู้
ค่าปรับสำหรับธนาคาร, สถาบันการเงิน และผู้ให้บริการ e-Wallet ที่ไม่ปฏิบัติหน้าที่ส่งข้อมูลธุรกรรมให้กรมสรรพากรนั้น มีความผิดตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48) พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นกฎหมาย e-Payment โดยมีบทลงโทษดังนี้

1. ปรับไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับการไม่ส่งข้อมูลตามกำหนด
2. ปรับอีกไม่เกินวันละ 10,000 บาท จนกว่าจะส่งข้อมูลครบถ้วน

นอกจากนี้ กรณีเจ้าพนักงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องเปิดเผยข้อมูลของผู้เสียภาษีโดยไม่ได้รับอนุญาต จะมีโทษทางอาญา คือ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ



ประเภทของภาษีที่เกี่ยวข้องกับ e-Payment
1. ภาษีเงินได้
- รายได้ที่เกิดจากการขายสินค้าหรือบริการผ่านช่องทางออนไลน์และรับชำระผ่านระบบ e-Payment ถือเป็นเงินได้พึงประเมินที่ต้องนำมาคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
- ผู้มีรายได้จากแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น YouTube, TikTok หรือ Facebook ที่รับเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ต้องนำรายได้เหล่านี้มารวมเพื่อคำนวณภาษี
- การขายสินค้าออนไลน์ผ่าน e-Marketplace และรับเงินผ่าน e-Payment ก็อยู่ในข่ายต้องยื่นภาษีเช่นกัน

2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
- ผู้ประกอบการที่มีรายได้จากการขายสินค้าหรือให้บริการผ่านระบบ e-Payment เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี มีหน้าที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
- การขายสินค้าหรือบริการผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์และรับชำระเงินผ่านระบบ e-Payment ต้องเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% จากลูกค้าและนำส่งกรมสรรพากร
- แพลตฟอร์มดิจิทัลต่างประเทศที่ให้บริการแก่ผู้ใช้ในประเทศไทย เช่น Netflix หรือ Spotify ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในไทยและเรียกเก็บ VAT จากผู้ใช้บริการ

3. ภาษีหัก ณ ที่จ่าย
- การจ่ายเงินค่าสินค้าหรือบริการผ่านระบบ e-Payment ในบางกรณียังคงต้องมีการหักภาษี ณ ที่จ่าย
- นิติบุคคลที่จ่ายเงินให้กับผู้ขายหรือผู้ให้บริการผ่านระบบ e-Payment มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายตามอัตราที่กฎหมายกำหนด
- การจ่ายค่าโฆษณาให้กับ Influencer หรือแพลตฟอร์มออนไลน์ผ่านระบบ e-Payment ต้องมีการหักภาษี ณ ที่จ่าย 2-3% ตามประเภทของผู้รับเงิน


สรุป ภาษี e-Payment คืออะไร? ค้าขายออนไลน์ต้องรู้!
ภาษี e-Payment คือ กฎหมายภาษีที่เกี่ยวข้องกับรายได้จากการทำธุรกรรมออนไลน์ทุกประเภท ไม่ว่าจะรับเงินผ่านช่องทางใด หากรายได้ถึงเกณฑ์ก็ต้องยื่นภาษีตามกฎหมาย ดังนั้น ผู้ค้าออนไลน์มือใหม่ควรจัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายอย่างถูกต้อง ยื่นภาษีให้ครบถ้วน และชำระภาษีผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อความสะดวกและถูกต้องตามกฎหมาย

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่