อ.สุจินต์: "พิจารณาโดยไม่คิด มีมั้ยคะ ถ้ายังไม่มี ก็ยังไม่ใช่สติปัฏฐาน"

คลิปการสนทนาเรื่องการเจริญสติปัฏฐาานและวิปัสสนาญาณ

ประเด็นของการสนทนาในช่วงเวลาตั้งแต่นาทีที่ 48.40 เป็นเวลา 20 กว่านาที   คือผู้ถามมีความสงสัยเรื่องความแตกต่างกันของปัญญาที่เกิดในปัญจทวารวิถี คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย (5 ทาง) กับปัญญาที่เกิดในมโนทวารวิถี

ฉะนั้น ในขณะที่สติปัฏฐานเกิดขึ้นทางตากระทบสี มีสีเป็นอารมณ์ของจักขุวิญญาณ  ปัญญาที่เกิดในขณะนี้จะน้อมไประลึกรู้สีว่าเป็นรูปธรรม และระลึกรู้ธาตุรู้ สภาพที่รู้สีว่า เป็นนามธรรม   เป็นการน้อมไปพิจารณาระลึกรู้ลักษณะของรูปธรรมและนามธรรมได้แจ่มชัดตรงลักษณะว่าเป็นเพียงสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน โดยที่ยังไม่ได้นึกคิดเป็นเรื่องราว

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
 
ผู้ถาม:  อาจารย์ครับ จะขอถามเรื่องการเจริญสติหน่อยครับ คือขณะที่สีปรากฏทางจักขุทวารวิถี แล้วถ้าเกิดปัญญาจะเกิดในขณะที่เป็นชวนะในขณะนั้น  ปัญญาก็ต้องมีสีเป็นอารมณ์ใช่มั้ยครับถ้าขณะนั้นเป็นสติปัฏฐาน
 
อ.สุจินต์:  ปัญญาต้องมีรูปเป็นอารมณ์ค่ะสำหรับทางจักขุทวารวิถี  เพราะทางจักขุทวารวิถี จะมีนามเป็นอารมณ์ไม่ได้เลย
 
ผู้ถาม:  แล้วปัญญาในขณะนั้น (หมายถึงในขณะที่เป็นสติปัฏฐาน) จะรู้อะไรล่ะครับ 
 
อ.สุจินต์:  รู้รูปที่กำลังปรากฏถูกต้อง  รู้ได้มั้ยคะ
 
ผู้ถาม:  แล้วขณะที่สัมปฏิจฉันนจิตดับไป  สัมปฏิจฉันนะในขณะนั้นก็ต้องมีสีเป็นอารมณ์ แล้วชวนจิตก็ต้องมีอารมณ์เหมือนกับสัมปฏิจฉันนะจิตใช่มั้ยครับ
 
อ.สุจินต์:  ตลอดวิถีทางปัญจทวารนะคะ จะเปลี่ยนอารมณ์ไม่ได้  คือ ถ้าเป็นทางตา ตั้งแต่ปัญจทวาราวัชชนจิต จักขุวิญญาณจิต สัมปฏิจฉันนะจิต สันตีรณจิต โวฏทัพพนจิต ชวนะจิต ตทาลัมพนจิต มีรูปที่ยังไม่ดับไปเป็นอารมณ์
 
ผู้ถาม:   แล้วปัญญาในขณะนั้น (คือขณะที่เป็นสติปัฏฐาน) จะแตกต่างจากในขณะที่ไม่ใช่สติปัฏฐานอย่างไรครับ
 
อ.สุจินต์: มีหลายขั้นนะคะ คือในเวลาที่สติปัฏฐานเกิด  ไม่ได้หมายความว่าปัญจทวารวิถีจิตไม่เกิด ถูกต้องมั้ยคะ
 
ผู้ถาม: ถูกครับ
 
อ.สุจินต์:  เพราะฉะนั้น  การที่ปัญญาที่ถึงขั้นของวิปัสสนาญาณ จะต้องรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นทีละอย่าง เพราะฉะนั้น วิปัสสนาญาณ สำหรับตัววิปัสสนาญาณะนะคะ ต้องเป็นการรู้อารมณ์ทางมโนทวารวิถี แต่อารมณ์ที่ปรากฏนี่นะคะ จะปราศจากปัญจทวารวิถีไม่ได้ เพราะเหตุว่าในขณะนั้นนะคะ เสียงก็ปรากฏเป็นอารมณ์ให้วิปัสสนาญาณะรู้ว่าไม่ใช่นามธรรม เพราะเหตุว่า ถ้าเป็นวิปัสสนาญาณะแล้ว ลักษณะของนามธรรมปรากฏโดยสภาพที่เป็นนามธรรม เป็นเพียงธาตุรู้ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนเลย เป็นลักษณะของธาตุรู้แต่ละชนิด และรูปธรรมในขณะนั้นนะคะก็ต้องปรากฏเพื่อแสดงความเป็นรูปธรรมซึ่งไม่ใช่นามธรรม  วิปัสสนาญาณะจึงประจักษ์ชัดแจ่มแจ้งในลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรม เพราะฉะนั้น ก็ต้องมีปัญจทวารวิถีด้วย มิฉะนั้น รูปธรรมก็ปราฏไม่ได้  แต่หลังจากที่ปัญจทวารวิถีดับไปแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่น มโนทวารวิถีจิตเกิด รู้รูปธรรมนั้นเองค่ะต่อจากปัญจทวารวิถี  เพราะฉะนั้น มโนทวารวิถีสามารถรู้อารมณ์ได้ทุกอย่างทั้งนามธรรมและรูปธรรม  แต่ในขณะนั้น ก็ไม่สามารถที่จะปราศจากปัญจทวารวิถีด้วย  ปัญญาที่เกิดทางปัญจทวารวิถีก็มี ไม่ใช่ว่าไม่มี  มิฉะนั้นแล้ว ขณะนั้นก็ต้องขาดตอนของปัญญา ใช่มั้ยคะ
 
ผู้ถาม:  ใช่ครับ  แล้ว...เอ่อ..ปัญญาในขณะนั้นน่ะครับ อาจารย์  สมมุติว่ารู้สี
 
อ.สุจินต์:  ก็มีสีเป็นอารมณ์ค่ะ  ลักษณะของสีในขณะนั้น ถ้าเป็นวิปัสสนาญาณะ ก็ไม่ปรากฏว่าเป็นวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดหรือไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคล
 
ผู้ถาม:  แล้วถ้าไม่ใช่วิปัสสนาญาณะ  แต่สมมุติว่าเป็นระดับที่ต่ำกว่าล่ะครับ  
 
อ.สุจินต์:  ถ้าไม่ใช่วิปัสสนาญาณะ  ก็สามารถที่จะพิจารณารู้ว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ  หมายความว่า “รู้สี” นั้นเองค่ะ  ไม่ใช่รู้อย่างอื่น  
เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังเนี่ยนะคะ คงจะสงสัยเรื่องของการแยกขาดของปัญจทวารวิถีและมโนทวารวิถี ใช่มั้ยคะ  เพราะเหตุว่า ปัญจทวารวิถี ไม่ใช่มโนทวารวิถี แล้วก็มีภวังคจิตคั่น เพราะฉะนั้น จึงสงสัยในความต่างกันแม้ของชวนะจิตที่ประกอบด้วยปัญญาเช่นมหากุศลญาณสัมประยุทธ์ในขั้นของมหาสติปัฏฐานว่าจะเกิดได้มั้ยในทางปัญจทวารวิถี ใช่มั้ยคะ
 
ผู้ถาม:  ผมเข้าใจว่าเกิดได้ครับ  แต่ว่าสงสัยว่า ถ้าเกิดแล้วเนี่ย...
 
อ.สุจินต์:  ก็มีสีเป็นอารมณ์อย่างรวดเร็วที่สุดสั้นที่สุดเล็กน้อยที่สุด
 
ผู้ถาม:  แล้วสมมุติว่าถ้าปัญญาเกิดในขณะที่เป็นจักขุทวารวิถี  จะรู้เรื่องมั้ยว่าในขณะนั้นเป็นแต่เพียงสี
 
อ.สุจินต์:  ในขณะนั้น ก็มีสีเป็นอารมณ์ค่ะ  ในขณะที่มีสีเป็นอารมณ์แล้วรู้ว่าเป็นเพียงสภาพที่ปรากฏ  เพราะทางจักขุทวารเอง ไม่สามารถจะเห็นเป็นสัตว์เป็นบุคคลเป็นตัวตนอะไรได้เลย  ปกติก็เป็นอย่างนั้น
 
ผู้ถาม: ถ้าอย่างนั้น ก็ไม่ต่างจากขณะที่ปัญญาไม่เกิด
 
อ.สุจินต์:  แต่ต่างเพราะขณะที่ปัญญาไม่เกิดแล้ว โลภะเกิด โมหะเกิด....  แล้วดิฉันได้เรียนให้ทราบแล้วไงคะว่า แม้ในขณะที่เป็นวิปัสสนาญาณะอย่างนามรูปปริจเฉทญาณ  ไม่ใช่เพียงลักษณะของนามธรรมเท่านั้นที่ปรากฏ  รูปธรรมก็ต้องปรากฏ  เพราะฉะนั้น จะปราศจากปัญจทวารได้มั้ยคะ
 
ผู้ถาม:  แล้วอย่างตอนที่ไม่ถึงขั้นเป็นมหากุศลญาณสัมประยุทธ์ล่ะครับ
 
อ.สุจินต์:  ยังไม่ถึงนะคะ  สติไม่เกิด  อะไรเกิดล่ะคะ  ก็ต้องเป็นโลภะ โมหะ ที่เกิด  แต่ไม่รู้ลักษณะของโลภะ โมหะ ในขณะที่เห็นเกิดขึ้น  บางคนก็เข้าใจว่าไม่เป็นโลภะเลย เพราะไม่ปรากฏอาการที่พอใจเพราะความไม่รู้    แต่ในเวลาที่สติเกิดนี่ ต่างกันใช่มั้ยคะ  กำลังพิจารณาลักษณะสภาพของรูปที่ปรากฏ  เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นน่ะค่ะ  ต้องไม่ใช่โลภะโมหะ
 
ผู้ถาม:  แต่ในขณะนั้น กำลังคิดไม่ใช่เหรอครับในขณะที่กำลังพิจารณานั่นน่ะครับ
 
อ.สุจินต์:  พิจารณาโดยไม่คิด มีมั้ยคะ  ถ้ายังไม่มี  ก็ยังไม่ใช่สติปัฏฐาน
 
ผู้ถาม:  พิจารณายังไงครับ  พิจารณาโดยไม่คิด
 
อ.สุจินต์:  น้อมไปที่จะรู้ค่ะ  เพราะฉะนั้น ก่อนจะถึงขั้นสติปัฏฐานนะคะ  มีปัญญาขั้นฟัง มีปัญญาขั้นตรึกเรื่องที่ได้ยินได้ฟัง แต่ว่าจะรู้ความต่างกันว่าขณะใดที่สติระลึกรู้ตรงลักษณะ ไม่ได้หมายความว่า คิดเกิดขึ้นทุกครั้ง เพราะเหตุว่า จิตที่คิดก็ดับ  ใครจะคิดได้ตลอดเวลาคะที่จะเป็นคำนี่น่ะค่ะ  ไม่ได้คิดเป็นคำเป็นเรื่องตลอดเวลา   ลองกระทบสัมผัสสิ่งหนึ่งสิ่งใดในขณะนี้สิคะ  ดูซิว่ามีการคิดเป็นคำหรือเปล่าในขณะที่ลักณะแข็งกำลังปรากฏ  ยังไม่ได้คิดเป็นคำว่า “แข็ง”  ยังไม่ได้คิดเป็นคำว่า “แข็งเป็นรูป”  ยังไม่ได้คิดว่า ที่รู้ว่าแข็ง ธาตุที่รู้ว่าแข็งนั้นเป็นนาม  ไม่ต้องคิด  แต่นามธรรมกำลังรู้แข็ง  เป็นธาตุรู้  แข็งกำลังเป็นสภาพธรรมที่ปรากฏ  เมื่อเป็นเพียงลักษณะแข็ง  ไม่ใช่โต๊ะ ไม่ใช่เก้าอี้ ไม่ใช่อะไรทั้งสิ้น  เป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งมีลักษณะแข็ง  นั่นเป็นของจริงที่กำลังปรากฏในขณะนั้น  ธาตุรู้กำลังรู้แข็งโดยไม่ต้องคิดเป็นคำ  เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานคือ น้อมไปที่จะรู้ในลักษณะที่รู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้  และบางครั้ง สติปัฏฐานก็น้อมไปที่จะไม่ยึดถือแข็งว่าเป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ หรือเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด จนกว่าจะรู้ว่าเป็นเพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง  ไม่ว่าจะกระทบแข็งที่นี่นะคะ  หรือว่าจะไปกระทบหญ้าที่พระวิหารเชตวัน  ไม่ว่าจะกระทบที่ไหน  ลักษณะที่ปรากฏทางกาย ก็แข็ง เป็นเพียงธาตุแข็งเท่านั้น  ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน  ไม่ใช่สัตว์บุคคล ไม่ใช่วัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใด   แต่การยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนเป็นสัตว์บุคคลนี่นะคะ มีมาแสนโกฏิกัปป์ ก็ยังน้อยไป  เพราะฉะนั้น เวลาที่สติเกิดระลึกรู้ที่ลักษณะที่แข็งนี่น่ะค่ะ  อย่าลืมนะคะว่าความเป็นตัวตนที่เคยสะสมมาเนิ่นนานมากกว่าแสนโกฏิกัปป์ ทำให้รู้สึกเหมือนว่าเรากำลังนั่งแล้วก็กระทบแข็ง  ความเป็นเรานี่ ไม่ได้ออก  ยังมีความรู้สึกว่าเป็นตัวตนที่กำลังนั่งอยู่ก็ตามแล้วกำลังกระทบแข็งด้วย   เพราะฉะนั้น การที่จะละคลายยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนนะคะ  ก็คือในขณะที่กำลังกระทบแข็งแล้วความทรงจำในความเป็นตัวตนที่จะนั่งอยู่ หรือยืนอยู่ หรือเดินอยู่ แล้วก็กระทบลักษณะที่แข็งต้องหมดสิ้น เหลือเพียงอาการแข็งแล้วธาตุที่กำลังรู้แข็งในขณะนั้นเท่านั้น  ชั่วขณะนั้น จึงไม่ใช่ตัวตนหรือสัตว์บุคคลหรือเราอีกต่อไป เพราะเหตุว่าในขณะนั้นเองมีเพียงสภาพที่กำลังรู้สิ่งเดียว คือ “แข็ง”  ไม่ใช่ไปจำเอาไว้หมดนะคะว่าที่แท้ก็เป็นเราซึ่งกำลังยืนอยู่หรือนั่งอยู่หรือเดินอยู่แล้วรู้แข็ง  ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วล่ะก็  ไม่สามารถที่จะละคลายความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้  แต่ทุกท่านที่เริ่มเจริญสติปัฏฐานนี่นะคะ จะมีความรู้สึกว่าตัวตนยังไม่หมด แม้ว่าแข็งปรากฏ ถูกมั้ยคะ....เทปขาดช่วง.......  ยังคงมีความเป็นเราที่กำลังนั่งกระทบแข็ง  แต่ความเป็นเราที่กำลังนั่งกระทบแข็งต้องหมด  สภาพธรรมจึงจะปรากฏว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
 
เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังกระทบแข็ง ไม่ได้นึกใช่มั้ยคะ  ไม่ต้องนึก   เพราะฉะนั้น เวลาที่ใช้คำว่า “คิด” นี่ค่ะ  หมายความถึง นึกถึงเรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏ  แต่ตามความเป็นจริง ขณะที่กระทบแข็ง ไม่ได้นึกถึงคำอะไรเลย  เพราะฉะนั้น ปัญญาและสติ ก็คือน้อมไปที่จะรู้  ไม่ได้หมายความว่า ให้คิดว่าแข็งเป็นรูป  นี่ต่างกันนะคะ  ไม่ใช่ให้คิดว่า แข็งเป็นรูป  แต่ในขณะที่แข็งปรากฏ  ให้น้อมไปที่จะศึกษาในขณะนั้นเพื่อรู้ว่าลักษณะที่รู้ เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ ซึ่งกำลังรู้แข็งที่กำลังปรากฏ  ไม่ใช่คิด ใช่มั้ยคะ  ทั้งหมดนี่คือ อนันตรปัจจัย และสมนันตรปัจจัยทั้งนั้น 
 
ผู้ถาม:  คิดก็เป็นการรู้อารมณ์นี่ครับ
 
อ.สุจินต์:  คิดเป็นการรู้อารมณ์ทางทวารไหน
 
ผู้ถาม: มโนทวาร  
 
อ.สุจินต์:  แต่นี่กำลังรู้แข็งทางปัญจทวาร
 
ผู้ถาม:  คือว่า พอกระทบแข็งปั๊บ ก็รู้สึก เอ่อ.... คือ เอ่อ มันเป็นหลังจาก.....
 
อ.สุจินต์:  แข็งกำลังปรากฏค่ะ  เวลานี้ แข็งก็ปรากฏตามปกติ
 
ผู้ถาม:  แล้วที่อาจารย์บอกว่าน้อมไป ขณะนั้น หมายความว่าแข็งหมดไปแล้วใช่มั้ยครับ
 
อ.สุจินต์:  กำลังปรากฏค่ะ  รู้ตรงแข็ง ไม่ใช่ให้ไปนึกถึงอย่างอื่น   ถ้านึก ในขณะนั้นก็ไม่ได้รู้ตรงแข็งสิคะ  แต่นี่แข็งกำลังปรากฏ  รู้ตรงแข็ง  น้อมไปที่แข็ง   ลักษณะแข็งกำลังปรากฏ  ไม่ต้องใช้ชื่อ
 
ผู้ถาม:  ถ้าอย่างนั้น ก็ไม่ต่างจากขณะที่หลงลืมสติสิครับ
 
อ.สุจินต์:  ต้องต่างจากขณะที่หลงลืมสติแน่นอนค่ะ  แล้วก็ต้องต่างจากขณะที่คิดเป็นคำ
 
ผู้ถาม:  แล้วขณะนั้น ปัญญาจะเจริญเหรอครับ
 
อ.สุจินต์:  ถ้าปัญญาไม่เกิดในขณะนั้นแล้ว ปัญญาจะรู้อะไรขณะไหนคะ
 
ผู้ถาม:  ก็รู้ในขณะนั้นไงครับ
 
อ.สุจินต์:  แน่นอนค่ะ  เพราะฉะนั้น ในขณะที่กระทบแข็งนะคะ  ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาแล้ว  ไม่ต้องพิจารณายาวนานเลยว่าลักษณะนี้เป็นธาตุรู้หรือว่าลักษณะอีกอย่างหนึ่งเป็นรูปธรรมที่ไม่ใช่สภาพรู้ เพราะเหตุว่าบุคคลนั้นน่ะค่ะอบรมเจริญนานจนกระทั่งมีกำลังปัญญาเป็นพละที่เมื่อระลึกแล้วรู้ทันทีได้ว่าสภาพรู้เป็นอย่างไร ลักษณะที่แข็งที่ไม่ใช่สภาพรู้เป็นอย่างไร   นี่คือผู้ที่อบรมเจริญแล้ว  เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นนะคะ ปัญญารู้แข็งว่าต่างกับสภาพที่รู้แข็ง  เพราะฉะนั้น เข้าใจลักษณะของนามธรรม  ซึ่งไม่ใช่เพียงขั้นฟัง และก็ไม่ใช่เพียงขั้นคิดตาม  แต่เป็นการรู้ในขณะที่สภาพนามธรรมนั้นเองซึ่งเป็นธาตุรู้กำลังรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏตามความเป็นจริง
 
ผู้ถาม:  ที่อาจารย์พูดนี่ หมายถึงวิปัสสนาหรือเปล่าครับ
 
(ต่อใน คห. 1)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่