JJNY : เมื่อไหร่ไทยจะมี Emergency Mobile Alert│พริษฐ์เสนอรัฐบาล3ข้อ│ปดิพัทธ์เมินวิป รบ.ยื่นตีความ│บาทอ่อนค่า-หุ้นไทยร่วง

ชาวเน็ตตั้งคำถาม เมื่อไหร่ไทยจะมี Emergency Mobile Alert
https://www.khaosod.co.th/update-news/news_7898974
 
 
ชาวเน็ตตั้งคำถามสนั่น เมื่อไหร่ประเทศไทยจะมี Emergency Mobile Alert หรือระบบเตือนภัยฉุกเฉิน แบบที่หลายประเทศทั่วโลกใช้กัน
 
เหตุการณ์สลด ณ สยามพารากอน เมื่อวานนี้ (3 ต.ค.) สร้างความตื่นตระหนกให้กับชาวไทยและชาวต่างชาติเป็นจำนวนมาก เพราะเป็นเหตุการณ์อุกอาจใจกลางเมือง ในสถานที่ที่ผู้คนสัญจรหนาแน่น
 
สิ่งที่หยิบยกมาพูดอีกครั้ง คือ ระบบ Emergency Mobile Alert หรือ ระบบการแจ้งเตือนภัย ที่ไทยควรจะมีเหมือนในหลายประเทศทั่วโลก
 
เพราะนี่ไม่ใช่เหตุการณ์รุนแรงแรกที่เกิดขึ้นในประเทศไทย หลายคนที่ใช้สถานที่อยู่บริเวณใกล้เคียงจะไม่มีทางรู้เลยถ้าไปกดเข้าแอพฯโซเชียลต่าง ๆ ซึ่งบางครั้งก็มักจะมาพร้อมเฟกนิวส์เกินจริง ฉะนั้นการมีระบบเตือนภัยจากส่วนกลาง ก็ดูปลอดภัยและน่าเชื่อถือที่สุด
 
ผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่ง ได้แชร์ข้อความเตือนภัยจากแอพฯของนิสิตจุฬาลงกรณ์ ที่บอกว่า 
 
“มีรายงานคล้ายเสียงปืนที่ห้าง Paragon ใกล้มหาวิทยาลัยโปรดหลีกเลี่ยง”

หรือแม้แต่ที่ประเทศเกาหลีใต้เองก็ยังมีการส่งข้อความเตือนภัยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในไทยให้กับประชาชน ผู้ใช้แอพจะได้รับข้อความ
 
การมี Emergency Alert System ไม่ได้มีประโยชน์เฉพาะในเหตุการณ์ก่อการร้ายเท่านั้น แต่ในเรื่องของอุบัติเหตุฉุกเฉิน หรือภัยพิบัติ ก็มีประโยชน์มากเช่นกัน
 
โดยเฉพาะในยุคใหม่ที่เป็นการเตือนภัยผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือ Cell Broadcast คือวิธีการส่งข้อความไปยังโทรศัพท์มือถือหลายๆ เครื่อง ในพื้นที่ให้บริการพร้อมกันในคราวเดียว รองรับมาตรฐานตั้งแต่ 2G, 3G, 4G LTE ไปจนถึง 5G
 
ปัจจุบัน รัฐบาลในหลายสิบประเทศทั่วโลกมีการนำระบบ Cell Broadcast มาใช้แจ้งเตือนเหตุฉุกเฉินหรือสถานการณ์ภัยพิบัติฉุกเฉินเป็นวงกว้าง



พริษฐ์ เสนอรัฐบาล 3 ข้อ ป้องกันเกิดเหตุซ้ำรอย เหมือนคดีเยาวชน 14 ในห้างดัง
https://www.khaosod.co.th/update-news/news_7898776
 
พริษฐ์ เสนอ 3 ข้อถึงรัฐ ป้องกันเกิดเหตุซ้ำเหมือนคดีเด็ก 14 บุกยิงกลางพารากอน ทั้งเตือนภัยผ่านเอสเอ็มเอส-ครอบครองอาวุธปืน-ป้องกันพฤติกรรมเลียนแบบ
 
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 4 ต.ค.2566 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่สอง ทำหน้าที่เป็นประธานที่ประชุม ก่อนเข้าสู่วาระได้เปิดให้สมาชิกหารือปัญหาความเดือนร้อนของประชาชนในพื้นที่ 
 
โดยนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล หารือถึงปัญหาเหตุการณ์ เด็ก 14 ปีบุกยิงที่สยามพารากอน เมื่อวันที่ 3 ต.ค.ที่ผ่านมา ว่า ตนขอใช้พื้นที่สภาแห่งนี้แสดงความเสียใจต่อผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์บุกยิงที่สยามพารากอน และขอเสนอ 3 ด้านเพื่อส่งต่อไปยังหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีกในอนาคต
 
1. ระบบแจ้งเตือนภัย ที่ในพื้นที่ไม่ได้รับการแจ้งเตือนผ่านเอสเอ็มเอสจากหน่วยงานรัฐ ต้องอาศัยการแจ้งเตือนภัยจากเอกชนหรือค้นหาข้อมูลกันเองในสื่อโซเชียล จึงขอหารือไปถึงกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งรัดแผนการพัฒนาระบบแจ้งเตือนเตือนภัยแบบ Cell Broadcast ของรัฐเพื่อส่งข้อความเข้าไปยังโทรศัพท์มือถือทุกเครื่องที่อยู่บริเวณที่เกิดเหตุ
 
2. การครอบครองอาวุธปืน แม้ปืนที่ถูกใช้จะเป็นปืนดัดแปลง แต่การที่ประเทศเรามีอัตราผู้เสียชีวิตจากอาชญากรรมปืนสูงเป็นอันดับที่ 3 ของเอเชีย ก็เป็นสัญญาณว่าเราจำเป็นต้องมาทบทวนเรื่องการครอบครองอาวุธทั้งระบบ จึงขอหารือผ่านไปยังกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้หาแนวทางปรับปรุงทั้งกฎหมายขออนุญาตปืนทั้งระบบให้ครอบครองประเภทมากขึ้น และปิดช่องทางการค้าขายปืนนอกระบบให้มีความรัดกุมมากขึ้น
 
3. ข้อมูลผู้ก่อเหตุและการป้องกันพฤติกรรมเลียนแบบ ซึ่งนับตั้งแต่เกิดเหตุเราจะเห็นการเผยแพร่และใบหน้าของผู้ก่อเหตุอย่างกว้างขวาง
 
แม้ผู้เชี่ยวชาญและงานวิจัยจะชี้ชัดว่า การประโคมข่าวในลักษณะดังกล่าว อาจจะสุ่มเสี่ยงให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ จึงขอหารือไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้สร้างความเข้าใจกับสังคมให้งดแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ก่อเหตุเพื่อส่งสัญญาณไปทั่วประเทศว่าการกระทำอำมหิตต่อเพื่อนมนุษย์เช่นนี้ จะไม่มีวันทำให้เขาได้แสงหรือความสนใจจากใครสักคนแม้แต่นิดเดียว” นายพริษฐ์ กล่าว


 
ปดิพัทธ์ เมินวิปรัฐบาล ยื่นตีความปมถูกขับออก มั่นใจ15 ตค.ชัดเจนสังกัดพรรคไหน
https://www.khaosod.co.th/update-news/news_7899017

ปดิพัทธ์ ตอบปมวิปรัฐบาล จ่อชงองค์กรอิสระตีความปมถูกขับออก เชื่อฝ่ายนิติบัญญัติแก้ปัญหาเองได้ คาดหาบ้านใหม่ได้ภายใน  15 ต.ค. เผย ‘สุพิศาล-อมรัตน์’ แจ้งลาออกจากคณะทำงานแล้ว เหตุมีตําแหน่งบริหารในก้าวไกล
 
เมื่อเวลา 09.45 น. วันที่ 4 ต.ค.2566 ที่รัฐสภา นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ให้สัมภาษณ์ถึงการหาสังกัดพรรคใหม่ หลังพรรคก้าวไกล (ก.ก.) มีมติขับออกว่า อยู่ในช่วงเริ่มพูดคุย เพราะการจะไปอยู่พรรคไหนต้องเห็นด้วยกับนโยบาย และอุดมการณ์ของพรรค ซึ่งตนอยากทําประโยชน์ให้กับพรรคใหม่ ฉะนั้น ไม่ใช่กระบวนการที่จะคุยกันสั้นๆ แต่ต้องทยอยคุย 
 
ผู้สื่อข่าวถามว่าพรรคเป็นธรรม (ปธ.) อยู่ในใจหรือไม่ นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า มีพรรคให้เลือกเยอะ ตอนนี้มีพรรคร่วมฝ่ายค้าน 2 พรรค และพรรคนอกสภาที่กําลังพิจารณาข้อเสนออยู่ แต่ตนขอยํ้าว่าพรรคฝั่งรัฐบาลไม่ต้องติดต่อมาเพราะเสียเวลา ทั้งนี้ ตนมีเวลา 30 วัน คือภายในวันที่ 28 ต.ค. แต่ถ้าการพูดคุยเป็นไปได้ด้วยดี คาดว่าภายในวันที่ 15 ต.ค. จะมีความชัดเจน
 
เมื่อถามว่าหลังถูกขับออกจากพรรคก้าวไกล คณะทำงานที่ตั้งขึ้นมาจะต้องมีการทําอย่างไร นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า คนที่มีตำแหน่งบริหารในพรรคก้าวไกลอย่าง พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ รองหัวหน้าพรรค ได้ยื่นลาออกจากคณะทํางานแล้ว ส่วนนางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล แจ้งลาออกด้วยวาจา จะกลับมาเซ็นเอกสารหลังกลับจากต่างประเทศ
 
นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า หากใครที่มีตำแหน่งอย่างเป็นทางการในพรรคก้าวไกลจะต้องลาออกทั้งหมด แต่ถ้าใครมีแค่ความสัมพันธ์กับพรรค ก็ไม่ต้องลาออก เพราะกฎหมายไม่ได้ห้ามไว้ แต่ในความเหมาะสมคงต้องมีการพูดคุยกัน เพราะการอยู่ในทีมทำงานของตน อาจมีทั้งคนภายนอก และคนจากหลายพรรค จึงต้องทำทุกอย่างให้โปร่งใส โดยจะมีการเปิดเผยหลังจากนี้ ขอเวลาเคลียร์
 
เมื่อถามถึงวิปรัฐบาล มีมติเตรียมยื่นการถูกขับออกของนายปดิพัทธ์ ให้องค์กรอิสระวินิจฉัย จะถือเป็นการแทรกแซงกระบวนการนิติบัญญัติหรือไม่ นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า หากย้อนดูคำแถลงของตนที่เคยประกาศไว้ว่า เราจำเป็นต้องฟื้นฟูองค์กรนิติบัญญัติให้ไม่อยู่ภายใต้อาณัติของรัฐบาล และตุลาการ 3 อำนาจอธิปไตยต้องถ่วงดุลกัน มีอิสระ และความรับผิดชอบต่อกัน ตนจึงคิดว่าสามารถจัดการเรื่องภายในองค์กรนิติบัญญัติได้
 
หากเราต้องพึ่งพาองค์กรที่เต็มไปด้วยคำถามถึงความเป็นกลางทางการเมือง โดยเฉพาะองค์กรที่สืบทอดอำนาจจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะเป็นประเด็นที่สังคมต้องถามถึงบทบาทต่างๆ ของฝ่ายการเมือง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่