ไขคำตอบ! คนโสด ขึ้นคาน ไร้ทายาท ตายไป...ใครจะเผา

สังคมไทยยุคปัจจุบัน มีคนจำนวนมากเลือกที่จะเป็นโสดอยู่บนคานทองไปตลอดชีวิต หรือ แต่งงานแล้ว แต่เลือกที่จะไม่มีลูก ซึ่งวันใด วันหนึ่ง คู่รักเกิดเสียชีวิตไปก่อน ทำให้อีกฝ่ายต้องอยู่ตัวคนเดียว เมื่อถึงเวลานั้นมาถึง ใครจะเป็นคนจัดงาน...

เมื่อความตายเป็นสัจธรรมของทุกๆ ชีวิต ที่ไม่ว่าจะเกิดมารวยหรือจนก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เมื่อตายไปแล้วสิ่งที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์หรือสิ่งมีชีวิตประเภทอื่น คือการจัดพิธีหลังความตาย ที่เรียกว่า การจัดงานศพ หลายคนอาจยังละเลยในการนึกถึง คิดว่าเป็นเรื่องน่ากลัวที่ต้องมานั่งคิดเรื่องงานศพของตนเอง แต่จริงๆ แล้วเป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกคน ควรจะตระหนักไว้ หากอนาคตเกิดอะไรขึ้น ก็เพื่อคนข้างหลังจะได้ไม่เดือดร้อน..

ทั้งนี้ สังคมไทยยุคปัจจุบัน มีคนจำนวนมากเลือกที่จะเป็นโสดอยู่บนคานทองไปตลอดชีวิต หรือ แต่งงานแล้ว แต่เลือกที่จะไม่มีลูก ซึ่งวันใด วันหนึ่ง คู่รักเกิดเสียชีวิตไปก่อน ทำให้อีกฝ่ายต้องอยู่ตัวคนเดียว เมื่อถึงเวลานั้นมาถึง ใครจะเป็นคนจัดงานศพให้เรา อาจเป็นคำถามที่หลายคนสงสัย หรือแม้แต่คนที่มีลูกหลาน แต่ไม่อยากเป็นภาระหรือสร้างความยุ่งยากในวาระสุดท้ายของชีวิต ควรทำอย่างไร?

'ไทยรัฐออนไลน์' มีคำตอบสำหรับคนที่กำลังมองหาทางเลือกบั้นปลายชีวิต ซึ่งอนาคตเป็นสิ่งที่ทุกคนไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่ทุกคนสามารถวางแผนได้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและศึกษาข้อมูล ดังนี้

บ้านพักคนชรา แบบรัฐดูแล

บ้านพักคนชรา เช่นเดียวกับบ้านบางแคนั้นมี 12 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งจะมีศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุวาสนะเวศม์ฯ ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อีกหนึ่งแห่งเท่านั้น ที่จะมีห้องแบบหอพัก ส่วนที่อื่นๆ จะเป็นประเภทสามัญเพียงอย่างเดียว แบ่งเป็น 3 ประเภท

1. ประเภทสามัญ จัดอุปการะเลี้ยงดูผู้สูงอายุโดยไม่ต้องเสียค่าบริการใดๆทั้งสิ้น


2. ประเภทเสียค่าบริการแบบหอพัก แบ่งออกเป็นห้องเดี่ยว เสียค่าบริการเดือนละ 1,500 บาท และห้องคู่เดือนละ 2,000 บาท มีบริการทั้งหมด 40 ห้อง

3. ประเภทพิเศษ (บังกะโล) เป็นบ้านเดี่ยวที่ปลูกสร้างในที่ดินของศูนย์พัฒนาฯ โดยผู้ปลูกสามารถอยู่ได้จนถึงแก่กรรม และต้องยกกรรมสิทธิ์ให้กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ

หากไม่มีญาติ ทางบ้านพักคนชราบางแค จะรับหน้าที่เป็นธุระจัดแจง พิธีสวดเป็นเวลา 1 คืน โดยจัดงานบริเวณอาคารศาลาธรรม เสร็จสิ้นพิธีการสวด ก็จะนำศพไปเก็บไว้ที่วัดนิมมานรดี (วัดบางแค) แล้วจะนำออกมาฌาปนกิจพร้อมกันในเดือนมีนาคมของทุกปี

หากเป็นบ้านพักคนชราของเอกชน จะต้องมีญาติมาเซ็นรับรองการอยู่ ซึ่งเมื่อเสียชีวิตทางบ้านพักฯ จะติดต่อให้ญาติมารับศพไปจัดการตามพิธีทางศาสนา

อยู่คนเดียว มีทายาท แต่ไม่อยากเป็นภาระ

ประชากรส่วนใหญ่มีทั้ง แต่งงาน แต่ไม่มีบุตร และรักที่ไม่จำกัดเพศ ในอนาคตอันใกล้นี้ สังคมไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุ แล้วก็จะไม่มีลูกมีหลาน หรือบางคนมีครอบครัว แต่ไม่อยากเป็นภาระ หากเสียชีวิต มูลนิธิ จะนำศพส่งทางโรงพยาบาล เพื่อชันสูตรหาสาเหตุการเสียชีวิต หากไม่มีญาติมาติดต่อรับศพ ทางมูลนิธิจะนำศพไปรวมไว้ที่สุสานศพไร้ญาติ เมื่อถึงเวลาล้างป่าช้า จะจัดตามพิธีทางศาสนาแล้วเผารวมกัน

ทางเลือกของคนที่ร่างกายแข็งแรง

บริจาคร่างกาย กรณีไม่อยากเป็นภาระใคร ไม่อยากเข้าบ้านพักคนชรา อยากใช้ชีวิตอิสระอยู่ในสังคมภายนอกแบบเดิม สามารถเลือกบริจาคร่างกายและอวัยวะตามมหาวิทยาลัย หรือโรงพยาบาลที่รับบริจาคได้ เพราะเมื่อเสียชีวิตร่างกายจะถูกส่งไปให้นักศึกษาแพทย์ ได้ศึกษาจนสำเร็จหลักสูตร เมื่อเสร็จสิ้นการเรียน ทางภาควิชาฯ จะจัดการเรื่องฌาปนกิจให้ โดยจะดำเนินการขอพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษ เพื่อเป็นเกียรติในการเสียสละมอบร่างกายให้เป็นวิทยาทาน

อีกหนึ่งทางเลือก คือการทำสินเชื่อ Reverse Mortgage เป็นการขายบ้านล่วงหน้าให้ กับธนาคาร คือธนาคาร เป็นผู้ผ่อนซื้อ หรือจ่ายเงิน เป็นรายงวดให้กับเจ้าของบ้าน โดยมีเงื่อนไขส่งมอบบ้านเมื่อครบกำหนดสัญญาภายในเวลาไม่เกิน 20 ปี หรือ เมื่อเจ้าของบ้านเสียชีวิต โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ไม่มีเงินบำนาญและไม่มีเงินออม แต่มีบ้านเป็นของตนเอง จะได้มีเงินไว้ใช้จับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวันและยามฉุกเฉิน หากหวังพึ่งเงินงบประมาณรัฐ ด้านสวัสดิการสังคมหรือสาธารณสุขคงไม่พอ

ส่องตัวเลข ค่าใช้จ่ายในงานศพ ?

- ค่าโลงศพ ประมาณ 3,500-100,000 บาท

- ค่าเคลื่อนย้ายศพ แล้วแต่ว่าเป็นมูลนิธิ หรือโรงพยาบาล

- ค่าดอกไม้ประดับหน้าโลง ประมาณ 4,500-20,000 บาท

- ค่าทำกรอบรูปหน้าศพ ประมาณ 350-1,000 บาท

- ค่าของชำร่วย ประมาณ 1,000-3,000 บาท

- ค่า snack box หรือ อาหารว่าง ประมาณกล่องละ 20-65 บาท

- ค่าอาหารเลี้ยงคนที่มาร่วมงาน ประมาณ 5,000-6,000 บาท

- ค่าเช่าเรือไปลอยอังคาร ประมาณ 700-1,000 บาท

- ค่าดอกไม้จันทน์ ประมาณ 300-600 บาท

- ธูปเทียน ดอกไม้ไหวพระ พวงมาลัย น้ำอบ ค่าโกศ ฯลฯ ประมาณ 2,000 บาท

สรุปแล้วการจัดงานศพเฉลี่ย ถ้า 3 คืน ประมาณ 60,000 บาท 5 คืน ประมาณ 80,000 บาท และ 7 คืน 100,000 บาท ซึ่งค่าใช้จ่าย สำหรับจัดงานสวดอภิธรรมของวัดในเมืองหลวงจะมีราคาสูงกว่าวัดต่างจังหวัด

ทั้งนี้ อาจขึ้นอยู่กับความสะดวกของเจ้าภาพ อาจใช้บริการจ้างจัดงานศพ ที่ให้บริการครบวงจร ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูง แต่นับเป็นอีกทางเลือกที่คนหันมาใช้บริการ เนื่องจากเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของเจ้าภาพ ทั้งพิธีกรรมและงานบริการ เพื่อความสมบูรณ์แก่ผู้เสียชีวิตเป็นครั้งสุดท้าย..

อัพเดทข้อมูล ปี 2560
เครดิต : https://www.thairath.co.th/news/business/1004944
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่