หลวง​ตา​บัว​พูด​ถึง​ ไตรลักษณ์​ กลาง​หยาบและ​ ละเอียด​

-ไตรลักษณ์อย่างหยาบ กลาง ละเอียด

"เมื่อจิตยังไม่สงบ เราจะพิจารณาสิ่งใด
ก็ไม่ชัดเจน แม้จะพิจารณาทางปัญญา
ก็กลายเป็นสัญญาไปเสียโดยมาก นี้หมายถึงสัญญา ที่จะก่อเหตุเป็นสมุทัย สะสมกิเลสขึ้นภายในใจ

เพราะความรู้ความเห็นที่มาผ่านทางตา หู
จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อใจได้รับความสงบแล้ว จะพิจารณาสภาวธรรมก็เห็นชัดเจนแจ่มแจ้ง เช่นเดียวกับบุคคลที่กำลังหยุดนิ่งอยู่...
มองดูอะไร ก็เห็นชัด ฉะนั้น...สมาธิพระองค์ก็ได้ทรงบำเพ็ญมา

คำว่า สมาธินี้...
หมายถึงความสงบของใจ หรือความแน่นหนามั่นคงของใจ เมื่อใจได้รับความสงบแล้ว... ความสุขจะปรากฏขึ้นมาในขณะนั้น ถ้ายังไม่สงบ ก็ยังไม่ปรากฏเป็นความสุขขึ้นมา
เมื่อมีความสงบสุขแล้ว  เราพอมีช่องทางจะพิจารณาทางปัญญา
.
คำว่า ปัญญา...
หมายถึงความสอดส่องมองดูเหตุการณ์ต่างๆ ได้ทะลุปรุโปร่งเป็นลำดับ หรือความแยบคาย ออกจากใจอันเดียว
สัญญา คือความจำ
ปัญญา คือความคลี่คลายในสิ่งที่ตนจดจำไว้นั้น เช่นเดียวกับเรามัดไม้หลายกิ่งหลายแขนงเข้าเป็นมัดๆ สัญญาเช่นเดียวกับตอก หรือลวดที่เรามัดไม้เป็นกำไว้
ปัญญา เป็นผู้คลี่คลายไม้ที่เรามัดไว้นั้น...
ให้เห็นว่า มีกี่ชิ้นด้วยกัน มีไม้อะไร และชื่อว่าอะไรบ้าง  เรื่องของปัญญา จึงเป็นธรรมชาติคลี่คลายดูสภาวธรรม ซึ่งเป็นของมีอยู่ในตัวของเรา

อนึ่งคำว่า สมาธิ...
การทำใจให้มีความสงบเยือกเย็น ท่านผู้ฟัง
ทั้งหลายคงจะเคยได้ทราบแล้วว่า มีหลายชั้น

ขณิกสมาธิ
จิตที่รวมลงเพียงขณะเดียวแล้วถอนขึ้นมาเสีย

อุปจารสมาธิ คือสมาธิที่รวมสงบแล้ว
ถอนออกมาเล็กน้อย แล้วออกรู้สิ่งต่างๆ ที่มาสัมผัสใจในขณะนั้น...จะเป็นเรื่องสัตว์ บุคคล หรือภูตผีก็ตาม จัดเข้าในวงอุปจารสมาธินี้

ส่วนอัปปนาสมาธิ จิตที่หยั่งลงแล้ว...
มีความสงบอย่างเต็มที่ และรวมอยู่ได้เป็นเวลานานๆ คำว่า...อัปปนาสมาธินี้  มีความหมาย
กว้างขวางมาก จิตรวมอยู่ได้นานด้วย มีความชำนิชำนาญ ในการเข้าออกของสมาธิด้วย ต้องการเวลาใด ได้ตามความต้องการด้วย
แต่เราผู้บำเพ็ญในทางปัญญานั้น...

ไม่จำเป็นต้องถึงขั้นอัปปนาสมาธิแล้ว...
จึงจะต้องพิจารณาทางปัญญา
เรื่องของสมาธิ คือความสงบจะสงบมากน้อย พึงทราบว่า...เป็นบาทฐานแห่งวิปัสสนา
คือปัญญาเป็นขั้นๆ ไป เพราะปัญญามีหลายขั้น ขั้นหยาบ ขั้นกลาง ขั้นละเอียด

สมาธิ ในขั้นหยาบก็เป็นบาทฐานของวิปัสสนาขั้นหยาบได้  ขั้นกลาง  ขั้นละเอียด ก็เป็นบาทฐานของปัญญาขั้นกลาง ขั้นละเอียดได้  และในขณะเดียวกันพึงทราบว่า...
สมาธิ กับปัญญานั้น...เป็นธรรมคู่เคียง
โดยจะแยกจากกันไม่ออก ควรใช้ปัญญาคู่เคียงกันไปกับสมาธิ ตามโอกาสอันควร
คือถ้าเราจะดำเนินในทางสมาธิโดยถ่ายเดียว ไม่คำนึงถึงเรื่องปัญญาเลยแล้ว...
จะเป็นเหตุให้ติดสมาธิ คือความสงบ
.
เมื่อจิตถอนออกมาจากสมาธิแล้ว...
ต้องพิจารณาในทางปัญญา เช่นพิจารณา
ธาตุขันธ์โดยทางไตรลักษณ์
วันนี้ ก็พิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
วันหน้า ก็พิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไตร่ตรอง อยู่...เช่นนี้ทุกวันทุกคืนไป
ไม่ต้องสงสัยว่า...จะไม่ชำนาญในทางปัญญา ต้องมีความคล่องแคล่วชำนาญ เช่นเดียวกัน
กับทางสมาธิ

ปัญญา ในเบื้องต้นต้องอาศัยการบังคับ
ให้พิจารณาอยู่บ้าง  ไม่ใช่ จิตเป็นสมาธิแล้ว
จะกลายเป็นปัญญาขึ้นมาทีเดียว
ถ้าจิตเป็นสมาธิแล้วกลายเป็นปัญญาขึ้นมาเอง โดยผู้บำเพ็ญไม่ต้องสนใจมาพิจารณาทางด้านปัญญาเลยแล้ว...
จิต ก็ไม่มีโอกาสจะติดสมาธิ ดังที่เคยปรากฏดาษดื่นในวงนักปฏิบัติ

ความจริงเบื้องต้น ต้องอาศัยมาพิจารณา ปัญญา จะมีความคล่องแคล่ว และมีความสว่างไสว ทั้งรู้เท่าทันกับสิ่งที่มาเกี่ยวข้อง
เป็นลำดับ จะเป็นไตรลักษณ์ที่หยาบ ก็จะ
เห็นในทางปัญญา
.
ไตรลักษณ์อย่างหยาบ อย่างกลาง และอย่างละเอียดนั้น...ขึ้นอยู่กับการพิจารณา  เช่นเราพิจารณาในส่วนร่างกายจัดว่าเป็นไตรลักษณ์ส่วนหยาบ พิจารณาในเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จัดเป็นไตรลักษณ์ส่วนกลาง พิจารณาเรื่องจิตที่เป็นรากเหง้าแห่งวัฏฏะจริง ๆ แล้ว นั่นคือไตรลักษณ์ส่วนละเอียด

เมื่อจิตได้ก้าวเข้าสู่ไตรลักษณ์ส่วนหยาบ ไตรลักษณ์ส่วนกลาง ไตรลักษณ์ส่วนละเอียด จนผ่านพ้นไตรลักษณ์ทั้งสามนี้ไปแล้ว... ธรรมชาติที่ปรากฏขึ้นในอันดับต่อไปอย่างไม่มีปัญหาใดๆ นั้น...
จะเรียกว่า...อัตตาก็ตาม อนัตตาก็ตาม
ไม่เป็นไปตามความสมมุตินิยมใดๆ ทั้งนั้น เพราะอัตตา กับอนัตตาเป็นเรื่องของสมมุติ
ซึ่งโลกก็มีอยู่ด้วยกัน

ธรรมชาติอันนั้น...ไม่ใช่สมมุติ
โลกทั้งหลายจึงเอื้อมถึงได้ยาก เมื่อมีอัตตาและอนัตตาเป็นเครื่องเคลือบแฝงอยู่ในใจ."

องค์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
จากหนังสือ "ญาณสัมปันนธัมมานุสรณ์"
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่