เชียงใหม่-วัดพระเจ้าเม็งราย พระอารามหลวงแห่งที่ ๓ ที่พญามังรายสร้างขึ้น


วัดพระเจ้าเม็งราย (วัดกาละก้อด,วัดคานคาด,วัดคาดคอด,วัดศรีสร้อยท้าแจ่ง) พระอารามหลวงแห่งที่ ๓ ที่พญามังรายสร้างขึ้น

ตั้งอยู่เลขที่ ๒๑ บ้านพระเจ้าเม็งราย ถนนราชมรรคา ซอย ๖ ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

มีเนื้อที่ ๔ ไร่ ๓ งาน ๓ ตารางวา สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย 

อนึ่ง วัดนี้ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.๑๘๓๙ โดยมีเขตวิสุงคามสีมากว้าง ๗ เมตร ยาว ๑๗ เมตร

..........วัดพระเจ้าเม็งราย เดิมชื่อ "วัดคานคาด" คงจะเพี้ยนมาจากคำว่า "กาละก้อด" 
หรือได้มาจากไม้คานหามพระพุทธรูปมาคาดหรือกร่อนจนเกือบจะนำมาใช้หามพระพุทธรูปต่อไปอีกไม่ได้
เลยสร้างวัดขึ้นตรงนั้นแล้วตั้งชื่อว่า "วัดคาดคอด" ตามจารึกผอบเงินซึ่งฝังอยู่ใต้ฐานพระประธานในวิหาร
และค้นพบเมื่อครั้งที่ทำการซ่อมแซมวิหารเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๑ โดยข้อความถูกจารึกด้วยอักษรไทยวน (พื้นเมือง)

นอกจากนี้อดีตพระอธิการการกุย ทูลสนโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระเจ้าเม็งราย อธิบายว่า 
วัดพระเจ้าเม็งรายนี้ นอกจากจะเรียกชื่อวัดกาละก้อดแล้วยังเรียกชื่อ "วัดศรีสร้อยท้าแจ่ง" 
แต่ไม่ทราบถึงที่มาและความหมายอันแน่ชัด

ทั้งนี้คำว่า "กาละก้อด" นั้นอาจมาจากคำ กรกฎ-กรกอฎ ซึ่งแปลว่า "ปู" 
ทั้งนี้เพราะใน "โคลงนิราศหริภุญชัย" บันทึกว่าในบริเวณดังกล่าวมีวัดชื่อเช่นนี้ตั้งอยู่
และคำดังกล่าวนี้ในเอกสารล้านนานิยมเขียนเป็น "การกอฎ"

...สำหรับชื่อที่เปลี่ยนใหม่เป็นวัดพระเจ้าเม็งรายนั้น 
ตามประวัติกล่าวว่า ท่านเจ้าคุณพระศรีสุทธิวงศ์ วัดเบญจมบพิตร ซึ่งเป็นเจ้าคณะมณฑลในสมัยนั้น
เห็นว่าชื่อวัดกาละก้อดไม่มีความหมาย ท่านจึงตั้งชื่อให้ใหม่ตามชื่อผู้สร้างวัด ในปี พ.ศ.๒๔๗๐
ว่า "วัดพระเจ้าเม็งราย" แต่บางตำรากล่าวว่าที่ถูกต้องควรจะเรียกว่า "วัดพระญามังรายหลวงเจ้า"

วัดพระเจ้าเม็งรายตามประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าเป็นพระอารามหลวงแห่งที่ ๓ ที่พญามังรายทรงสร้างขึ้น 
ปัจจุบันเหลือเพียงพระพุทธรูปยืนองค์เดียวเท่านั้น 
เรื่องราวของพระพุทธรูปองค์นี้ปรากฏในตำนานเมืองเชียงใหม่และในพงศาวดารโยนก


...อาคารเสนาสนะของวัดพระเจ้าเม็งรายประกอบด้วยอุโบสถ พระวิหารหลังเก่าอันเป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าค่าคิงพระญามังราย
พระวิหารใหม่ซึ่งมีหลังคาซ้อนกัน ๓ ชั้น หน้าบันประดับกระจกสี บานประตูทางเข้าปิดทองล่องชาดประดับกระจกสี
ศาลาเอนกประสงค์ ศาลาบำเพ็ญกุศล หอพระไตรปิฎกซึ่งชั้นล่างเป็นหอสมุด
อุโบสถซึ่งตั้งอยู่หลังวิหารและซุ้มประตูซึ่งสร้างขึ้นใหม่ลอกเลียนของเดิม

สำหรับปูชนียวัตถุของวัด คือ 
เจดีย์ทรงปราสาทซึ่งมีซุ้มพระพุทธรูปยืนทั้งสี่ด้าน

และ "พระเจ้าค่าคิงพญามังราย" คือพระพุทธรูปเสมอองค์พระญามังราย ซึ่งเป็นพระพุทธรูปยืนสมัยต้นเชียงใหม่ที่สำคัญองค์หนึ่ง 
พุทธลักษณะของพระพุทธรูปองค์นี้ คือ เป็นพระพุทธรูปปางลีลาห้ามญาติ หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ฝีมือช่างสกุลเชียงแสน องค์พระพุทธรูปสูงประมาณ ๔๕๐ เซนติเมตร

...ท่านผู้รู้บางท่านได้ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับขนาดความสูงขององค์พระพุทธรูปว่า
ที่จริงการสร้างพระเจ้าค่าคิงพระญามังรายนี้ ไม่ได้วัดจากความสูงจริงของพระญามังราย 
แต่ยึดถือเอาตามระยะที่ลำแสงทอดออกไปได้ไกลที่สุด ในขณะที่ประดิษฐานพระพุทธรูปไว้กลางแดดเวลาเช้าหรือบ่าย

อนึ่ง อาจารย์อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า
"พระเจ้าค่าคิง" อาจจะไม่ได้หมายถึงองค์ของพระพุทธรูปซึ่งมีขนาดเท่าองค์ของพระญามังราย
แต่อาจจะเป็นการอุปมาอุปไมยก็ได้
เพราะคำว่า "ค่าคิง" ในภาษาถิ่นเหนืออาจจะหมายถึงน้ำหนักทองที่หนักเท่าน้ำหนักตัวคน หรือหมายถึงหนักเท่าสูงเท่าและใหญ่เท่า 
หรืออาจจะหมายถึงพระพุทธรูปประจำพระองค์ของพระญามังรายก็เป็นได้ 
แต่ก็อาจเป็นไปได้ว่า "พระเจ้าค่าคิงพระญามังราย" นี้ คือพระพุทธรูปที่แทนองค์ของพระญามังราย

...นอกจากนี้ มีตำนานเล่าว่าพระพุทธรูปองค์นี้สร้างขึ้นเมื่อครั้งที่พระญามังรายประทับอยู่ที่เวียงกุมกาม ในราวปี พ.ศ.๑๘๓๗
โดยแต่เดิมประดิษฐานอยู่ที่วัดกู่คำ (เจดีย์เหลี่ยม) ภายหลังเมื่อสร้างวัดกาละก้อดขึ้นในปี พ.ศ.๑๘๓๙ 
หรือที่บางตำรากล่าวว่าสร้างขึ้นใน พ.ศ.๑๘๔๒ พระญามังรายจึงอัญเชิญพระเจ้าค่าคิงมาประดิษฐานที่วัดนี้นับแต่นั้นเป็นต้นมา
ในปัจจุบันพระพุทธรูปองค์นี้ได้รับการซ่อมแซมในบางส่วน เช่น ชายจีวรและพระหัตถ์
องค์พระพุทธรูปบางส่วนเป็นไม้และบางส่วนยังคงสภาพทองสัมฤทธิ์แบบเดิม
...สิ่งสำคัญของวัดพระเจ้าเม็งราย ได้แก่ พระวิหารหลังเก่าและพระพุทธรูปยืน
ซึ่งได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๕๒ ตอนที่ ๗๕ ลงวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๘
ในปัจจุบันนี้ วัดพระเจ้าเม็งรายมีโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรมและแผนกบาลีซึ่งเปิดสอนเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๑ 

<<< บันทึกท้ายกระทู้ >>>
วัดนี้อาจมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน แต่เนื่องจากเป็นวัดที่มีที่ตั้งไม่โดดเด่นมากนัก ทำให้กลายเป็นวัดที่ถูกมองข้ามสำหรับนักท่องเที่ยว
การมาบันทึกภาพที่วัดนี้ มีหลายช่วงเวลา และหลายปี ทำให้มีข้อจำกัดอยู่บ้าง
ผมเองถ่ายภาพด้วยอุปกรณ์หลายประเภท ทำให้มีความแตกต่างพอสมควร โดยเฉพาะการถ่ายภาพด้วย Infrared Camera
ซึ่งผมเองไม่ต้องการให้เกิดความรู้สึกที่ต่างมุมมองในแง่ลบใดๆ จึงจำเป็นต้องแปลงภาพให้อยู่ในลักษณะเดียวกันทั้งหมด
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่