โหดจริงหรือโป๊ะแตก ไฮสปีดเชื่อมสนามบิน ไม่แม่น PPP เคยชินแค่สัมปทาน

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
คลิปรายการ “คนชนข่าว” ออกอากาศทาง TNN : ไขปม สัญญารถไฟความเร็วสูง "ความรับผิดชอบภาครัฐ ต้องชัดเจน"

เมื่อวานได้ฟังข้อมูลจากฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายการเมืองพูดเรื่องโครงการรถไฟความเร็สูงเชื่อม 3 สนามบิน วันนี้มาฟังข้อมูลจากฝ่ายเอกชนกันบ้าง เมื่อเช้าได้ดูคลิปข่าว ที่เชิญตัวแทนฝั่งเอกชนผู้ชนะประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โดย ม.ล.สุภสิทธิ์ ชุมพล ที่ปรึกษากลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร มานั่งคุย พร้อมกับมีการโทรศัพท์สัมภาษณ์ คุณประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เรื่องความแตกต่างระหว่าง PPP กับ สัมปทาน 

ทำให้ได้ข้อมูลอีกด้านจากที่ฟากฝั่งรัฐบาลโดยคุณอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลโครงการนี้ให้สัมภาษณ์หลายประเด็น ที่อาจจะกลับมาบีบคอตัวเอง
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

ส่งมอบพื้นที่ล่าช้า ความเสียหายเกิดขึ้น “ใครทำ คนนั้นกล้ารับผิดชอบ” ? 


คุณอนุทิน (เจ้าของชิโนไทย ที่คุ้นชินกับการรับสัมปทานโครงการของรัฐมาหลายสิบปี) บอกให้โครงการนี้ ก่อสร้างไปส่งมอบพื้นที่ควบคู่กันไปก็ได้ แต่ดูเหมือนรัฐกับเอกชนจะมองกันคนละองศาในมิติที่ต่างกัน รัฐมองว่าการส่งมอบพื้นที่แค่ 80% ก็ได้แล้ว ที่เหลืออีก 20% ค่อยทยอยส่งมอบกันทีหลัง
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้



แต่ฝั่งเอกชนมองว่ารัฐควรส่งมอบให้ครบทั้งหมด 100% ตั้งแต่แรก เพราะถ้าส่งมอบไม่ทัน โครงการก็ไม่มีวันเสร็จ รถไฟวิ่งไม่ได้ ที่สำคัญโครงการนี้เป็นโครงการสเกลใหญ่มาก และเป็นระบบ PPP ซึ่งเอกชนต้องไประดมทุนจากผู้ลงทุนและสถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศ จึงมีดอกเบี้ยที่ต้องชำระนับตั้งแต่วันแรกของการกู้ยืม หากรัฐไม่ชัดเจนในเรื่องการส่งมอบพื้นที่ก็จะกลายเป็นความเสี่ยงทางด้านการเงินของเอกชน หากส่งมอบพื้นที่ไม่ได้ครบ โครงการก็เสร็จตามกำหนดเวลาไม่ได้ เอกชนจะต้องถูกปรับและจ่ายดอกเบี้ยเป็นรายวันเพิ่มขึ้นจนกว่าโครงการจะสร้างเสร็จ 

ซึ่งเมื่อโครงการล่าช้าออกไป ยังหมายความอีกว่า เอกชนจะได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐช้าออกไปด้วย ซึ่งตามเงื่อนไขรัฐจะเริ่มจ่ายเงินลงทุนในปีที่ 6-15 หลังโครงการสร้างเสร็จ ในช่วงอย่างน้อย 5 ปีแรก รัฐยังไม่ร่วมแชร์ความเสี่ยงอะไรเลย เอกชนต้องแบกรับภาระเองไปเต็ม ๆ ทั้งหมด ถ้าสร้างไม่เสร็จ รัฐก็ไม่เริ่มจ่าย ยิ่งเลื่อนการสร้างออกไป เอกชนก็ได้เงินคืนจากรัฐช้าออกไป แต่ต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเป็นรายวัน  

แล้วที่คุณอนุทินบอกว่า ถ้าส่งมอบพื้นที่ล่าช้าแล้วเกิดความเสียหายจนถึงขั้นถูกปรับ หากเป็นความผิดของรัฐ รัฐก็พร้อมดูแลนั้น คุณอนุทินแน่ใจแค่ไหนว่าจะทำตามที่คุณศักดิ์สยามลั่นวาจาไว้เมื่อวานนี้ว่า “ใครทำก็ต้องรับผิดชอบ”

ยังมีความเสี่ยงในอีก 45 ปีที่เหลือสำหรับการเดินรถว่าจะมีผู้โดยสารตามที่คาดการณ์หรือไม่ เพราะรัฐไม่ค้ำประกันผู้โดยสาร เอกชนก็ต้องลุ้นเองอีก (โครงการ PPP ในต่างประเทศ รัฐจะค้ำประกันผู้โดยสาร ประเทศไทยรัฐไม่ช่วยค้ำประกัน จึงมีผลกระทบอย่างมากในเรื่องของการกู้เงินจากสถาบันการเงินมาลงทุน)

อย่างไรก็ตาม ประเด็นการส่งมอบพื้นที่ล่าช้า ไม่ครบ 100% จะกระทบต่อความสำเร็จของโครงการไฮสปีดเอง และการดำเนินงานในโครงการอื่น ๆ ของอีอีซี เช่น สนามบินอู่ตะเภา เพราะสองโครงการนี้ต้องเชื่อมกัน (แอบคิดว่าใครจะรับผิดชอบ) 



ขึ้นบัญชีดำ เร่งให้เซ็นสัญญา กระทบความเชื่อมั่นนักลงทุน ?

ที่คุณอนุทินบอกถ้าซีพีไม่ยอมมาเซ็นสัญญาจะขึ้นบัญชีดำ ทางฝ่ายซีพีสวนว่า ประเด็นนี้ต้องมาจากการที่ได้ตกลงร่วมกันแล้วว่าจะเซ็นสัญญา แต่กรณีนี้ยังเจรจากันไม่จบ ยังไม่มีข้อตกลงกัน ก็ไม่น่าจะขึ้น blacklist ได้ 

ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งคือถ้า blacklist ได้จริง consortium ก็ต้องโดยด้วย ซึ่งนั่นหมายถึง JBIC, CITIC, SF (รถไฟอิตาลี) ที่ผ่านงานใหญ่ ๆ ในระดับโลกมาทั้งนั้น ผ่านการลงทุนในรูปแบบ PPP มาหลายประเทศ แล้วที่คุณอนุทินบอกว่า โครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ มีผลต่อความเชื่อมั่นกับนักลงทุน แล้วถ้ารัฐทำแบบนี้ นักลงทุนที่ไหนจะกล้ามาลงทุนด้วยอีกกับโครงการใหญ่ ๆ ในอนาคต

อย่าสับสนระหว่าง PPP กับ สัมปทาน คนละเรื่องกัน 

กรณีที่รัฐบอกว่า ถ้าเรียกกลุ่ม BSR มาเจรจา ทางกลุ่มซีพีต้องจ่ายค่าส่วนต่างจากการวงเงินอุดหนุน ตามระเบียบพัสดุการจัดซื้อจัดจ้างนั้น คุณประภาศ คงเอียด ผอ.สคร. บอกว่า ตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ไม่ต้องอิงกับระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง ต่างกับระบบการสัมปทาน ซึ่งความแตกต่างระหว่าง PPP กับ สัมปทาน คือ สัมปทานเป็นการที่รัฐให้เอกชนเข้ามาดำเนินโครงการ โดยที่รัฐไม่ได้เข้าไปยุ่งหรือมีส่วนในกิจการนั้น ๆ เช่น รัฐให้สัมปทานเหมือนแร่แก่เอกชน รัฐก็ไม่ต้องลงทุนหรือทำอะไรเลย แต่ได้รับค่าสัมปทานตามระยะเวลาที่กำหนด

ส่วน PPP เป็นโครงการที่รัฐร่วมลงทุนกับภาคเอกชน ซึ่งอยู่ภายใต้ พ.ร.บ. การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ที่กำหนดไว้ว่าต้องเป็นร่วมลงทุนในกิจการที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ ซึ่งมี 12 เรื่องหลัก ๆ ได้แก่ 

1. ถนน ทางหลวง ทางพิเศษ การขนส่งทางถนน 
2. รถไฟ รถไฟฟ้า การขนส่งทางราง 
3. ท่าอากาศยาน การขนส่งทางอากาศ 
4. ท่าเรือ การขนส่งทางน้ำ 
5. การจัดการน้ำ การชลประทาน การประปา การบำบัดน้ำเสีย 
6. การพลังงาน 
7. การโทรคมนาคม การสื่อสาร 
8. โรงพยาบาล การสาธารณสุข 
9. โรงเรียน การศึกษา 
10. ที่อยู่อาศัยหรือสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้มีรายได้น้อยหรือปานกลาง ผู้สูงวัย ผู้ด้อยโอกาส หรือผู้พิการ 
11. ศูนย์นิทรรศการและศูนย์การประชุม 
12. กิจการอื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

โดย PPP นั้น รัฐกับเอกชนแบ่งหน้าที่กันทำ เช่น รัฐมีหน้าทีส่งมอบพื้นที่ เอกชนมีหน้าที่ทำตามหน้าที่ที่ถูกกำหนดไว้ในทีโออาร์ ซึ่งรัฐร่วมทุนก็จะมีส่วนที่ต้องลงทุนและส่วนแบ่งรายได้หรือผลประโยชน์จากการดำเนินกิจการ ซึ่งตามพ.ร.บ.นี้จะไม่ต้องอิงกับระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง 



รับฟังปัญหาแล้วเหนื่อย บานปลาย พอกหางมาเรื่อย ๆ แอบคิดว่า นี่ถ้าเป็นฝั่งชิโนไทยของท่านรองนายกฯ อนุทิน ได้รับงานนี้ไปทำ เชื่อว่าก็คงปวดขมับหนักเช่นกัน หากท่านรองฯ กับท่านรมว.ไม่แอบใช้กำลังภายในเพิ่มพลังให้ โดยต้องเดินตามแนวนี้เพื่อให้งานเสร็จ...หรืออาจจะเป็นได้ว่า พอเห็นปัญหาว่าใครทำก็ต้องเจอกระดูกชิ้นโต ก็เลยรีบโยนเผือกร้อนให้เจ้าอื่นรับ ๆ ไปทำเร็ว ๆ …งานนี้เลยไม่รู้ว่า “โหด” หรือ “โป๊ะ” กันแน่! 

แต่ที่แน่กว่าคือทางซีพีทิ้งท้ายไว้ว่ามีความตั้งใจจะทำโครงการนี้ให้สำเร็จ เพราะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ตั้งใจจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด และหวังว่าฝ่ายรัฐก็จะทำหน้าที่ให้ครบถ้วนด้วยเช่นกัน
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่