อีอีซีทุ่มแพคเกจลงทุน ยกเว้นภาษีสูงสุด 15 ปี ... หวังดึง TESLA ตั้งโรงงาน


22 ต.ค. 2566 เวลา 9:15 น.

   ภายหลังจากที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เร่งเดินหน้าชักจูงการลงทุนจากต่างประเทศ 
โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยการเดินทางเยือนสหรัฐในเดือนก.ย.ที่ผ่านมา 
ได้พบกับอีลอน มัสก์ ผู้บริหารบริษัทเทสลาและคณะทำงาน ซึ่งได้แลกเปลี่ยนมุมมองและหารือกัน โดยรัฐบาลแสดงจุดยืดชัดว่าพร้อม
ให้การดูแลและสนับสนุนสิทธิประโยชน์การลงทุนตามกรอบกฎหมาย

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ
นโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ชุดใหม่ เมื่อวันที่ 17 ต.ค.2566 ว่า ได้มีการกำหนดเป้าหมายเพื่อดึงดูดเงินลงทุนทั่วโลก
ผ่านอุตสาหกรรมเป้าหมาย ใน 5 คลัสเตอร์หลัก ได้แก่ การแพทย์ ดิจิทัล ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) BCG และบริการ สอดคล้องตามนโยบาย
หลักของรัฐบาล เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ที่ยั่งยืน เพิ่มความสามารถการแข่งขันของประเทศ
 
โดยอีอีซีมีแผนการพัฒนาให้สิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดการลงทุนภายใต้กรอบ พรบ.อีอีซี ในการให้สิทธิประโยชน์สูงสุดเพิ่มเติมจากที่
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) โดยพิจารณารายโครงการตามเม็ดเงินลงทุน รวมถึงนักลงทุนรายใหม่ที่จะเป็น
แม่เหล็กในการดึงดูดคลัสเตอร์อุตสาหกรรมตามเข้ามาลงทุนในประเทศ 

" สำหรับการเจรจากับเทสลา อีอีซีได้เสนอแพคเกจลงทุนสูงสุดให้นายกฯ พิจารณา อาทิ การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล (CIT) 
สูงสุด 15 ปี รวมทั้งการยกเว้นภาษีนำเข้าวัตถุดิบ ทั้งอุปกรณ์และชิ้นส่วน การให้วีซ่า ระยะยาวในการพำนักในไทยสูงสุด 10 ปี 
ทั้งในผู้เชี่ยวชาญระดับสูง ผู้บริหารรวมทั้งผู้ติดตาม และการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Flat rate) เหลือ 17% ขณะที่การคิดค่า
เช่าพื้นที่สร้างโรงงานสูงสุด 99 ปี โดยคาดว่านายกฯ จะนำแพคเกจลงทุนดังกล่าวหารือเจรจากับเทสลา ในช่วงระหว่างที่มีกำหนด
เดินทางไปร่วมประชุม APEC ที่สหรัฐในเดือนพ.ย."

อย่างไรก็ตาม รายงานบทวิเคราะห์ของบริษัทเกียรตินาคินภัทร (KKP Research) ระบุถึงสาเหตุที่เทสลายังไม่ต้องโรงงานผลิต
รถอีวีในไทย เพราะตลาดรถยนต์ไทยมีขนาดเล็กและกำลังซื้อน้อยกว่าจีนและสหรัฐฯ โดยยอดขายรถยนต์นั่งอีวี ในไทยมีเพียง 
3-4 แสนคันต่อปี ขณะที่จีนขายได้ 20 ล้านคันต่อปี ทำให้เทสลามียอดขายในจีนอยู่ประมาณ 4 แสนคันต่อปี และแม้ว่าไทยจะมี

มาตรการรัฐที่อุดหนุนอีก 150,000 บาท เทสลาก็ยังมีราคาสูงกว่าระดับราคารถที่คนไทยส่วนใหญ่ใช้ รวมทั้งยังมีราคสูงกว่าอีวีจีน
ในไทยและการนำเข้ามีแนวโน้มถูกกว่าผลิตในไทย เนื่องจากเทสลาไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าผ่านการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจาก
ข้อตกลงการค้าเสรีจากประเทศจีนอยู่แล้ว รวมถึงนโยบายอุตสาหกรรมประเทศอื่นดึงดูดการลงทุนมากกว่าไทย จึงทำให้ปัจจุบัน
เทสลาเลือกจะนำเข้ารถยนต์จากจีนแทนการมาตั้งฐานการผลิตในไทย

แม้ไทยจะมีมีมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ แต่มีเงื่อนไขต้องผลิตชดเชยการนำเข้าภายในปี 2567 เท่ากับจำนวนที่นำเข้าในปี 
2565 – 2566 จึงทำให้เทสลาไม่ได้เข้าร่วมมาตรการดังกล่าวและไม่ได้ส่วนลดทางภาษีพร้อมกับเงินอุดหนุนเหมือนค่ายรถจีน 
และยังไม่มีแผนสำหรับการตั้งฐานผลิตที่ไทยแม้ว่าตลาดรถยนต์ไฟฟ้าไทยจะเติบโตได้ดีในช่วงทีผ่านมาก็ตาม

ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นการลงทุนและความต้องการ EV ในประเทศไทยประกอบด้วย

- การอุดหนุนเงินสูงสุดถึง 150,000 บาท สำหรับรถ EV ที่ผลิตลงทุนในประเทศ
- การยกเว้นภาษีนิติบุคคลสูงถึง 13 ปีสำหรับการตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนในประเทศไทย
- การยกเว้นภาษีนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูปและชิ้นส่วนเทคโนโลยีสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้าในระยะเริ่มต้น
- การลดอัตราภาษีสรรพสามิต
- การลดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตจดทะเบียนรถ
- การได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีด้านการส่งออกผ่านกรอบข้อตกลง FTAs ซึ่งทำให้การส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนจากไทย
ไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนและเอเชียแปซิฟิกเสียภาษีใกล้เคียงศูนย์

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการส่งเสริมที่ไม่ใช่การเงิน เช่น การเร่งขยายโครงข่ายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า โดยมีเป้าหมายติดติดตั้ง
สถานีชาร์จให้ได้ 12,000 แห่งทั่วประเทศภายในปี 2573

อ้างอิง https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1094956
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่