ทวาราวดีเป็นมอญ รวมทั้งเมืองศรีเทพมีจารึกอักษรมอญ แสดงว่ามอญผสมกับเผ่าไทจนเป็นไทยในปัจจุบันใช่ไหม

ดีเอ็นเอคนภาคกลางระบุชัดว่าเป็นมอญ
ภาคเหนือเป็นไท-กะได
อีสานเดีเอ็นเอป็นไทในผู้หญิง  ผู้ชายเป็นตระกูลมอญเขมร
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 7
... แหล่งอารยธรรมทวารวดีอาจประกอบด้วยกลุ่มคนหลากหลายชาติพันธุ์ครับ แต่แน่นอนว่าส่วนใหญ่เป็นชาวออสโตรเอเชียติก(Austroasiatic) สืบเนื่องจากลักษณะทางพันธุกรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ออสโตรเอเชียติกอย่างเขมร, มอญ, ขมุ, กะตู ฯลฯ รวมไปถึงชาวไทยในปัจจุบัน มีความใกล้เคียงกับกลุ่มประชากรยุคก่อนประวัติศาสตร์บนคาบสมุทรอินโดจีน ยกตัวอย่างเช่น ชาวหมันบัก(Mán Bạc) ที่จังหวัดนินห์บินห์ ประเทศเวียดนาม ช่วงระหว่าง 1,850–1,650 ปีก่อนคริสตกาล, ชาวบ้านเชียง ที่อ.หนองหาน จ.อุดรธานี เมื่อราว 1,500 ปีก่อนค.ศ., ชาววัดขุมโน(Vat Komnou) จ.ตาแก้ว ประเทศกัมพูชา ช่วง 200 ปีก่อนค.ศ. – ค.ศ. 400, และชาวโนนนกทา ที่อ.หนองนาคำ จ.ขอนแก่น ระหว่าง 1420-50 ก่อนค.ศ. เป็นต้น

และการใช้ภาษามอญในอารยธรรมทวารวดีนั้นมีบทบาทสำคัญมากกว่าภาษาอื่นๆ เพราะเริ่มมีการปรากฏจารึกภาษามอญโบราณด้วยอักษรปัลลวะในบริเวณภาคกลางจนถึงภาคใต้ของประเทศไทย ตั้งแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 6-7 (พุทธศตวรรษที่ 12) หรือต้นยุคสมัยของทวารวดี ยกตัวอย่างเช่น "จารึกวัดโพธิ์ร้าง" ที่อ.เมือง จ.นครปฐม, "จารึกถ้ำนารายณ์" ที่ต.เขาวง อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี, และ "จารึกวัดมหาธาตุเมืองนครศรีธรรมราช" เป็นต้น หลังจากนั้นจารึกภาษามอญโบราณด้วยอักษรหลังปัลลวะและอักษรมอญโบราณจึงปรากฏเมื่อราวๆคริสต์ศตวรรษที่ 8-9 กับ 11-12 (พุทธศตวรรษที่ 14 กับ 17) อาทิ "จารึกเสาแปดเหลี่ยม" (อักษรหลังปัลลวะ) ที่ศาลพระกาฬ จ.ลพบุรี ทำขึ้นเมื่อประมาณ ค.ศ. 771, "จารึกอาณาจักรปุนไชย" (อักษรมอญโบราณ) ที่วัดจามเทวี, และ "จารึกวัดแสนข้างห่อ" (อักษรมอญโบราณ) ที่อ.เมือง จ.ลำพูน เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 11-12 เป็นต้น

อนึ่งจากบทความเกี่ยวกับการศึกษาทางพันธุกรรมในไทยและลาวชื่อ "Reconstructing the Human Genetic History of Mainland Southeast Asia: Insights from Genome-Wide Data from Thailand and Laos" ที่เผยแพร่เมื่อปี ค.ศ. 2021 ระบุว่า คนไทยในแต่ละภูมิภาคมีลักษณะทางพันธุกรรมที่แตกต่างกัน โดยคนไทยในภาคเหนือมี DNA ใกล้เคียงกับชาวไตในมณฑลยูนนาน, ชาวปะหล่อง, ญวน, และชนพื้นเมืองไต้หวัน (เข้าใจว่าเกิดขึ้นจากการแพร่กระจายทางประชากร(Demic diffusion)ในช่วงยุค"เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง"), คนไทยในภาคอีสานมีลักษณะทางพันธุกรรมใกล้ชิดกับชาวขมุ, กะตู, ลาว, และชาวไตในมณฑลยูนนาน แสดงให้เห็นถึงการผสมทางพันธุกรรม(Admixture)ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ออสโตรเอเชียติกที่อยู่มาก่อนและกลุ่มชาติพันธุ์ไทจากตอนใต้ของจีนซึ่งเข้ามาใหม่, และคนไทยในภาคกลางกับใต้มี DNA ใกล้เคียงกับชาวมอญในประเทศเมียนมาร์ โดยมีเชื้อสายของชาวเอเชียใต้ที่เข้ามาตั้งแต่ประมาณ 600–700 ปีก่อน อยู่เล็กน้อย อีกทั้งคนใต้มี DNA ของชาวออสโตรนีเซียนปนอยู่มากกว่าของคนไทยภาคอื่นๆ

แสดงให้เห็นว่าในบริเวณภาคกลางของไทยไม่ได้มีการเคลื่อนย้ายของกลุ่มชาติพันธุ์ไทจากตอนใต้ของจีนเข้ามามากเหมือนที่เกิดขึ้นในภาคเหนือกับอีสาน แต่อาจอนุมานได้ว่าโดยทั่วไปเป็นการรับวัฒนธรรมและเปลี่ยนมาพูดภาษาไทของชาวออสโตรเอเชียติกในภาคกลางแล้วกลายมาเป็นคนไทยในที่สุดครับ ...

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่