ท่าออกกำลังกายในผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม

ข้อเข่าเสื่อมหรือโรคข้อเข่าเสื่อม เกิดจากการเสื่อมของข้อ ที่ผ่านการใช้งานมาเป็นระยะเวลานาน ทำให้เกิดการสึกกร่อนของผิวข้อ
มีหินปูนมาเกาะบริเวณผิวกระดูก  เกิดอาการเจ็บปวดข้อขณะที่เคลื่อนไหว เข่าผิดรูปโก่งงอ  ซึ่งจะส่งผลให้ประสิทธิภาพในการดำเนิน
ชีวิตประจำวันลดลง โดยส่วนมากโรคข้อเสื่อมมักจะพบในผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป แต่ในปัจจุบันพบว่ามีผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้น
ตั้งแต่อายุระหว่าง 45-50 ปี หรือผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อเรื้อรัง อย่างเช่น โรครูมาตอยด์ โรคเกาต์ หรือผู้ที่เคยเกิดอุบัติเหตุขึ้นที่ข้อเข่า
ก็สามารถเกิดโรคข้อเข่าเสื่อมตั้งแต่อายุยังไม่มากได้เช่นเดียวกัน

อาการของโรคข้อเข่าเสื่อม
             1.มีอาการปวดข้อเข่า รวมถึงอาการปวดเมื่อยตึงเข่า ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง และอาจจะมีอาการปวดตึงบริเวณน่องร่วมด้วย
ในรายที่มีอาการมากๆจะปวดเข่าในขณะที่มีการเคลื่อนไหวด้วย
             2. มีเสียงในข้อเข่าขณะมีการเคลื่อนไหวหรือเดิน
             3. ข้อเข่าโก่งงอ ทำให้ความมั่งคงของข้อเข่าลดลง ส่งผลให้การเดินทำได้ยากขึ้นและทำให้มีอาการปวดขณะเดินร่วมด้วย
             4. ข้อเข่ายึดติด ผู้ป่วยจะไม่สามารถงอเข่าหรือเหยียดเข่าได้สุด เนื่องจากมีการยึดติดภายในข้อ
             5. ข้อเข่ามีขนาดใหญ่ขึ้น

แนวทางการรักษาโรคข้อเสื่อม
             จุดประสงค์ของการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมนั้นเพื่อช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด ป้องกันไม่ให้เกิดข้อเข่าติด และป้องกันการโก่งงอของข้อ
เนื่องจากส่วนใหญ่โรคนี้จะเกิดในผู้สูงอายุ ซึ่งหากมีอาการเกิดขึ้นแล้ว จะไม่สามารถรักษาให้หายเหมือนเดิมได้
โดยแนวทางการรักษาแบ่งออกเป็น 3 วิธีคือ
                          1.การรักษาโดยใช้ยา
                          2.การรักษาโดยวิธีการผ่าตัด
                          3.การรักษาแบบทั่วไป โดยการรักษาทางกายภาพบำบัดจะอยู่ในแนวทางการรักษาแบบทั่วไป เช่น
                                     -    การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หลีกเลี่ยงการเกิดปัจจัยกระตุ้น เช่น การนั่งพับเพียบหรือนั่งยองๆ นานๆ
และควรหลีกเลี่ยงการเดินขึ้นลงบันไดบ่อยๆ และควรนั่บนเก้าอี้แทนการนั่งบนพื้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุ
                                     -    ควบคุมน้ำหนักให้อยู๋ในเกณฑ์ปกติ เพื่อลดการรับน้ำหนักของข้อเข่าและชะลอการเสื่อม
                                     -    เมื่อมีอาการปวดเข่า ให้ใช้น้ำอุ่นประคบประมาณ 15-20 นาที
                                     -    ควรออกกำลังกายและบริหารกล้ามเนื้ออยู่เสมอ เพื่อป้องกันการติดของข้อต่อ และเพิ่มความแข็งแรง
ของกล้ามเนื้อและกระดูก

ท่าออกกำลังกายในผู้ป่วยข้อเสื่อม
                   1.การยืดกล้ามเนื้อขา  ยืดค้างไว้ 15 วินาที ท่าละ 5-10 ครั้ง โดยยืดจนรู้สึงตึงบริเวณนั้นๆ แต่ไม่รู้สึกเจ็บ
                                ท่าที่ 1  นั่งเหยียดขาข้างที่จะทำการยืดไปข้างหน้า แล้วใช้มือข้างเดียวกันแตะไปที่ปลายเท้า หรือ
                                           ยืดจนตึงที่ขาด้านหลัง
                                ท่าที่ 2  นั่งเหยียดขาข้างที่ต้องการจะยืด ใช้ผ้าหรือเชือก คล้องปลายเท้าแล้วค่อยๆออกแรงดึงผ้า
                                           จนรู้สึกตึงบริเวณน่อง
                                ท่าที่ 3  ยืนจับกำแพง  งอเข่าข้างที่ต้องการจะยืด ใช้มือข้างเดียวกับขาที่จะทำการยืดจับบริเวณข้อเท้า
                                            จนรู้สึกตึงบริเวณต้นขาด้านหน้า
                  2.การเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบข้อเข่า
                                ท่าที่ 1 นอนหงาย เหยียดเข่า ใช้หมอนรองใต้เข่าเพื่อให้ข้อเข่างอเล็กน้อย หลังจากนั้นเหยียดเข่าให้ตรง                                            เกร็งข้อเข่ากดหมอนที่รองอยู่ ค้างไว้ 5-10 วินาที ทำข้างละ 10 ครั้ง
                                ท่าที่ 2 นั่งบนเก้าอี้  เท้าทั้งสองข้างวางราบบนพื้น หลังพิงพนักเก้าอี้ ยกปลายเท้าขึ้นและเกร็งกล้ามเนื้อต้นขา                          
                                           โดยกระดกข้อเท้าค้างไว้ 5-10 วินาที  ทำข้างละ 10 ครั้ง สามารถเพิ่มความยากของการออกกำลังกาย
                                           ด้วยการถ่วงน้ำหนักที่ปลายเท้า
                                ท่าที่ 3 ให้ยืนหลังพิงกำแพง ค่อยๆเคลื่อนตัวย่อลงจนเข่างอประมาณ 30 องศา แล้วยืนขึ้นทำ 5-10 ครั้ง.

บทความโดย ฟิสิคอลคลินิกกายภาพบำบัด
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่