หากเรามองคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ กรณีนายก 8 ปี อย่างเป็นกลาง (ข้อควรคำนึง)

เขียนไว้ได้น่าสนใจ ไม่เอาอารมณ์เป็นที่ตั้ง จาก Facebook: Atukkit Sawangsuk (คือคุณใบตองแห้งพิธีกรจาก Voice TV)... Post เมื่อ 30/9/2565

ไม่ได้เขียนปลอบใจหรอก ในทางการเมือง ประยุทธ์ไปต่อยากจริงๆ ถ้าเป็นนายกฯได้ถึงปี 68 และมี 250 ส.ว.ถึงปี 67
ที่พักหายไป 37 วัน ทุกคนก็ทิ้งประยุทธ์ไว้ข้างหลัง เป็นบุคคลโลกลืม ทั้งที่ตั้งตัวเป็นผู้นำมา 8 ปี 4 เดือน
ถ้าสำนึกตัว ยุบสภา วางมือ การเมืองก็จะเข้าโหมดประนีประนอมระดับหนึ่ง
แต่ถ้าดันทุรัง ท้าชน ก็ยับเยิน ฝ่ายค้านชอบ พรรคร่วมรัฐบาลกระอักกระอ่วน
:
แต่ในทางกฎหมาย คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญนั้น ตรงตามหลักกฎหมาย
คือการเริ่มนับ 8 ปี ต้องเริ่มเมื่อกฎหมายประกาศใช้
นี่เป็นหลักทั่วไป เป็น common sense ทางกฎหมาย
เมื่อประกาศใช้กฎเกณฑ์ใหม่ จะต้องมีผลตั้งแต่วันที่ประกาศใช้
ไม่สามารถอ้างเจตนารมณ์ย้อนไปบังคับก่อนมีกฎหมาย

หลักการนี้ใช้กับทุกคน คุ้มครองทุกคน
เช่นทางแพ่ง สมมติผู้จัดการบริษัทเป็นมา 2 ปี กรรมการออกระเบียบใหม่ ให้เป็นได้ 4 ปี ก็ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่มีระเบียบใหม่ ไปฟ้องศาล ศาลแพ่งก็จะยึดหลักอย่างนี้ ทางปกครอง ผอ.เป็นมา 3 ปี หน่วยงานออกระเบียบใหม่ ให้เป็นได้ 5 ปี ก็ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่มีระเบียบใหม่ ไปฟ้องศาลปกครอง ก็จะยึดหลักอย่างนี้ ถ้าเป็นหน่วยงานรัฐ โดยส่วนใหญ่ ก็จะเขียนบทเฉพาะกาลไว้ให้ชัด ไม่มานั่งกินข้าวเบิกเบี้ยประชุมแล้วอธิบายภายหลัง ตัวอย่างใกล้ๆ คือ ประธานศาลปกครองสูงสุด มีกฎหมายใหม่ออกเมื่อ 26 กันยายน 2560 ให้เป็นได้แค่ 4 ปี เดิมไม่กำหนดวาระ
แต่บทเฉพาะกาลเขียนชัด ไม่นับที่เป็นมาก่อน ปิยะ ปะตังทา เป็นมาตั้งแต่ปี 59 ครบวาระ 26 กันยา 2564

กรณีประยุทธ์ อย่างที่เคยสมมติ นายกฯ สารขัณฑ์มาจากเลือกตั้งชอบธรรม เป็นมา 3 ปี ร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดย สสร. รัฐธรรมนูญกำหนดนายกฯ เป็นได้ 8 ปี ในทางปฏิบัติคงถกเถียงกันแต่แรกว่าจะนับ 3 ปีนั้นด้วยไหม เพราะไม่ใช่รัฐธรรมนูญปิดปากแบบ คสช.
แต่ถกเถียงแล้วด้วยหลักกฎหมายหลักชอบธรรมเป็นธรรม คนส่วนใหญ่ก็จะเห็นด้วยว่า ต้องเริ่มนับเมื่อรัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้
เพียงแต่ประยุทธ์มันไม่ได้มาอย่างชอบธรรม มันมาจากรัฐประหารปล้นอำนาจ สืบทอดอำนาจ ไม่มีความชอบธรรมแม้แต่วันเดียว
มันเลยเป็นปัญหาระหว่างการตีความตามหลักกฎหมาย กับความไม่ชอบธรรมทางการเมือง

คำถามว่า 8 ปีนับเมื่อไหร่ คนส่วนใหญ่จะสวนว่า อ้าว ก็เห็นกันอยู่คาตา เด็กอมมือก็ตอบได้
แต่ถามว่านับทำไม นับเพื่อใช้ทางกฎหมาย ก็ต้องนับตามหลักกฎหมาย
"8 ปี" ที่อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์์ใหม่ของรัฐธรรมนูญ 2560 ก็ต้องเริ่มนับเมื่อใช้รัฐธรรมนูญ
3 ปีก่อนนั้นคือประยุทธ์เป็นนายกฯเถื่อนตามรัฐธรรมนูญเถื่อน ที่ไม่มีกฎเกณฑ์บังคับ
เพิ่งจะเข้าสู่กฎใหม่ในวันที่ 6 เมษายน 2560 นี่เอง

การตีความกฎหมายเคร่งครัด กับการต่อสู้ความไม่ชอบธรรมทางการเมืองนั้น มีช่องว่างระหว่างกัน
ถ้าคุณเป็นตุลาการ ก็ต้องตีความตามกฎหมาย ไม่เลือกหน้าใคร (เทพียุติธรรมมีผ้าปิดตา)
ถ้าคุณเป็นนักต่อสู้ ก็ต้องเห็นว่าประยุทธ์ไม่ชอบธรรม เถื่อนตั้งแต่วันแรก ไล่ได้ทุกวัน
ทั้งสองอย่างนี้บางครั้งอาจตรงกัน บางครั้งอาจสวนทาง
ตราบใดที่กฎหมายตรงไปตรงมา สังคมก็ยังมีหลัก
แต่เมื่อไหร่ที่พยายามตีความกฎหมายหวังผลทางการเมือง เมื่อนั้นคือตุลาการภิวัตน์
เหมือนที่ใช้กำจัดทักษิณและทำลายกฎหมายจนศาลรัฐธรรมนูญหมดความเชื่อถือเช่นนี้
..........................................................................................................................

ต่อจากการที่คุณใบตองแห้ง Post ที่ Facebook เดิม โพสวันที่ 1/10/2565

ประเด็นที่มักจะถูกเบี่ยงเบน
:
1.แปดปีเห็นๆ กำปั้นทุบดิน ทำไมกฎหมายนับห้าปี
-ผัวเมียแต่งงานกันแปดปี เพิ่งจดทะเบียนสมรสห้าปี สมมติหย่าหรือมีประเด็นทางนิติกรรมสัญญา กฎหมายก็นับห้าปี
การนับเพื่อใช้กฎหมาย ก็ต้องดูกฎหมายประกอบ ไม่ใช่ว่ากฎหมายบิดเบือนข้อเท็จจริง

2.มาตรา 264 ทำให้ประยุทธ์เป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญนี้ตั้งแต่ปี 57 (เช่นแถลงการณ์พรรคเพื่อไทย)
"ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่"
ความหมายชัดเจนว่าให้เป็นตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560
ตีความแบบไหนบอกว่ารัฐธรรมนูญ 60 ให้เป็นครม.ตาม รธน.60 ตั้งแต่ปี 57
มาตรา 264 ต่างหากทำให้ไม่สามารถตีความว่าให้นับ 8 ปีตั้งแต่ปี 62

3."กฎหมายใช้ย้อนหลังได้หมด ถ้าไม่ใช่ความผิดอาญา"
ที่ถูกคือกฎหมายใช้ย้อนหลังไม่ได้ถ้าเป็นโทษ ไม่ว่ากระทบสิทธิเสรีภาพ สิทธิในการดำรงตำแหน่ง หรือสิทธิอื่นๆ
ฝ่ายค้านท้วงว่า ทียุบพรรคไทยรักไทยทำไมใช้กฎหมายย้อนหลังตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค
อันนี้ถูก ท้วงถูก
รัฐประหาร 49 ออกประกาศเป็นกฎหมาย แก้กฎหมายพรรคการเมือง เมื่อยุบพรรคให้ตัดสิทธิกรรมการบริหารด้วย แล้วตุลาการรัฐธรรมนูญที่รัฐประหารตั้ง ก็เอามาใช้ย้อนหลัง ตัดสิทธิ 111 คน
ตุลาการรัฐธรรมนูญครั้งนั้นผิด (มติ 6-3)
ศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวานป้องตุลาการในอดีต อันนี้เป็นส่วนที่ด่าได้และต้องด่า

4.คดีสิระทำไมใช้ย้อนหลัง
คดีสิระไม่ใช่ใช้กฎหมายย้อนหลัง แต่เป็นการที่รัฐธรรมนูญกำหนดเกณฑ์คุณสมบัติ เคยติดคุกสมัคร ส.ส.ไม่ได้ เคยติดคุกเป็นประวัติติดตัว เหมือนจบปริญญาตรี ปริญญาโท เป็นประวัติที่ใช้สมัครงาน เหมือนที่รัฐธรรมนูญ 40 เคยกำหนด สมัคร ส.ส.ต้องจบปริญญาตรี เหมือนการสมัครงาน ถ้าบริษัทบอกไม่รับคนเคยเคยติดคุก อันนั้นคือประวัติติดตัว ไม่ใช่ใช้กฎหมายย้อนหลัง
(อันที่จริงคดีสิระ ศาลรัฐธรรมนูญก็ผิด ค้นไม่เจอคำพิพากษา แต่เชื่อคำให้การคู่กรณี)
แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  นักการเมือง ฝ่ายค้าน รัฐศาสตร์ รัฐธรรมนูญ
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่