●● หมออุดม คชินทร : ยกระดับสู้โควิด ปูพรมค้นผู้ติดเชื้อไม่แสดงอาการ ●●

●● หมออุดม คชินทร : ยกระดับสู้โควิด ปูพรมค้นผู้ติดเชื้อไม่แสดงอาการ ●●

"...จากสถานการณ์วิกฤติโควิด-19ที่กำลังจะทวีความรุนแรงขั้นสูงสุดภายในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า ประเทศไทย
กำลังมาถึงทางสองแพร่งคือจะเป็นแบบอิตาลีและอเมริกา ซึ่งอัตราการเพิ่มของผู้ป่วยจะเร็วมากและมีการสูญเสีย
มากหรือเรากดให้อัตราการเพิ่มของผู้ป่วยไม่สูงมาก ขึ้นช้าๆ และสูญเสียไม่มากแบบญี่ปุ่นและไต้หวัน ซึ่งเราต้องการ
ให้เป็นแบบญี่ปุ่นและไต้หวัน ดังนั้น สิ่งที่ต้องดำเนินการและเตรียมการอย่างเร่งด่วนมี 3 เรื่องใหญ่..."

       

การรับมือกับปัญหาวิกฤติโควิด-19 ที่ปฏิบัติกันตอนนี้เน้นไปที่การตรวจหาเชื้อเฉพาะกลุ่มที่มีอาการ กับกลุ่มเสี่ยง
และการใช้มาตรการ social distancing เพื่อลดการแพร่เชื้อ โควิด-19 ทั้งสองเป็นมาตรการที่ถูกต้องและสำคัญมาก

การติดเชื้อโควิด-19 แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มคือ
กลุ่มที่แสดงอาการ กับกลุ่มไม่แสดงอาการซึ่งอาจพบได้ถึง 25%

ถ้าเป็นกลุ่มแสดงอาการ 

ระยะแรกที่อยู่ในช่วงติดเชื้ออาจจะไม่มีอาการอะไรเลยเป็นเวลา 1 สัปดาห์แล้วต่อด้วยมีอาการอีก 2 สัปดาห์
หลังจากนั้นจะเป็นช่วงรักษาตัวและฟื้นตัวอีกราว 3-4 สัปดาห์ ทั้งหมดรวมแล้วประมาณ 7 สัปดาห์ ที่เชื้อจะอาศ้ย
อยู่ในตัวเราและแพร่เชื้อให้คนอื่นได้

กลุ่มนี้จะค่อนข้างชัดเจนและเราน่าจะสามารถค้นหาคนติดเชื้อกลุ่นนี้ได้ทั้งหมด จากการปฏิบัติการตรวจค้นหาเชื้อ
อย่างเข้มข้นแต่อาจจะต้องทำไปยาว 7-8 สัปดาห์ เพื่อนำไปสู่การรักษาและป้องกันการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น

กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มที่ติดเชื้อโดยไม่แสดงอาการ แต่แพร่เชื้อได้ 

จะเห็นว่าวิธีเดียวที่จะสามารถค้นหาคนที่มีเชื้อแฝงอยู่แต่ไม่มีอาการเลย ก็คือต้องมีมาตรการเชิงรุกอย่างเข้มข้น
ที่จะตรวจหาผู้ติดเชื้อให้รวดเร็วขึ้นและได้จำนวนมากที่สุดโดยขยายการค้นหาไปในกลุ่มคนที่มีโอกาสติดเชื้อ
ทั้งหมดไม่ว่าจะมีความเสี่ยงแม้ระดับต่ำและไม่แสดงอาการเลย หรือถ้าสามารถทำได้ดียิ่งขึ้นจะขยายไปยังกลุ่ม
ที่ไม่มีความเสี่ยงเลยก็จะได้ข้อมูลสมบูรณ์มากขึ้น จะเป็นการตัดตอนไม่ให้แพร่เชื้อต่อไป

เราไม่รู้ว่ากลุ่มที่สามารถแพร่เชื้อโดยที่ไม่มีอาการแต่มีการติดเชื้อโดยไม่รู้ตัวมีอยู่เท่าไหร่และอยู่ที่ไหนบ้าง

จากข้อมูลของประเทศจีนคาดว่าจะมีประมาณ 6 เท่าของผู้ที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อ ดังนั้นประเทศไทยในขณะนี้
จะมีคนกลุ่มนี้มากกว่า 1 หมื่นคน (1771×6)

การบังคับให้ทุกคนใส่หน้ากาก ลดการพบปะกัน หรือ social distancing เป็นการลดโอกาสการแพร่เชื้อของคนกลุ่มนี้ให้กับผู้อื่น ซึ่งก็เป็นวิธีป้องกันที่ถูกต้อง

ข้อมูลล่าสุดจนถึง 1 เม.ย. 2563 ประทศไทยมีผู้ติดเชื้อสะสมรวม 1,771 คน มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 9.58% 
หรือเพิ่ม 2 เท่าทุก 10 วัน นั่นหมายถึงว่าวันที่ 30 เม.ย. 2563 จะมีผู้ติดเชื้อเป็น 14,186 คน วันที่ 30 พ.ค. 2563
เพิ่มเป็น 113,344 คน และเมื่อถึงอีก 3 เดือน  วันที่ 30 มิ.ย. 2563 จะมีผู้ติดเชื้อถึง 906,752 คน

ถ้าคิดอัตราตายเพียง 1% จะมีคนไทยตายถึง 9 พันกว่าคนใน 3 เดือนข้างหน้า ซึ่งสถานการณ์จะไปเหมือนกับ
อิตาลีและอเมริกา ที่สำคัญระบบสาธารณสุขของไทยทั้งบุคลากรทางการแพทย์ เวชภัณฑ์และอุปกรณ์เครื่องมือ
ทางการแพทย์ต่างๆ จะไม่เพียงพอที่รับมือได้ จะเกิดความสูญเสียมหาศาลทั้งด้านชีวิตคนและด้านเศรษฐกิจ

จากสถานการณ์วิกฤติโควิด-19ที่กำลังจะทวีความรุนแรงขั้นสูงสุดภายในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า ประเทศไทยกำลัง
มาถึงทางสองแพร่งคือจะเป็นแบบอิตาลีและอเมริกาซึ่งอัตราการเพิ่มของผู้ป่วยจะเร็วมากและมีการสูญเสียมาก
หรือเรากดให้อัตราการเพิ่มของผู้ป่วยไม่สูงมาก ขึ้นช้าๆ และสูญเสียไม่มากแบบญี่ปุ่นและไต้หวัน ซึ่งเราต้องการ
ให้เป็นแบบญี่ปุ่นและไต้หวัน

 ดังนั้น สิ่งที่ต้องดำเนินการและเตรียมการอย่างเร่งด่วนมี 3 เรื่องใหญ่ ดังนี้

1) ยกระดับมาตรการ physical distancing ให้เข้มข้นมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงการไปรับเชื้อและหยุดยั้ง
    การแพร่กระจายเชื้อ ซึ่งมาตรการนี้มีความสำคัญมากที่สุด เน้นให้อยู่บ้านไม่เดินทาง ไม่ให้มีการรวมตัวกัน
    ของประชาชน และให้เว้นระยะห่าง 1.5-2 เมตร แต่ยังไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชนมากเท่าที่ควร

    ข้อมูลสถิติจำนวนประชาชนสัญจรลดลงเฉลี่ย 40-50% รัฐบาลตั้งเป้าไว้ให้ลด 90% ซึ่งมีการวิจัยว่าสามารถลด
    การแพร่เชื้อได้ชัดเจน ต้องเพิ่มมาตรการโดยขอให้หน่วยงานของรัฐ บริษัท ห้างร้าน องค์กรต่างๆ ปรับการ
    ทำงานเป็น work from home อย่างจริงจัง อนุญาตให้เดินทางเฉพาะผู้ปฏิบัติงานในบางภารกิจที่จำเป็นเท่านั้น

2) ยกระดับมาตรการด้านสาธารณสุขโดยปูพรมค้นหากลุ่มผู้มีโอกาสติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการหรือมีอาการน้อย
    กลุ่มนี้ติดเชื้อแต่ไม่รู้ตัวและเป็นตัวการสำคัญในการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้

    จะเห็นว่าวิธีเดียวที่จะสามารถค้นหาคนที่มีเชื้อแฝงอยู่แต่ไม่มีอาการเลย ก็คือต้องมีมาตรการเชิงรุกอย่างเข้มข้น
    ที่จะตรวจหาผู้ติดเชื้อให้รวดเร็วขึ้นและได้จำนวนมากที่สุดโดยขยายหน่วยตรวจหาเชื้อให้ครอบคลุมทั้งประเทศ
    ทุกจังหวัด และให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย

    ดังนั้นต้องมีนโยบายขยายการค้นหาทั้งในกลุ่มคนที่มีโอกาสติดเชื้อ คนที่มีความเสี่ยงแม้ไม่แสดงอาการและ
    กลุ่มที่ไม่มีความเสี่ยงด้วย จะเป็นการตัดตอนไม่ให้แพร่เชื้อต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

    ต้องประมาณการว่าต้องตรวจคนกี่คน ต้องใช้ test kits กี่ชุด มียาสำหรับคนไข้ได้กี่คน ศักยภาพเราพร้อมระดับไหน

3) การเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรทางการแพทย์ เวชภัณฑ์ อุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ทั้งหมดให้
    เพียงพอกับวิกฤตินี้

    ต้องคาดการล่วงหน้าให้ใกล้เคียงที่สุดว่าที่เราต้องรองรับมันใหญ่ขนาดไหน ต้องเป็นตัวเลขจริงและใครคือ
    ผู้รับผิดชอบในแต่ละส่วน มีบูรณาการกันอย่างไรที่เป็นรูปธรรม

    จะบอกเพียงว่าเรารับไหวโดยไม่มีตัวเลขยืนยัน ทำแบบเดิมไม่ได้แล้ว

    ถ้าเราเตรียมทุกอย่างได้พร้อมและครบถ้วนจะทำให้สามารถรับมือกับวิกฤตินี้ได้อย่างราบรื่น อีกทั้งยังเป็น
    การสร้างเสริมขวัญและกำลังใจแก่บุคลากรทางการแพทย์ได้อย่างดียิ่ง

เราต้องเตรียมการและทำแผนรองรับอย่างดี ก่อนที่จะเข้าสู่สภาพเหตุการณ์ที่รุนแรงที่จะเกิดขึ้นจริงในไม่ช้านี้

ทุกคน ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน ร่วมมือกัน ต้องถือเป็นหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของรัฐบาลและ
กระทรวงสาธารณสุขอย่างจริงจัง และต้องเริ่มปฏิบัติเสียแต่วันนี้ก่อนที่ประเทศไทยจะกู่ไม่กลับแบบอิตาลี
เราจะผ่านวิกฤติโควิด-19 นี้ไปด้วยกันอย่างมีชัยชนะ

#อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ
#โรคติดต่อจะไม่ติดต่อถ้าทุกคนไม่ใกล้ชิดกัน

     

Cr.   :  https://www.isranews.org/article/isranews-article/87300-doctercovid.html
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่