วันนี้ นายกฯ อนุมัติขยายกรอบเพดานหนี้สาธารณะเป็น 70% ต่อ GDP

นายกฯ อนุมัติขยายกรอบเพดานหนี้สาธารณะเป็น 70% ต่อ GDP



วันนี้มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน  โดยกรอบวินัยทางการคลังเดิม มีเพดานการก่อหนี้ที่ 60% ต่อ GDP ในขณะที่การประชุมรอบนี้ ได้รับการเห็นชอบและขยับขึ้นเป็น 70%

การปรับเพดานหนี้สาธารณะ มองว่า รัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณขาดดุลเพื่อใช้จ่ายพยุง/กระตุ้นเศรษฐกิจ การขยับเพดานหนี้ครั้งนี้จึงมีความจำเป็น และยังสะท้อนความจำเป็นของรัฐบาลที่ต้องกู้ยืมเพิ่มเติม รวมถึงสะท้อนภาพเศรษฐกิจที่ซบเซาและอ่อนแอ แต่มองว่าไม่น่ากระทบความน่าเชื่อถือของประเทศ หากการกู้ยืมของรัฐยังอยู่ในรูปสกุลเงินบาท (ที่ผ่านมา รัฐออกพันธบัตรมา ขายหมดทุกชุด)

สถานภาพทางการคลังของไทย ปัจจุบันมีหนี้สาธารณะที่ 55.20% ต่อ GDP ซึ่งต่ำ เมื่อเทียบกับกลุ่ม Developed Countries ที่อยู่ในระดับ 100-200% ต่อ GDP ส่วนในเอเชียอยู่ที่ประมาณ 75% ต่อ GDP

จุดแข็งของการคลังไทยคือ รัฐบาลมีหนี้สินเป็นสกุลเงิน “บาท” 98% ส่วนสกุล “ต่างประเทศ” มีเพียง 2% เท่านั้น การขยายเพดานหนี้ หากยังรักษาสัดส่วนหนี้ให้เป็นสกุลบาทได้ จะไม่มีอะไรน่ากังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพของค่าเงิน และอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ

ประเด็นที่ควรติดตามกันอย่างจริงจังต่อไปคือ ภาครัฐจะใช้จ่ายเงินกู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่าภาษีของประชาชน และแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ตรงจุดหรือไม่?
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่