วิภู กุตะนันท์ พบคำตอบ ‘คนไทยมาจากไหน’ บนเกลียวดีเอ็นเอ

https://themomentum.co/theframe-wibhu-kutanan/
-รศ.ดร.วิภู กุตะนันท์ เป็นนักชีววิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุศาสตร์เชิงมานุษยวิทยา เขียนรายงานในหัวข้อ Reconstructing the Human Genetic History of Mainland Southeast Asia: Insights from Genome-Wide Data from Thailand and Laos ตีพิมพ์ในวารสาร Molecular Biology and Evolution ฉบับเดือนสิงหาคม 2021 
-นี่คืองานวิจัยชิ้นแรกที่บ่งบอกรายละเอียดโครงสร้างพันธุกรรมของคนไทยในแต่ละภูมิภาคว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร แสดงให้เห็นความหลากหลายของดีเอ็นเอของผู้คนในประเทศไทย งานวิจัยชิ้นนี้เป็นการหาคำตอบว่า ‘คนไทยคือใคร’ ผ่านการตรวจดีเอ็นเอที่สมบูรณ์ที่สุด 
-หากผลการศึกษาในครั้งนี้ถูกบรรจุในหลักสูตรการศึกษา นักวิจัยหนุ่มผู้นี้คาดหวังว่าผลการศึกษานี้จะช่วยสร้างความเข้าใจที่มาของคนไทยและกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่มีความหลากหลาย ทำลายมายาคติที่เป็นพิษ และเคารพข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์โดยไม่มีอคติทางการเมือง

หน้าปกวารสาร Molecular Biology and Evolution ฉบับเดือนสิงหาคม 2021 มีฉากหลังเป็นภาพอาณาจักรสุโขทัย ซ้อนด้วยเส้นคู่บิดเป็นเกลียวของดีเอ็นเอ แสงฉายฉานออกมาจากจุดศูนย์กลางของภาพ ผู้ออกแบบปกวารสารทางวิทยาศาสตร์ซึ่งตีพิมพ์โดย Oxford University Press บอกว่า “มันแสดงถึงความหลากหลายของดีเอ็นเอของกลุ่มคนในประเทศไทยครับ”
วิภู กุตะนันท์ ไม่ใช่นักออกแบบ และมักถ่อมตัวเสมอหากต้องตอบคำถามเชิงสุนทรียศาสตร์ “คำถามมัน Abstract เกินไปสำหรับผม” คือถ้อยถ่อมตนของนักชีววิทยาแห่งมหาวิทยาลัยขอนแก่น
เขาเป็นนักวิจัยด้านพันธุศาสตร์เชิงมานุษยวิทยา ผู้เขียนเปเปอร์ชิ้นสำคัญดังกล่าว นอกจากจะเป็นเจ้าของผลงานชิ้นนี้แล้ว เขายังได้รับเกียรติจากวารสาร Molecular Biology and Evolution ให้เป็นผู้ออกแบบภาพปกวารสารฉบับที่ตีพิมพ์งานวิจัยที่หาคำตอบว่า ‘คนไทยคือใคร’ ผ่านการตรวจดีเอ็นเอที่สมบูรณ์ที่สุด 
นี่คืองานวิชาการระดับโลกที่ควรบรรจุลงในแบบเรียนภาษาไทยเพื่อป้องกันมลภาวะทางทัศนคติและอคติทางวิชาการ 
นี่คืองานชิ้นสำคัญของประวัติศาสตร์ไทยและสำคัญกับประวัติศาสตร์ส่วนตัวของผู้ทำการศึกษา เพราะ “ตอนเป็นเด็ก ปู่มักบอกเสมอว่า ปู่เป็นคนไทย” รศ.ดร.วิภู กล่าวถึงปู่ผู้ล่วงลับ ก่อนจะบอกว่า “แต่ผมไม่เชื่อปู่”
“คุณได้คำตอบรึยังว่าเป็นใครมาจากไหน ประวัติครอบครัวที่ปู่เล่าเชื่อถือได้มั้ย” เราถามหลังจากที่วิภูพบคำตอบแล้ว มันปรากฏบนเกลียวดีเอ็นเอที่เขาศึกษา
“ชัดเจนแล้วครับ” เขามั่นใจในผลการศึกษาระดับชาติที่ทับซ้อนกับความปรารถนาส่วนตัว เขาอยากรู้ที่มาของตนเอง 
“เวลาทำแล็บ ผมใช้ดีเอ็นเอของตัวเองเป็นคอนโทรล ผมมีดีเอ็นเอของตัวเองครบทุกชนิด ผมบอกพ่อกับแม่ไว้ว่า ผมได้ทำและเก็บดีเอ็นเอของตัวเองไว้ในคอมพิวเตอร์ ถ้าผมตายแล้วไม่สามารถระบุอัตลักษณ์ศพได้ ให้บอกตำรวจว่ามีหลักฐานที่จะเปรียบเทียบได้ว่าศพที่พบคือลูกของฉันหรือเปล่า” 

 -แรงผลักดันที่ทำให้คุณกลายเป็นเนิร์ดด้านดีเอ็นเอ และลงลึกศึกษาดีเอ็นเอของทั้งคนปัจจุบันและดีเอ็นเอโบราณของคนในพื้นที่ประเทศไทย คืออะไร
เป็นคำถามหนึ่งที่เกิดขึ้นกับผมในวัยเด็ก ผมคือใคร? 
แต่เหตุทั้งหมดน่าจะเกิดจากปู่นั่นแหละ ในตอนที่ผมยังเด็ก ปู่มักจะบอกเสมอว่าปู่เป็นคนไทย เป็นไทยพิจิตร แต่ผมไม่เชื่อ การทำงานวิจัยเพื่อหาคำตอบว่า คนไทยคือใคร จึงมีที่มาจากประวัติของครอบครัว ความสนใจประวัติศาสตร์และโบราณคดี รวมถึงคำถามเกี่ยวกับที่มาของตัวเอง

-ทำไมไม่เชื่อเรื่องเล่าของปู่
ในครอบครัวของผมมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ยายของผมเป็นคนเมืองน่าน ยายพูดภาษาหนึ่ง ย่าพูดภาษาหนึ่ง อาสะใภ้เป็นลาวโซ้ง พูดอีกแบบหนึ่ง รูปร่างของอาสะใภ้แตกต่างจากคนพิจิตร คนพิจิตรผิวคล้ำ ลาวโซ้งผิวขาว ภาษาพูดไม่เหมือนกัน ผมไม่เชื่อปู่ตั้งแต่ตอนนั้น ผู้คนในครอบครัวของผมมีความไม่ไทยอยู่สูง แต่ปู่บอกว่าปู่เป็นคนไทย
หลายสิบปีต่อมา หลังจากที่ผมหาคำตอบด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ผมก็คิดถึงและอยากจะบอกปู่เหมือนกันนะ แต่ปู่เสียไปแล้ว (ยิ้ม) 
ถ้าปู่ของคุณยังมีชีวิต จะบอกเขาว่าอะไรผมอยากจะบอกปู่ว่า ผลการศึกษาด้วยวิธีการทางดีเอ็นเอที่ผมได้ทำอย่างละเอียดและสมบูรณ์ มันบอกว่าจริงๆ แล้วเราไม่ใช่คนไทยนะ ปู่เป็นคนมอญนะ (หัวเราะ) 

-คุณเติบโตมาจากครอบครัวแบบไหน
ผมโตมาในครอบครัวชาวมอญเมืองพิจิตร ย่าเป็นคนมอญ นามสกุลอินตะมะ แต่ปู่บอกว่าปู่เป็นคนไทย ผมคิดว่าปู่น่าจะเป็นคนมอญ แต่ปู่ไม่ยอมรับ ปู่เคลมว่าปู่เป็นคนไทย ปู่เป็นครูในยุคที่โรงเรียนวัดยังเป็นแหล่งความรู้สำคัญของระบบการศึกษาไทย ปู่พูดคำควบกล้ำชัดมาก เช่นคำว่าน้ำปลา เขาจะคอยติงให้เราออกเสียง ล.ลิง ให้ชัดเจน ด้วยความเป็นครูด้วย ปู่จึงปลูกฝังให้เด็กๆ รักประเทศไทย “เราเป็นคนไทยนะ” ปู่พูดแบบนี้อยู่เสมอ 
ส่วนครอบครัวฝั่งแม่ ตาเป็นชาวพวนอพยพเข้ามาเมื่อ 2-3 เจเนอเรชันก่อน ตาพูดภาษาพวน ยายเป็นสาวเหนือเมืองน่าน เวลาที่ยายเจอกับย่า คนหนึ่งไม่สามารถพูดเหนือได้ อีกคนพูดไทยกลางไม่ได้ ยายมีความเป็นคนเมืองมาก ไม่สามารถเข้าใจภาษาไทยกลางได้เลย ผมคิดว่าความเป็นมาของตัวผมและความเป็นมาของครอบครัว น่าจะเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้ผมชอบประวัติศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เมื่อก่อนไม่ได้อินขนาดนี้ ผมเป็นเด็กคนหนึ่งที่มีความสนใจในวิชาประวัติศาสตร์และวิชาสังคม แต่เนื่องจากกระแสสังคมในตอนนั้นมองว่าการเรียนสายวิทย์จะสร้างความมั่นคงให้ชีวิต มีการงานที่มั่นคงกว่าการเรียนสายศิลป์ เพื่อนๆ ก็เรียนสายวิทย์กันแทบทั้งนั้น ผมก็เรียนสายวิทย์มาตลอด
เนื่องจากผมได้ทุน พสวท. ซึ่งเป็นทุนให้คนที่อยากเรียนวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ปริญญาตรีไปจนถึงปริญญาเอก ผมก็มุ่งมาทางวิทยาศาสตร์โดยตลอด จนมีโอกาสได้มาเจออาจารย์หลายๆ ท่าน อาจารย์ที่จุดประกายผมชื่ออาจารย์ดาวรุ่ง กังวานพงศ์ เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่สนใจงานด้านสังคมศาสตร์ ผมทำโปรเจ็กต์ตอนปริญญาตรีกับอาจารย์ดาวรุ่ง ซึ่งก็ทำให้ผมได้พบกับอาจารย์รัศมี ชูทรงเดช (นักโบราณคดีหญิงคนสำคัญของโลก) และอาจารย์สุภาพร นาคบัลลังก์ ซึ่งปัจจุบันอาจารย์สุภาพรได้เสียชีวิตไปแล้ว ท่านเป็นนักมานุษวิทยากายภาพ ท่านให้โอกาสผมในการติดตามไปด้วย ตอนนั้นอาจารย์สุภาพรทำงานร่วมกับอาจารย์รัศมีในการขุดค้นหลักฐานทางโบราณคดีที่ลำปาง และที่แหล่งโบราณคดีในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน
โปรเจ็กต์ที่ทำตอนเรียนปริญญาตรี ผมสืบสาวด้วยวิธีการทางพันธุศาสตร์เพื่อหาคำตอบว่าลัวะเมืองน่านมีจริงหรือไม่ จากนั้นผมก็มุ่งมาทางพันธุศาสตร์เชิงมานุษยวิทยา หลังจากจบปริญญาเอก ผมได้งานที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นอาจารย์ได้สักพักก็ได้รับทุนไป Postdoctoral Appointment (นักวิจัยหลังปริญญาเอก) ที่เยอรมนี ซึ่งเป็นสถาบันอันดับ 1 ด้านมานุษยวิทยาพันธุศาสตร์ ชื่อว่าสถาบันวิจัยแมกซ์พลังก์ (Max Planck Institute for Evolutionary Anthropology) เขาให้อิสระในการทำงานวิจัย ตัวเราเองก็มีอีกหลายอย่างที่อยากรู้ ผมเริ่มทำงานวิจัยที่ภาคอีสาน ตอบคำถามเล็กๆ ที่เราอยากรู้ว่า ดีเอ็นเอของคนภาคอีสานมีความสัมพันธ์กันอย่างไร ลักษณะของคนในแอ่งที่ราบสกลนครกับแอ่งโคราช หรืออีสานเหนือกับใต้ ดีเอ็นเอของพวกเขาแตกต่างกันอย่างไร รวมถึงดีเอ็นเอของคนอีสานในหลายกลุ่ม ภูไท ญ้อ แสก กะเลิง ซึ่งมีประวัติศาสตร์การอพยพมาจากเวียดนาม ผมอยากรู้ว่าพวกเขายังมีดีเอ็นเอที่เหมือนกับคนไทยในเวียดนามมั้ย หรือหลังจากอพยพมา 200 ปี เขาได้ผสมผสานกับคนเขมรหรือมอญแถบนี้มากน้อยแค่ไหน
จบโปรเจ็กต์ภาคอีสาน ผมก็มาต่อที่ภาคกลาง ก็ได้กลับมาทำวิจัยที่บ้านเกิดตามความต้องการที่มีมานาน ผมไม่ลังเลที่จะไปหาผู้ใหญ่บ้าน เขายินดีช่วยเหลือ เราก็มีโอกาสได้กลับไปทำประโยชน์ให้ชุมชน แต่ชุมชนก็อาจจะไม่เข้าใจมากนักในเรื่องที่เราทำ เพราะพอผมบอกว่าดีเอ็นเอของพวกเราเป็นมอญนะ เขาก็หัวเราะเลย “มันมาจากไหนน้อ” เขาคิดว่าเขาเป็นคนพิจิตร เป็นคนไทยมาตลอด เขาคิดว่าพิจิตรคือไทย ก็เป็นความสนุกในการทำงาน 

-คำถามที่ว่า ‘เราคือใคร’ หรือ ‘คนไทยคือใคร’ มันก่อตัวขึ้นมาตอนไหน
ผมไม่ค่อยจะคล้อยตามในสิ่งที่เขาบอกมาตั้งแต่เด็ก ในครอบครัวของผมมีความหลากหลาย ซึ่งขัดแย้งกับคำบอกเล่าของปู่ ผมคิดว่าคำถามนี้มันก่อตัวตั้งแต่เรียนมัธยม แต่ด้วยสังคมโรงเรียนตอนนั้นไม่ได้มีใครที่จะมาให้ความสนใจในเรื่องเหล่านี้ ผมเรียนมัธยมปลายในช่วงปี พ.ศ. 2540-2542 เด็กยุคนั้นไม่ได้เข้าถึงแหล่งหาข้อมูลหรืออินเทอร์เน็ตได้ง่ายอย่างสมัยนี้ ห้องสมุดก็เป็นห้องสมุดประจำจังหวัดหรือห้องสมุด กศน. ซึ่งไม่ได้มีหนังสือเยอะ ผมเริ่มสนใจเรื่องนี้ตั้งแต่เรียนมัธยม แต่ไม่ได้มีอะไรมาสนับสนุนให้เราไปไกลได้มากกว่านั้น ความสนใจก็หยุดแค่นั้น จนกระทั่งสามารถที่จะหาวิธีตอบคำถามของตัวเองในวัยเด็ก ซึ่งมันเกิดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี่เอง ในช่วงที่ผมอายุ 30 ปีเป็นต้นมา ความรู้สึกของผมเข้มข้นมากกับการหาคำตอบ ก็พยายามที่จะหาคำตอบด้วยวิทยาศาสตร์ที่ตัวเองมีมากขึ้น เพื่อตอบคำถามที่มาของตัวเอง 
ผมได้ทำวิจัยมาระดับหนึ่ง คิดว่าตัวเองมีพื้นฐานเพียงพอที่จะตอบคำถามนี้ได้ด้วยหลักวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือ ที่ผ่านมาเรามีข้อจำกัดเรื่องเครื่องมือ ข้อจำกัดของความรู้ที่ทำให้ไม่สามารถตอบคำถามได้อย่างเต็มปากเต็มคำนักว่า จริงๆ แล้วคนไทยคือใคร เมื่อเทคโนโลยีมีประสิทธิภาพมากขึ้น ประสบการณ์ของผมเพิ่มมากขึ้นจากการได้ไปทำงานต่างประเทศ จนเกิดความมั่นใจว่าผมสามารถหาคำตอบนี้ได้ เป็นคำตอบที่ไม่สามารถคัดค้านได้นอกจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชุดใหม่ที่จะมาหักล้าง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่